The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เมื่อกาลเวลาหนึ่งมาถึง

เมื่อกาลเวลาหนึ่งมาถึง
โดย: อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง
abualuang@gmail.com

                สำนักข่าวอะลามี่ : คนหนุ่มสาวหลายคนมักจะบ่นว่าคนแก่ชอบพูดเรื่องอดีต ไม่เห็นจะมีความสำคัญและเกี่ยวพันกับชีวิตของเขาเลย เราเองก็เคยคิดเช่นนี้เหมือนกันในครั้งที่เราเป็นวัยรุ่น

               คุณพ่อคุณแม่เรา ก็บอกว่าเมื่อตอนที่เขาฟังความรู้เรื่องคุณพ่อของเขาก็เคยเล่าเช่นเดียวกัน เราคงจะโชคดีที่ยังมีคุณตาคุณยายนั่งล้อมวงอยู่ด้วยและคุณตานั่งผงกศีรษะสนับสนุนและเสริมขึ้นมาว่า “เราต่างถูกเล่าสืบต่อกันมาเช่นเดียวกันหมด...” คุณตาพูดแทรกขึ้นมา

              การเล่าเรื่องราวในอดีตจะเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ ผู้รู้ทั้งหลายต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่านี้คือการถ่ายทอดมรดกที่ล้ำค่า คนที่จะรับมรดกได้เขาจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม

              การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการรับผ่านกระบวนการทางการศึกษา กล่าวคือ จะต้องมีการเรียนรู้ว่าความสำคัญและความล้ำค่าของมันว่ามีมากน้อยเพียงใด มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนเพื่อการสืบทอดสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคตอันไกลโพ้น องค์ความรู้เรื่องอดีตมีความแตกต่างกันกับการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนมากมาย เพราะเป็นมรดกความรู้ความเข้าใจที่มาจากก้นบึ้งแห่งสติสัมปชัญญะ ความสำนึกในความดีงาม ความภูมิใจในความเก่งกล้าสามารถ ความสนุกสนานที่เคยมี ความมั่งคั่งที่เคยได้ลิ้มรส ความเสียอกเสียใจในความสูญเสีย ความเจ็บปวดที่ถูกกระทำ ความปวดร้าวที่ถูกพลัดพรากจากพี่ห่างน้องและแผ่นดินมาตุภูมิ 

            “อารมณ์ความรู้สึกที่หยั่งรากลึกในบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์” นี่คือคำบอกเล่าในกาลครั้งหนึ่งอดีตที่สืบทอดร่วมสมัยมาตลอดกาล

           จึงไม่แปลกที่นักวิชาการและฝ่ายความมั่นคนบางท่านมักจะถามผู้เขียนอยู่ทุกบ่อยๆเวลามีเหตุการณ์ความรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทำไมเขายังไม่เลิกปลุกคนปัตตานีด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ ทำไมเขา...พยายามจะใช้คำว่า “คนมลายูปาตานีมากกว่าคำว่าไทยมุสลิม มันเป็นมายาคติเป็นเรื่องบั่นทอนชีวิต เราจะวางแผนเพื่ออนาคตได้อย่างไร หากเรายังติดหนึบกับเรื่องราวในอดีต ...”

           หลายคนถึงขนาดพูดอย่างมีอารมณ์ว่า...“คุณลืมประวัติศาสตร์เรื่องรัฐปาตานีได้ไหม ? เราเป็นประเทศที่อยู่ในยุคใหม่ไร้พรมแดนมานานแล้วและยิ่งประเทศเราได้ยอมรับความหลากหลายของชาติพันธุ์ว่าเป็นเอกภาพของชาติ ที่ทุกหมู่เหล่าเป็นไทยหนึ่งเดียว เราเท่าเทียมและเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญแล้ว...เราให้พวกคุณมากพอแล้ว คุณต้องการอะไรมากมายอีก...?

          ผู้เขียนไม่ใช่นักอภิปรายหรือนักโต้วาทีที่จะตอบกับคำถามที่พรั่งพรูเหมือนกระสุนปืนสงครามที่กรูออกจากระบอกปาก(ปืน) ที่เป็นเศษเหล็กปราศจากชีวิตและไร้ปัญญาในสังคมแห่งอารยธรรมเช่นนี้ คิดว่าการมีสมาธิฟังอย่างตั้งใจแล้วจะรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับความโง่เขลา แต่หาปัญญาที่จะคิดไม่ค่อยจะได้ของหมู่เหล่าคนที่คิดว่าตนเองมีอำนาจ(บางคน) เราจะได้เข้าใจว่าเรายังขาดอะไรที่จะต้องหาความรู้ความเข้าใจเพื่อให้สังคมประเทศได้ร่วมรับรู้ “ว่าตัวตนคนมลายูปาตานี ที่หวงแหนนั้นมันคืออะไรกันแน่ มีความสำคัญไฉน มากน้อยเพียงใด จะหาทางให้ได้เข้าใจกันและกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมโลกใบเล็กๆนี้ให้นานๆได้อย่างไร?”

