The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   จันทร์เสี้ยว มิใช่สัญลักษณ์อิสลาม

จันทร์เสี้ยว มิใช่สัญลักษณ์อิสลาม

By:จักรกฤษ เพิ่มพูน

            สำนักข่าวอะลามี่ : มองขึ้นไปบนท้องฟ้านาทีนี้ จะเห็นจันทร์เสี้ยวหนึ่งแขวนไว้บนท้องฟ้า หลายคนเข้าใจว่า จันทร์เสี้ยว เป็นสัญลักษณ์ของอิสลาม ซึ่งไม่ใช่ อิสลามไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ

           หากขับรถผ่านไปทางถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงรอยต่อถนนพระรามเก้า จะมองเห็นร้านอาหารชื่อครัวจันทร์เสี้ยว ซึ่งขายอาหารทุกประเภททั้งไทย จีน และมุสลิม ตรงข้ามครัวจันทร์เสี้ยว เป็นมัสยิดสีขาวโอ่อ่า ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างมานานปี บนโดมอันเป็นสถาปัตยกรรมแบบอาหรับนั้น มีพระจันทร์เสี้ยวประดับอยู่ ดุจเดียวกับพระจันทร์เสี้ยวบนยอดโดมของมัสยิดทุกแห่งในประเทศไทย

           ไฉนจันทร์เสี้ยว จึงเกี่ยวพันกับมุสลิมและอิสลาม ?...

           แท้จริงพระจันทร์เสี้ยว หาใช่สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามไม่ หากแต่ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงความเป็นมุสลิม

           ไม่เพียงพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวเท่านั้น หากแต่ดาวเดือน ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นมุสลิมด้วย

            เครื่องหมายดาวเดือน เริ่มปรากฎขึ้นในสมัยราชวงศ์อุสมานียะฮ์ หรือ อาณาจักรออตโตมานแห่งตุรกี นัยเดียวกับการสร้างพระพุทธรูป ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

             ออดโตมาน สร้างดาวเดือนขึ้นเพื่อประดับธงทิว กองทัพมุสลิมในสงครามครูเสด

            การเลือกใช้ดาวเดือน ก็ด้วยเหตุสองประการ

            ประการหนึ่ง การเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จะเริ่มต้นด้วยการดูเดือน ซึ่งเป็นหลักปฎิบัติเฉพาะในศาสนาอิสลาม

           ประการหนึ่ง เมื่อนำดาวมาติดที่เดือน จะมองเห็นเป็นรูป "ตัวนูน" อันเป็นพยัญชนะหนึ่งในภาษาอารบิค อันเป็นอักษรแรก ของโองการ หรือวรรคหนึ่ง จากคัมภีร์อัล-กุรอาน

          " ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ชัยชนะก็เป็นสิ่งใกล้" (อัล-กุรอาน บทที่ 61 วรรค 13)

             คำว่าด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ พยัญชนะตัวแรก ที่ใช้ถ้าเขียนเป็นภาษาอารบิค คือ "ตัวนูน"

             ฉะนั้น เครื่องหมายดาวเดือน จึงมีค่าเสมอเพียงการบอกความเป็นมุสลิม หาใช่สัญลักษณ์หรือตัวแทนพระเจ้า หรือศาสดา ที่มีไว้เพื่อเคารพบูชาไม่

            การสร้างพระพุทธรูปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จนกระทั่งพัฒนาการเป็นวัตถุมงคลรูปแบบต่างๆในวันนี้ ก็มีนัยสำคัญไม่แตกต่างกัน

 

ที่มา: http://www.facebook.com/#!/chakkrish