ความขัดแย้งเพิ่งเริ่มต้น..ได้ยินแล้วหนาว!
โดย วีระศักดิ์ พงษ์อักษร
"ความขัดแย้งเพิ่งเริ่มต้น...เป็นมุมมองที่นักวิชาการหลายท่านประเมินออกมา ซึ่งใครได้ยินประโยคนี้คงหนาวไปตามๆ กันแต่เป็นข้อเท็จที่เราต้องเตรียมหาทางแก้และเผชิญกับมัน"
อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี คนหนึ่งที่เชื่อเช่นนั้น ..เพราะมองว่า " ความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย และก็ยังไม่ถึงจุดที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์คลี่คลาย กลับกันมันเพิ่งปรากฏด้วยซ้ำ ดังนั้นความขัดแย้งในวันนี้จึงไม่ใช่ความขัดแย้งพื้นฐานอีกแล้ว แต่เป็นความขัดแย้งในรากสังคมอย่างแท้จริง และไม่ใช่เรื่องจะบอกแค่ว่าฝ่ายหนึ่งจงรักภักดี อีกฝ่ายไม่ใช่"
มุมมอง ที่กล่าวในระหว่างปาฐกถาพิเศษ ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2554 ขององค์กรเครือข่ายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เอเชีย (ประเทศไทย) เมื่อ 26 ม.ค. 2555
ส่วน 18 มี.ค.นี้ต้องติดตามว่า อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี จะมีมุมมองอย่างไรเพิ่มเติม...ภายใต้โจทย์หิน
1. จะเข้าใจสภาวะการเมืองปัจจุบันอย่างไร ความพยายามในการสมานฉันท์จะเกิดผลหรือไม่?
2. สาเหตุของวิกฤติการเมืองและความขัดแย้งต่างๆ ในปัจจุบัน
3. แนวโน้มการคลี่คลายหรือขยายตัวของวิกฤติ
4. ข้อเสนอแนะต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ...รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปหรือปรับปรุงสถาบันสำคัญๆ ของประเทศ
ที่ต้องย้ำว่าโจทย์หิน เพราะสถานการณ์วันนี้ ไม่สามารถที่จะคลี่คลาย ด้วยการเจรจาปรองดอง ..หรือแม้แต่กฎหมายจะ "ตอบ" โจทย์นี้ได้...ความขัดแย้งจึงเป็นเพียงการเริ่มต้น
มิหนำซ้ำในยามที่ฐานรากทางสังคมที่อ่อนไหว เพียงปัจจัยเล็กน้อย ก็สามารถก่อ "มหันตภัย" ได้ทุกเวลา!
ประเทศจึงอยู่ในช่วงน่าห่วงใยมากที่สุด...ซึ่งอาจจะเป็นปรากฏการณ์ซ้ำๆ ช่วง "รอยต่อแห่งอำนาจ" ที่เกิดขึ้นให้เห็นในประวัติศาสตร์ไทยหลายครั้งที่ผ่านมา
เพียงแต่ปีนี้อาจจะพิเศษ!
ปัจจัยแรก...มาจากความขัดแย้งที่ลงลึกและกว้าง ไปสู่ความขัดแย้งของรากหญ้า..หากเทียบในอดีตจะวนเวียนอยู่กับกลุ่มชั้นนำ โดยดึงประชาชนเข้ามาเป็นพวกและเป็นเหยื่อทุกครั้งที่ผ่านมา
ปัจจัยที่สอง..ความพยายามในการแก้ปัญหา ที่ไม่ได้จัดการความเหลื่อมล้ำ (เพราะกระทบกับกลุ่มชนชั้นนำ 10% ของประชากร) ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ตรงกันข้ามความพยายามเลี่ยงแนวทางที่เหมาะสม มาตรการที่บิดเบือนกลับซ้ำเติมให้ปัญหาซับซ้อนและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นไปอีก
ปัจจัยที่สาม...สมานฉันท์ หรือเจรจาปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นในภาวะที่ "ขั้วอำนาจ" มีระยะห่างกันมาก เพราะโดยธรรมชาติกลุ่มที่ประเมินว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าย่อมที่จะไม่ลงมานั่งเจรจา และดูเหมือน กลุ่มอำนาจใหม่ จะคิดเช่นนั้น หลังจากผ่านการทดสอบมาระยะหนึ่ง
ปัจจัยที่สี่...พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนหลักในกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ ในกระบวนการความขัดแย้ง มีศักยภาพเกินกว่ากลุ่มขั้วอำนาจเก่า จะ "ปราบ" ได้ง่ายๆ เช่นอดีต นอกจากฐานทุนที่แกร่งแล้ว ความพยายามในการสร้าง "ความเชื่อ" ว่าเป็นตัวแทนกลุ่ม "ก้าวหน้า" ตามกระแสโลก สามารถดึงแนวร่วมเข้ามาเป็นพวกโดยอัตโนมัติ
ปัจจัยที่ห้า...โครงสร้างกลุ่มอำนาจแบบเก่า ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ และอยู่ในยุคที่มีการปฏิวัติเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยแล้ว "รัฐ" เล็กเกินกว่าจะครอบงำได้มีประสิทธิภาพเช่นอดีต
นับถอยหลังเถอะครับ!
ที่มา : คอลัมน์ การเมือง ทัศนะวิจารณ์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