รอยแผล“เมษา”จาก“ดุซงญอ-กรือเซะ”
สำนักข่าวอะลามี่: ย้อนอดีตรอยแผลเดือนเมษายน นับตั้งแต่ปี 2491 ถึง 28 เมษา 2547 กรณี”กรือเซะ” อรุณรุ่งที่เต็มไปด้วยคาวเลือดในมัสยิดอันทรงคุณค่าทางใจ ไม่เพียงแต่มลายูเท่านั้น แต่ มัสยิดกรือเซะ ยังเปรียบเสมือนบ้านพระเจ้า สัญลักษณทางวัฒนธรรมมลายูปัตตานี
ปฎิบัติการ 28 เมษาฯอรุณรุ่งเมื่อปี 2547 จนถึงวันนี้กินเวลา 8 ปีเต็ม ที่กลุ่มกองกำลังเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ชายจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐเกิดจากอะไร และมีปัจจัยอะไร ทำให้กลุ่มขบวนการถึงเลือกใช้ห้วงเวลานี้
เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ..!!!
มีคำถามตามว่า ห้วงเวลาดังกล่าวมีนัยยะสำคัญอย่างไร ในการลงมือปฎิบัติการต่อสู้อำนาจรัฐ ทั้งๆที่ตัวเองมีเพียงมีดและดาบในมือเท่านั้น แต่ยังหาญสู้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าข้างหน้าคือความตาย
หากจะย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ในชายแดนใต้พบว่าในห้วงเดือนเมษายนในอดีตกาล มีปรากฎการณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมจากชาวมลายูมุสลิม ที่รัฐยื่นความอัปยศให้กับเขา
นับจากเหตุการณ์ 28 เมษายน 2491 ซึ่งน่าสนใจยิ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ”กบฎดุซงญอ”
ในขณะนั้น โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)ได้แผ่ขยายอิทธิพลมากและมีพฤติกรรมและการกระทำฮึกเหิมยิ่งนัก ทั้งเรียกค่าคุ้มครองเรียกค่าไถ่ ขโมยทรัพย์สินและยึดที่ทำกินของคนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก
ผู้ใดถูกสงสัยว่าเป็นสายให้กับทางการไทยและนำข้อมูลออกนอกพื้นที่จะต้องถูกฆ่าตาย การกระทำของ จคม. ที่มีต่อพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะกรณีของชาวบ้าน ดูซงญอ(ปัจจุบันดูซงญอ เป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส) ชาวบ้านดูซงญอ เรียกพวกนี้ว่า "จีนอมือลอ" การเข้ามาของ จคม.ในพื้นที่ทำความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านเป็นอันมาก
ชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งใคร หันไปทางซ้ายก็พบ จคม. หันไปทางขวาเจอคนของรัฐ ที่มีแต่ข่มขู่-เอารัดเอาเปรียบ คอรัปชั่น ไม่ยอมทำความเข้าใจ และพูดกันคนละภาษา แต่งตัวก็ไม่เหมือนกับคนไทยทั่วไป
ทางออกที่น้อยนิดของประชาชนคือ เดินหน้าเพื่อพึ่งตนเอง
ยุทธวิธีการต่อสู้ถูกกำหนดเพื่อเอาชนะ จีนอมือลอ ให้ได้ “ชาวดูซงญอ” ต้องขวนขวายหาความรู้เรื่องยุทธวิธีโบราณเช่นการอยู่ยงคงกระพันเช่น อาบน้ำมัน วิชาแคล้วลาด ความรู้ในเรื่องอำนาจเร้นลับ อาทิ การเสกเป่า คาถาให้ใบไม้กลายเป็นผึ้งหรือสัตว์ร้าย หรือให้เห็นคนนุ่งขาวห่มขาว หรือการให้เกิดมีเสียงน่ากลัวต่าง ๆ
และที่สำคัญการเข้าลึกในเรื่องศาสตร์และอำนาจแห่งความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า การใกล้ชิดด้วยจิตวิญญาณที่มั่งคงยิ่ง การให้ตนเองบริสุทธิ์ในศาสนาเช่น การขอดุอาร์และซิเกร (ขอพรและกล่าวรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า) นอกเหนือจากการปฏิบัติศาสนกิจปกติ ชาวดูซงญอ ปฏิบัติกันทุกหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด ในค่ำคืนอันเงียบสงบ ตลอดจนยามดึกดื่นที่วังเวง
เขาทั้งหลายต่างรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และอนุภาพอันมหาศาลของอัลลอฮ์
ยา ซัล ญาลา ลิวัล อิครอม : อัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพยิ่ง
ยา ซัล ญาลา ลิวัล อิครอม : อัลลอฮผู้ทรงยิ่งใหญ่และทรงอานุภาพยิ่ง
เสียงขอพรและซิเกรนับหมื่นนับแสนครั้ง ดังกระหึ่มในทุกค่ำคืนตามซอกหลืบแห่งเทือกเขาสันกาลาคีรี สร้างความวังเวงและน่าเกรงขามต่อผู้คนที่ได้ยินเป็นยิ่งนัก บังเกิดความว้าวุ่นและไม่สบายใจแก่บรรดาข้าราชการในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
จากคำขอพรที่ได้ยินว่า”ยาซัล ญาลา” ถูกตีความหมายเป็น “ยาลอหรือยะลา” เจ้าหน้าที่เลยทึกทักว่า กำลังเรียกร้องแบ่งแยกยะลา”
ประชาชนตั้งมั่นที่จะขจัดความเลวร้ายที่ได้รับจาก จคม. และเก็บกดความชอกช้ำที่ได้รับจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่เจตนากลับถูกคนของรัฐมองว่า ” พวกแขกกำลังปลุกกระดมให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาล” โดยมี โต๊ะแปรัก (Tok Perak) และผู้นำศาสนาหลายคนเป็นแกนนำ
