สัมภาษณ์พิเศษ: นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น ประชมรมต้มยำกุ้งมาเลเซีย
สำนักข่าวอะลามี่ : ประธานชมรมต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย โวยหลังการเมืองและสื่อในประเทศไทยนำเรื่องการเข้าพบกับ ศอ.บต.ไปขยายจนตกเป็นข่าวว่า เป็นแกนนำพูโล ขอความเห็นใจรัฐบาลไทยช่วยทำความเข้าใจ หวั่นทางการมาเลเซีย เล่นงาน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 9 เม.ย. นายวันซำซูดิน ดินวันฮูเซ็น ประธานชมรมต้มยำกุ้ง ในประเทศมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์หลังจากที่ นักการเมือง และสื่อ ในประเทศไทยหลายแขนง ได้ลงข่าวว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบปะกับแกนนำขบวนการพูโล ที่ประเทศมาเลเซีย และนำเอารูปและชื่อของตนไปเขียนว่าเป็น นายซำซูงดิง คาน ได้ทำให้มีผลกระทบกับตนเองและชาวมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ในชมรมต้มยำกุ้งอย่างมาก
เนื่องจากทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนเป็นแกนนำพูโล และชมรมต้มยำกุ้งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ถูก สันติบาล ในประเทศมาเลเซีย จับตา และติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะส่งผลให้รัฐบาลมาเลเซีย ไม่ไว้วางใจ และ ผลักดันให้คนจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้างในร้านต้มยำกุ้งออกจากประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และอาชีพของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
" ชมรมต้มยำกุ้ง เกิดขึ้นกว่า 20 ปี เป็นการรวมตัวของคนมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องการทำงาน ในเรื่องเงินทุน และ การอยู่อาศัยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งยอมรับว่ามีแรงงานในร้านต้มยำกุ้งส่วนหนึ่ง ไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน เป็นแรงงานเถื่อน ที่ถือหนังสือเข้าประเทศในรูปแบบทัวร์ริส และ ในรูปแบบ บอเดอร์พาส คือไปเยี่ยมญาติ ต้องมีการจ๊อบหนังสือเดินทางเข้า-ออก ทุกเดือน การก่อตั้งเป็นชมรม จึงเป็นการช่วยเหลือแรงงานใน 5 จังหวัด ให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่มีเรื่องของการก่อการร้ายอย่างที่เป็นข่าว"นายวันซำซูดิน กล่าวและว่า
ปัจจุบันเฉพาะในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย เพียงแห่งเดียว มีร้านต้มยำกุ้งของคนไทยจำนวน 5,000 กว่าร้าน ซึ่งแต่ละร้านมีแรงงานหรือ ลูกจ้าง ที่เป็นคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานอยู่ 20-30 คน เฉพาะที่นี่ทีเดียวมาแรงงานไทยกว่า 100,000 คน ถ้ารวมร้านต้มยำกุ้ง และแรงงานไทยทั้ง 13 รัฐ มีแรงงานจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำงานอยู่กว่า 200,000 คน มีรายได้คนละ 8,000-20.000 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินเหล่านี้ ส่วนหนึ่งส่งไปให้ครอบครัวที่อยู่ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้นหากประเทศมาเลเซีย ทำการเข้มงวด กวาดล้างแรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน และ หวาดระแวงว่าชมรมต้มยำกุ้งเป็นภัยและสร้างปัญหาระหว่างประเทศจะมีผลกระทบกับแรงงานไทยในทันที
" ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐไทย ไม่เคยให้ความสำคัญกับแรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้ง ทั้งที่แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับประเทศปีละหลายร้อยล้านบาท ยกเว้นก่อนจะมีการเลือกตั้ง ก็จะมี ผู้สมัครและพรรคการเมือง เข้าไปพบปะ และกล่าวว่าจะมีนโยบายในการแก้ปัญหาแรงงาน แต่ขอให้กลับมาลงคะแนนเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งเสร็จ ก็ไม่มีการทำตามคำพูด" นายวันซำซูดิน กล่าว
ดังนั้นเมื่อมีการประสานงานจาก เจ้าหน้าที่รัฐว่า ศอ.บต. มีนโยบายในการช่วยเหลือ แรงงานไทยที่อยู่ในชมรมฯ ทั้งในเรื่องทำให้แรงงานเป็นแรงงานที่ถูกต้อง และหาเงินกู้ในการลงทุน ตนเองจึงยินดีที่จะมาพบกับคณะของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ทั้งที่ กรรมการในชมรมรุ่นเก่าๆได้เตือนว่า อย่ายุ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมีแต่จะเดือดร้อน แต่ตนเองเห็นว่า ศอ.บต.มีเจตนาดี จึงยอมมาพูดคุยด้วย แต่สุดท้าย ตนเองและชมรมต้มยำกุ้ง ต้องกลายเป็น”แพะ”
นายวันซำซูดิน กล่าวอีกว่า แต่เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้น ในชมรมทุกคนก็กล่าวหาว่า ตนเองเป็นคนผิด ที่เตือนแล้วไม่เชื่อ ซึ่งขณะนี้ตนเดือดร้อนมาก จึงอยากให้ทุกฝ่าย เข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ตนชื่อ วันชำซูดิง ดินวันฮูเซ็น คน จ.ยะลา เดินทางมาประกอบอาชีพร้านต้มยำกุ้ง 25 ปีแล้ว และยืนยันว่าเป็นคนละคนกับ ซำซูงดิง คาน อีกทั้งยืนยันว่า ชมรมต้มยำกุ้ง ไม่ใช่เป็นชมรมของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่เป็นชมรมที่คนไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือ มุสลิม ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกัน จึงต้องการให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานของรัฐบาลไทย ทำความเข้าใจกับประเทศมาเลเซียในเรื่องที่เกิดขึ้น อย่าให้ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ต้องทำให้ คนกว่า 200,000 คน ในประเทศมาเลเซียต้องได้รับเคราะห์ไปด้วย เพราะแรงงานเหล่านี้ ส่งเงินที่ได้จากประเทศมาเลเซีย ให้กับครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีละกว่า 300 ล้านบาท ถ้าพวกเขาเดือดร้อน ครอบครัวของเขาต้องเดือดร้อนด้วย
: ไชยยงค์ มณีพิลึก รายงาน