The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   'ชวลิต'ออกเอกสาร 13 หน้าวิพากษ์เดือด!ปมแก้ รธน.

  'ชวลิต'ออกเอกสาร 13 หน้าวิพากษ์เดือด!ปมแก้ รธน.    

           สำนักข่าวอะลามี่ : พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ์ ออกแถลงการณ์13 หน้าว่าด้วย ' ปัญหารัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรการแก้ไข'อ้างผู้ร้องผิด เหตุไทยยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตย

            นายอนุสรณ์ สมอ่อน รองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ได้ส่งเอกสารมายังสื่อมวลชน ระบุเป็นคำแถลงของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ว่าด้วยเรื่อง ปัญหารัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรการแก้ไข จำนวน 13 หน้าก่อนทื่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยเนิ้อหาร่ายยาวตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 2475ซึ่งเห็นว่า 80 ปีผ่านไปประเทศยังไม่ได้ปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นผู้ร้องที่ระบุว่ามีการ"ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย"จึงร้องผิด ดังนั้นศาลควรพิสูจน์ก่อนว่าประเทศไทย มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มาแล้ว

+++++++++++


คำปรารภ

            เมื่อเริ่มความขัดแย้งในสังคมไทยเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 มีเพื่อนคนหนึ่งกระซิบผมว่า คำตอบสุดท้ายในปัญหานี้คือตัวเลขมหัศจรรย์ 3 ตัวอันได้แก่ 68 77 7 ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว ผมเห็นใจบรรดาท่านที่ทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้มาก ไม่ว่าท่านที่เคารพทั้งหลายจะตัดสินใจอย่างไร คงจะไม่ทำให้ฝ่ายใดชนะหรือได้เปรียบ จะมีแต่ผู้แพ้และประเทศก็จะแพ้และสูญเสียอย่างยิ่ง ความขัดแย้งคงจะปะทุขึ้นอีกเมือนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลูกหลานในยุคนี้ ไม่เคยได้สัมผัสและทราบถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน วันนั้นเราต้องชดใช้ผลอันเกิดขึ้นด้วยชีวิตพี่น้องเราเป็นเรือนหมื่นเรื่อนแสน ทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไปมหาศาล น้ำตาคนไทยต้องไหลรินนองแผ่นดิน เราทุกคนยังจำเหตุการณ์วันนั้นกันอย่างไม่รู้ลืม อีกทั้ง ผมก็เห็นใจอย่างยิ่งต่อฝ่ายรัฐสภาและรัฐบาลรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่ต้องมาตกอยู่ในความขัดแย้งกันเองภายในชาติ ซึ่งผมทราบดีว่า โดยเจตนารมณ์ที่แท้จริงของท่านทั้งหลายแล้วไม่ได้มีความต้องการแม้แต่นิดเดียว

            วันนี้เหตุการณ์ทั่วไปของประเทศเราไม่เหมือนวันนั้นปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง เปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมซึ่งเราปรารถนาจะเดินตามประเทศที่ยิ่งใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ ลักษณะนี้มาแล้ว แต่วันนี้เขากำลังล่มจม มีปัญหา อะไรกำลังเกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมในโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบและเสียหายซึ่งเราต้องเตรียมการตั้งรับและแก้ไขกัน ในขณะเดียวกัน สภาพจิตใจของลูกหลาน เยาวชนของเรากำลังเปลี่ยนแปลง คนในเยนเนเรชั่นวายในปัจจุบัน คิดและทำไม่เหมือนเราแล้ว ทุกสิ่งในโลก ทุกสิ่งในภูมิภาค ทุกสิ่งในประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงต้องการการวางแผนเตรียมการรับสถานการณ์อนาคตในขณะที่รากหญ้าหรือฐานรากของสังคมไทย ยังอยู่ในสภาพอ่อนแอที่สุด พายุกำลังพัดประเทศ รากฐานของบ้านเมืองต้องเข้มแข็งและมั่นคง พี่น้องที่เคารพเรามีความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาบ้านเมือง และมิเพียงเท่านั้น เรายังจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกียรติภูมิของชาติไทยเรากลับคืนมาเหมือนในอดีตให้ได้ อีกด้วย

           เอกสารฉบันนี้มุ่งหวังชี้ให้ท่านที่เคารพเห็นว่าเราจะต่อสู้กันไปเพื่ออะไรในเมื่อสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นผลมาจากชัยชนะในครั้งนี้เลย เป็นการต่อสู้ที่ผิดวัตถุประสงค์เป้าหมาย เป็นการต่อสู้ที่ไร้เหตุผล เป็นการต่อสู้ที่ผิดพลาดซ้ำซากมาตลอด 80 ปีในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา ผมขออภัยด้วยถ้ามีผู้เห็นต่าง แต่กรุณาเถิดพี่น้องที่เคารพกรุณาช่วยกันสร้างสันติ ความสงบสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเราด้วยเถิด