และแล้วปฏิบัติการปราบปราม ได้ปะทุขึ้น ณ สุเหร่าบ้านตือกอ (Surau Kampong Teko) บ้านดูซงญอ ในขณะที่ชาวบ้านกำลังละหมาด (ปฏิบัติศาสนกิจ) ช่วงเวลาก่อนอรุณรุ่ง (ละหมาดซุบฮิ) เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2491
เสียงปืนฝ่ายอำนาจรัฐ นานาชนิดดังกึกก้องกระหึ่มสนั่นป่าเขา ผู้คนที่กำลังละหมาดถูกกระสุนต้องสังเวยชีวิตทันทีหลายสิบคน บางคนได้รับบาดเจ็บ และอีกหลายคนกระเสือกกระสนหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง
เมื่อชาวบ้านขาดที่พึ่งและจึงได้เลือกหนทางหยิบอาวุธเท่าที่สามารถหาได้ใกล้ตัวยืนหยัดต่อสู้ฝ่ายอำนาจรัฐ
ตัวเลขการสูญเสียชีวิตของชาวบ้านในครั้งนั้นประมาณ400 คนในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการต่อสู้ที่สูญเสียชีวิตมากมายเป็นครั้งแรก และยังอยู่ในความทรงจำของชาวมลายูมิอาจลืมเลือน
วันที่ 3 เม.ย.2490 หะยีสุหรง บิน อับดุลกาเคร์ มูฮัมมัด เอล ฟาโทโดยนิ หรือ "หะยีสุหรง โต๊ะมีนา" ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี และโต๊ะครู ผู้ได้รับความศรัทธาจากพี่น้องมุสลิม ได้เป็นแกนนำต่อสู้อำนาจรัฐที่กดดันอย่างหนัก
โดยหะยีสุหรง ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ประการ ต่อ พล.ร.ต.หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (ในขณะนั้น) ประกอบด้วย 1.ให้แต่งตั้งคนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาปกครองกันเอง 2.ข้าราชการในพื้นที่ต้องเป็นคนมุสลิมเกิน 80% 3.ให้ใช้ภาษามลายู และภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
4.ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางในโรงเรียนระดับประถมศึกษา 5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิม โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย 6.ภาษีทั้งปวงที่เก็บได้ในพื้นที่ ต้องนำมาใช้จ่ายในพื้นที่เท่านั้น และ 7.ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง
แต่ข้อเรียกร้องของหะยีสุหรง ก็ถูกปฏิเสธ โดยในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้หะยีสุหรง โต๊ะมีนา พร้อมด้วย หะยีแวะ อุเซ็ง หะยีแวะ มามิน และ หะยีแวะ สะแมะ ถูกจับกุมในข้อหาเข้าข่ายเป็น การเตรียมการแบ่งแยกดินแดน อันเป็นการทำลายอธิปไตย และบูรณภาพแห่งราชอาณาจักร หรือ "กบฏต่อแผ่นดิน"
ต่อมาในปี 2497 หลังจากพ้นโทษจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 4ปี 8 เดือน หะยีสุหรง เดินทางกลับจังหวัดปัตตานี แต่ได้หายสาบสูญพร้อมคนสนิทและลูกชาย คือ นายอาห์มัด โต๊ะมีนา ชาวบ้านปักใจเชื่อว่า หะยีสุหรง และคนอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่จับถ่วงน้ำที่ทะเลสาบสงขลาจนเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น
อีกกรณี เดือน เมษายน 2501 ฮัจยีอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหรง ได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ " GUGUSAN CHAHAYA KESELAMA TAN" มีความหมายว่า " รวมแสงแห่งสันติ"
เนื้อหาเน้นความจำเป็น ในการต่อสู้เพื่อเอกราชตลอดจนความร่วมมือกันในหมู่ชาวมลายู หากทำตามหนังสือนี้แล้วก็จะปลอดภัยหรือได้รับสันติ ออกเผยแพร่ โดยได้เขียนคำนำในหนังสือ พร้อมบรรยายใต้ภาพของหะยีสุหรง ว่า " หะยีสุหรง ถูกฆ่าตายโดยเจ้าหน้าที่ ที่โหดร้ายของรัฐ ขอให้พี่น้องมุสลิมจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง"
ปรากฏว่า หนังสือดังกล่าวถูกเผาทิ้งทั้งหมด และในที่สุดฮัจยี อามีน ถูกจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน
หลังจากนั้น ฮัจยี อามีน ถูกส่งฟ้องศาลทหารกรุงเทพฯต่อมาในปี 2508 ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาวันเดียว ครม.ก็มีมติให้ถอนฟ้องหะยีอามีน ด้วยเหตุผลทางการเมืองบางประการ
และในที่สุดเขาได้รับการปล่อยตัวและกลับไปอยู่กับญาติที่ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง และเสียชีวิตลง ณ ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อประมาณ ร่วม10 ปีที่ผ่านมา
หากจะย้อนเวลาจากวันที่ 28 เมษายน 2547 กลับไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา 64 ปี ของการลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้ในครั้งนี้เหมือนจะบอกนัยยะจากความทรงจำอะไรบางอย่าง
จากวันนั้นถึงวันนี้เดือนเมษายนของทุกปี ได้กลายเป็นรอยแผลให้กับชาวมลายู
ขณะเดียวกัน “ วันที่ 28 เมษา” ได้กลายเป็นอีกสัญลักษณ์และอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐทยจะต้องผวาไม่รู้จบ เมื่อเวียนมาถึงเช่นกัน