ขอขอบพระคุณ
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

++++++++++++++++++
ปัญหารัฐธรรมนูญ ม.68 และมาตรการแก้ไข
โดย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ

            คณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กำลังสร้างประชาธิปไตยอย่างสันติ ที่เรียกทางวิชาการว่า การปฏิวัติสันติ Peaceful Revolution ลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วคณะราษฎรได้สร้างการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Regime) ขึ้นในประเทศไทย ต่อจากนั้นมาระบอบรัฐธรรมนูญค่อยก่อรูปขึ้นเป็นลัทธิ (Doctrine) ที่ประกอบด้วยความเห็น (ทฤษฎี) ต่าง เช่น
เห็นว่า รัฐธรรมนูญจะทำให้ชาติเจริญ
เห็นว่า รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย
เห็นว่า รัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย ฯลฯ

            เกิดเป็นปรากฏการณ์รัฐธรรมนูญเปลี่ยนจากกฎหมายมาเป็นลัทธิการเมือง

              เมื่อเกิดความเห็นผิดว่า รัฐธรรมนูญจะทำให้ชาติเจริญ รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย จึงคิดสร้างรัฐธรรมนูญกันเป็นการใหญ่ เพราะคิดว่าเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่จำทำให้ชาติเจริญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่ประชาธิปไตย จึงได้แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประชาธิปไตย อันเป็นต้นเหตุของการแก้ไขหรือการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ประชาธิปไตยได้แต่รัฐธรรมนูญทุกครั้งไป จึงเกิดปรากฏการณ์ร่ำรวยรัฐธรรมนูญ แต่ยากจนประชาธิปไตยในที่สุด คือมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ

              ด้วยความเห็นผิดดังกล่าวคณะผู้ปกครองคณะต่าง ๆ ก็คิดโทษคณะก่อนว่าสร้างประชาธิปไตยไม่สำเร็จ จึงคิดและลงมือสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยด้วยการแก้ไขหรือฉีกรัฐธรรมนูญกันตลอดมา จึงเกิดปรากฏการณ์รัฐธรรมนูญซ้ำซาก ไม่รู้จบ ทั้งรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกและรัฐบาลก็พังไปทุกคณะ เกิดวิกฤติ เกิดความขัดแย้งแตกแยกจลาจลนองเลือดมิคสัญญีกลียุคตลอดมา

              ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ปัญหารัฐธรรมนูญ ม.68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติในวาระที่ 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 และกำลังดำเนินการเพื่อนำไปสู่คำตัดสินวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

              โดยแท้จริงแล้วยังไม่มีระบอบประชาธิปไตย จะมีการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ดังเช่นพี่น้องเสื้อแดงเขียนป้ายที่เวที ณ อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิถุนายน 2555 นี้ว่า 80 ปียังไม่มีประชาธิปไตย และพี่น้องเสื้อเหลืองรณรงค์กัน ยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา

              ดังนั้นข้อหาตาม ม.68 คือ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐจะมีได้อย่างไร และ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร เพราะไม่มีระบอบประชาธิปไตยให้ล้มล้าง

              ฉะนั้นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงร้องผิด และศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินไม่ได้ หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินก็จะต้องมาทำการพิสูจน์ทราบเสียก่อนว่าการปกครองของประเทศขณะนี้เป็นการปกครองระบอบอะไร เป็นการปกครองระบอบเผด็จการระบบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตยกันแน่

             กระบวนการพิสูจน์ทราบว่าระบอบปัจจุบันคือระบอบอะไร ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการพิสูจน์ทราบอย่างไร มีระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ความถูกต้องไม่ผิดพลาด อันจะเกิดความเสื่อมเสียแก่ศาลรัฐธรรมนูญเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอันเป็นส่วนรวม

            จะทำการพิสูจน์ทราบอย่างไรว่า การปกครองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกับการปกครองจริงในประเทศเป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละระบอบกัน

            โดยความเป็นจริงแล้วการปกครองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกับการปกครองจริงในประเทศ หรือการปกครองในแผ่นกระดาษกับการปกครองในแผ่นดินเป็นคนละสิ่งกันอย่างสิ้นเชิงคือ

            การปกครองในรัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย

            การปกครองในประเทศคือระบอบเผด็จการรัฐสภา

           ด้วยเหตุผลทางหลักการอันเป็นวิชาการและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังนี้

           1. มีปัญหาความยากจน (Poverty) อันเป็นสภาวการณ์ของประเทศเผด็จการ
           2. มีปัญหาการรัฐประหาร (ยึดอำนาจ) เงื่อนไขของรัฐประหารคือระบอบเผด็จการ
           3. มีวิกฤติอย่างทั่วด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
          4. มีปัญหาการคอรัปชั่นที่เกิดจากระบอบไม่ใช่เกิดจากคน
          5. มีความเป็นประเทศด้อยพัฒนา (Under Developed Country)
          6. มีนักโทษการเมือง
          7. มีรัฐสภาที่ประกอบด้วยผู้แทนที่มีลักษณะความเป็นผู้แทนของคนส่วนน้อย ไม่มีลักษณะของผู้แทนของปวงชนทุกคน เช่น ไม่มีผู้แทนสาขาอาชีพ (Walk of Life)
          8. มีนโยบายสะท้อนผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยคือรักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้ ไม่มีนโยบายที่สะท้อนผลประโยชน์ของปวงชนคนทั้งหมด คือการสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
           9. ไม่มีรัฐธรรมนูญที่สะท้อนระบอบประชาธิปไตย เพราะยังไม่มีการสร้างระบอบประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จขึ้นในการปกครองของประเทศไทยจริง การร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดหลักวิชา คือ ร่างรัฐธรรมนูญแบบคิดเอาเองฝันเอาเอง ไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นจริงเป็นต้นแบบให้รัฐธรรมนูญได้สะท้อนภาพแต่อย่างใดทั้งสิ้น
          10. มีม็อบ (Mob) เพราะม็อบคือปรากฏการณ์ของระบอบเผด็จการ เหมือนกับควันเป็นปรากฏการณ์ของไฟ ไม่มีมวลชน (Mass) อันเป็นปรากฏการณ์ของระบอบประชาธิปไตย
           11. มีการเลือกตั้งแบบเผด็จการที่ตัดสิทธิทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและทั้งผู้เลือกหย่อนบัตรลงคะแนน โดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง คือไม่มีเลือกตั้งเสรี (Free Vote) มีการเลือกตั้งด้วยวิธีเผด็จการได้ผู้แทนคนส่วนน้อย ไม่มีการเลือกตั้งด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ผู้แทนของปวงชน
            12. ยังมีกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (Rule of Law)
            13. มีการปกครอง มีนโยบาย มีกฎหมายที่ขัดต่อหลักการปกครองของการปกครองแบบประชาธิปไตย 5 ข้อ คือ
                      หลักที่ 1 คืออำนาจอธิปไตยของปวงชน
                      หลักที่ 2 คือเสรีภาพของบุคคลบริบูรณ์
                      หลักที่ 3 คือความเสมอภาค
                     หลักที่ 4 คือหลักนิติธรรม
                     หลักที่ 5 คือการปกครองจากการเลือกตั้ง
            14. มีการรวมศูนย์ทุนทางเศรษฐกิจ ไม่มีการกระจายทุนอันเป็นการขยายกรรมสิทธิ์เอกชนออกไปอย่างกว้างขวาง เช่น การปฏิรูปที่ดินแบบประชาธิปไตยที่เป็นการกระจายทุนทางที่ดิน ทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ เป็นต้น
             15. มีการปล่อยให้วัฒนธรรมต่ำทรามจากต่างชาติไหลบ่าเข้ามามอมเมาประชาชนโดยไม่มีการกลั่นกรองเลือกเอาแต่เฉพาะวัฒนธรรมที่ดีและเหมาะสม สร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยที่ดีงามตามยุคสมัยส่งเสริมความเป็นไทย (Thainess)

              ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะยืนยันและตัดสินพิพากษาได้อย่างไรว่า ระบอบปัจจุบันของประเทศที่เป็นจริงในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่จะพิจารณาวินิจฉัยตัดสินว่าระบอบใดเป็นระบอบอะไร จึงจะไปสู่ปัญหาต่อมาคือ ปัญหาทำลายล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ

              ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยืนยันตัดสินผิดพลาดจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสูญเสียความเป็นสถาบัน (Institute) กลายเป็นการรักษาความเห็นผิดมิจฉาทิฏฐิ และ รักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้ต่อไปอย่างไม่มีเจตนาเพราะเข้าใจผิดว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภาคือระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างไม่มีเจตนา ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีเจตนาดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเมื่อตัดสินพิพากษาเรื่องใด ๆ ย่อมจะมีผลผูกพันต่อองค์กรอำนาจอธิปไตยทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ถ้าตัดสินถูกต้องจะส่งผลให้เกิดความดีงามต่อชาติและประชาชนอย่างยิ่ง

              แต่ถ้าตัดสินผิดพลาดก็จะส่งผลในทางเลวร้ายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบใช้อำนาจหรือปกครองหรือปฏิบัติหรือตัดสินตามรัฐธรรมนูญ คือมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ คือศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตัดสินให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จะไปตัดสินแบบเผด็จการตามระบอบเผด็จการไม่ได้อย่างเด็ดขาด การตัดสินผิดคือเผด็จการ การตัดสินถูกคือประชาธิปไตย

                การก่อกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญของไทยชุดนี้เป็นการก่อกำเนิดมาจากวิธีการเผด็จการ คือการรัฐประหาร โดยคณะ คมช. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การรัฐประหารเกิดจากระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยคณะ คมช. ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยคือยกเลิกระบอบเผด็จการรัฐสภา สร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างใด มีเพียงการสร้างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เท่านั้น

                ดังนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงเป็นรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐสภาที่เกิดจากระบอบเผด็จการรัฐประหาร แม้จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (แห่งรัฐ) แต่ในความเป็นจริง (Fact) มีแต่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศที่มีอยู่จริง (Existence) แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่มีอยู่จริงในการปกครองของประเทศ มีอยู่แต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนที่มีอยู่จริงคือการปกครองระบอบเผด็จการรัฐสภาที่หลอกลวงประชาชนว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ดังคำกล่าวสรุปว่า ประชาธิปไตยในแผ่นกระดาษ แต่เผด็จการรัฐสภาในแผ่นดิน เกิดความขัดแย้งกันระหว่างรัฐธรรมนูญกับประเทศ แผ่นกระดาษย่อมสู้แผ่นดินไม่ได้ ในที่สุดแผ่นกระดาษก็ถูกฉีกถูกลบล้างถูกแก้ไขไป

              เมื่อรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อันเป็นบ่อเกิดของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ เป็นรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐสภาที่เกิดจากระบอบเผด็จการรัฐประหารที่ขัดแย้งกับการปกครองจริงของประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหาต่อทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งตรงข้ามกับการก่อกำเนิดของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญศาลแรกในโลกของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เขาสร้างประชาธิปไตยก่อนเสร็จแล้วจึงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสะท้อนภาพการสร้างประชาธิปไตยอยู่ใน The Federalist Paper จำนวน 84 ฉบับ ซึ่งใช้เวลาสร้างประชาธิปไตยเป็นเวลา 15 ปี (ค.ศ. 1775 – 1787) และได้ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเรียกว่า ศาลสูงสุด (The Supreme Court) เมื่อ ค.ศ. 1787 อีก 2 ปีต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติรองรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและศาลสหรัฐ เรียกกันว่า The Judiciary Act, 1789 จึงได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่บัดนั้นมา (ค.ศ. 1789)

               แต่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่มีพระราชบัญญัติรองรับแต่อย่างใดตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญจนถึงบัดนี้ (พ.ศ. 2550 – 2555) แม้ว่าในมาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 จะกำหนดบังคับไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ก็ต้องสิ้นผลบังคับไป (Non - Operative Clause) ตามหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ย่อมให้ผลบังคับทันที เพราะเป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับก่อนทางกฎหมายของบทบัญญัติมาตรา 3 ที่เป็นหลักการใหญ่ของการแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เป็นข้อห้ามขาดและให้ผลบังคับตามมาตรา 6 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือ ข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ย่อส่งผลไปบังคับทันทีแก่มาตรา 300 วรรคที่ 5 ดังกล่าวข้างต้น

              อีกทั้งไม่มีกฎหมายลูก (พระราชบัญญัติ) ที่ออกมารองรับให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะใช้อำนาจให้กระทำการเช่นนั้นได้ตามหลักการและวิถีปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักสากล (The Universal Rules) การออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 300 วรรคที่ 5 ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาดเพราะขัดต่อหลักสากลที่เขาใช้กันโดยแพร่หลาย (The Prevailing Rules) ในศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก

               ด้วยเพราะอยู่ภายในเงื่อนไขของระบอบเผด็จการรัฐสภาอันจำกัดและเป็นอุปสรรคขวางกั้น จึงทำให้การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มาจากธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 เกิดลักษณะเผด็จการไม่เป็นไปตามลักษณะของประชาธิปไตยดังกล่าว นั่นคือตามมาตรา 300 และไม่สามารถออก พ.ร.บ. รองรับได้ อีกทั้งการฟ้องคดีหรือการนำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไทยครั้งนี้นั้นยังไม่มีความเป็นคดีและข้อพิพาทในทางคดี (Case & Controversy) ที่จะก่อให้เกิดอำนาจในการนำคดีดังกล่าวไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีการฟ้องคดีหรือนำเสนอการร้องขอปลดเปลื้องทุกข์ที่ไม่อาจใช้วิธีอื่นใดได้ต้องนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น เมื่อไม่เป็นไปตามหลักการและวิธีปฏิบัติทางสากล การจะบังคับตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 261 วรรคที่ 5 ย่อมไร้ผลอยู่ในตัว นั่นคือไม่มีผลผูกพันรัฐสภา รัฐบาล และศาล และองค์กรอื่น ๆ ของรัฐแต่อย่างใดทั้งสิ้น

                ดังนั้น ถ้าพิจารณาด้านเจตนารมณ์แล้วถือว่าทั้งผู้ร้องและศาลรัฐธรรมนูญก็มีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง คือต้องการรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐไว้ให้มีความมั่นคงยั่งยืนตลอดไป แต่มีความเห็นผิดว่าระบอบปัจจุบันคือระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตราที่ 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (แห่งรัฐ) ถ้าผู้ร้องและศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นถูกว่าระบอบปัจจุบันเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ก็จะถูกต้องทั้ง 2 ด้านของเหรียญ คือด้านเจตนารมณ์กับด้านความเห็น ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาชาติและประชาชนสำเร็จเสร็จสมบูรณ์อย่างแน่นอนด้วยการสร้างประชาธิปไตย ไม่เดินตามแนวทางลัทธิรัฐธรรมนูญอีกต่อไป


                 ส่วนด้านรัฐบาลและผู้ร่วมขบวนการที่ต้องการจะพัฒนาประชาธิปไตย (ปฏิรูป) ต้องการให้มีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ย่อมเป็นเจตนารมณ์ที่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน แต่มีความเห็นผิดว่าระบอบปัจจุบันคือระบอบประชาธิปไตย จะต้องพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ แต่เข้าใจผิดว่าจะต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ด้วยการแก้ไขหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้ามีความเห็นถูกว่าระบอบปัจจุบันคือระบอบเผด็จการรัฐสภา และจะต้องสร้างประชาธิปไตยด้วยนโยบายเป็นเครื่องมือ ตามแบบอย่างพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยของ ร.5 ร.6 ร.7 และ นโยบาย 66/23 หรือนโยบายสร้างประชาธิปไตยอันเป็นไปตามดุสิตโพล์ที่ประชาชน ให้ถอยการสร้างรัฐธรรมนูญ แต่ให้เดินหน้าสร้างประชาธิปไตย

                โดยชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน 45.23 % และถ้ารัฐบาลถอยทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ปรองดอง ประชาชน 50.32 % เชื่อว่ารัฐบาลอยู่ครบวาระ อันเป็นภาพสะท้อนของประชามติแบบประชาธิปไตย คือให้สร้างประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จจึงค่อยร่างรัฐธรรมนูญ และออก พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งเป็นประชามติที่ถูกต้องอย่างที่สุดตามหลักวิชา โดยเชื่อมั่นว่าฝ่ายที่คิดด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดองจะเ เห็นด้วยและร่วมสนับสนุนอย่างแน่นอน ซึ่งไม่ใช่การเดินกันคนละทางหรือการพบกันครึ่งทาง แต่เป็นการเดินทางเส้นเดียวกัน คือทางสายประชาธิปไตยที่แท้จริงนั่นเอง นี่คือการสร้างความปรองดองที่ถูกต้องและจะบรรลุความสำเร็จได้จริง ไม่ใช่อุดมการณ์บนเส้นขนาน แต่เป็นอุดมการณ์บนเส้นทางเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย 66/23 ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนสูงสุดเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด หรือเริ่มต้นกันใหม่หมดตามครรลองประชาธิปไตยและวิถีทางรัฐธรรมนูญซึ่งมีอยู่หลายวิธี

                อนึ่ง รัฐสภาชุดนี้มีที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (1)(2) เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะ การเลือกตั้งที่มีผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยตรงในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐสภาชุดนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายใด ๆ และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แต่ออย่างใดทั้งสิ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์