         อีกทั้งการฟังให้มากจะได้รับรู้และเพิ่มพูนภูมิปัญญาและลงลึกในกึ๋นแก่นของฉายาว่าความเป็นนักวิชาการ ความเป็นนักความมั่นคงว่าเป็นอย่างไร ความเป็นรัฐไทยที่กล่าวว่าประเทศไทยเป็นระบบสังคมพหุวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่าความหลากหลายในระบบนิเวศทางวัฒนธรรม...มันหมายความเช่นใด มากน้อยเพียงใด กับใคร มียกเว้นใครบ้างไหม มีการส่งเสริมและสนับสนุนกันอย่างไรหรือมีการเลือกที่รักมักที่ชังกับใครหรือไม่อย่างไร

        เรื่องราวที่เล่าขานเป็นเสมือนการสืบตำนานของชนเผ่าต่างๆทั่วโลก แม้แต่ประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ที่ไม่มีอะไรผูกพันเป็นมาตุภูมิกับท้องถิ่นนั้นเลยมาแต่อดีตดั้งเดิม แต่ชนรุ่นหลังที่เกิดขึ้นมาบนแผ่นดินนั้นๆยังหวงแหนหนักหนา ต่างก็หาความดีความชอบของบรรพชนตนในการเข้าไปอยู่(ยึดครองประเทศเขาเมื่อไม่ถึง300ปี)หรือจะมีคนท้วงว่าไม่จริงเช่นกรณีประเทศออสเตรเลีย อเมริกาหรือบางประเทศยังไม่ถึง 70 ปีด้วยซ้ำเช่นกรณีประเทศสิงคโปร์ และอีกหลายๆประเทศในโลกนี้อีกมาก นี้ไม่นับรวมบางประเทศที่ถูกมหาอำนาจเข้าไปยึดและประกาศให้คนอื่นเข้าไปอยู่ โดยอ้างความชอบธรรมจากคัมภีร์โบราณ(หลายพันปี)ตามความเชื่อของชาติพันธุ์ตนเท่านั้น ? เช่นกรณีการเข้ายึดครองประเทศปาเลสไตน์และตั้งชื่อใหม่ว่าประเทศอิสราเอลนั่นไง!!!

          จึงไม่แปลกที่ลูกหลานมลายูปาตานีจะพูดกล่าวและสืบทอดตำนานรากเหง้าของตนเอง

        แต่สิ่งสำคัญนักวิชาการและฝ่ายความมั่นคง อย่าเพิ่งขีดกรอบความรักชาติเสมือนในสมัยอดีตมากนัก  ที่ความสำคัญของตัวตนคนท้องถิ่นถูกตัดหายไปอย่างน่าเสียดาย เรามุ่งให้คนไทยทั้งหมดรักประเทศไทย โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพฯ(ถ้าไม่ทำตามจะตีความหมายเป็นอย่างอื่น?)

         คนกรุงเลยมองคนท้องถิ่นเป็นคนบ้านนอกคอกนา ไม่พัฒนา คร่ำครึโบราณ ยิ่งสังคมท้องถิ่นและรัฐส่วนกลางต่างเข้มแข็งมากขึ้นก็จะถูกนักปกครอง(ส่วนหนึ่ง)ว่าเป็นคนบ้านนอกเป็นพวก“หัวหมอ”ดูแลจัดการลำบาก

          จึงไม่แปลกในอดีตมีการส่งนักปกครองประเภทนักเลงหัวไม้กากเดนที่อำนาจส่วนกลางไม่พึงประสงค์มาดูแล เขาเหล่านั้นมาวางหลักปักฐานในวงศาคณาญาติ พรรคพวก โดยมีการส่งส่วยแก่นายใหญ่ในกรุงให้ทั่วถึงเพื่อรักษาสถานภาพอันมั่นคงของตน แนวคิดเช่นนี้ถึงแม้จะบางเบาในปัจจุบัน แต่กับการดูแลหัวบ้านหัวเมืองปักษ์ใต้ดูเหมือนจะยังมีคำถามอีกมากอยู่มิใช่หรือ...?

           ตำนานความหมายเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผลเพียงอย่างเดียวคงหาทางออกให้กับพื้นที่ได้ไม่ยากนัก เวลาน่านเนินนับเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2329 เป็นต้นมาได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามากมาย หลายคนกล่าวว่า การหมกมุ่นเรื่องราวของเมื่อวันวานเราอาจจะบอดสนิทในอนาคต..?ในขณะอีกหลายคนจะกล่าวว่า บทเรียนในอดีตมีค่าสำหรับปัจจุบันและเป็นต้นทุนที่มีค่าต่อการวางแผนในการอยู่ร่วมกันเพื่ออนาคต จึงสามารถกล่าวได้ว่า “อดีตคือบทเรียนล้ำค่า การวางแผนพัฒนาหากละเลยความสำคัญต้นทุนของท้องถิ่น ประเทศชาติจะหลงทางและด้อยพัฒนาอีกนาน!!!”

           จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในอดีตที่เข้าใจกันว่าเป็นศูนย์กลางอำนาของนครรัฐหนึ่งบนแหลมมลายู มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายทั้งบนภูเขา ใต้ภิภพ แต่ด้วยความเข้าใจของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังไม่สร่างซาจากความคิดแบบรวบอำนาจ แบบคิดว่าคนคิดต่าง คิดแย้ง พูดภาษาอื่น นับถือศาสนาไม่เหมือนตน มีอดีตความเป็นมาและรากเหง้าต่างกับตนคือเป็นคนอื่น เป็นกลุ่มคนที่คิดขวางทางแห่งเอกภาพของประเทศ บ่อนทำลายความรู้สึกดีๆ???ในการปกครองประเทศ

           จึงถูกเอาความต่างเป็นเครื่องมือในการใช้กำลังเข้าจัดการ การโต้ตอบกันและกันที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวกันว่ามันชอบธรรม...?

           สุดท้ายจะไม่มีคำตอบว่าฝ่ายใดชนะหรือฝ่ายใดเป็นผู้แพ้ แต่...จะมีคำถามว่าใครคือผู้ที่ฉลาดมากกว่า มีโอกาสมากกว่า เสียหายน้อยกว่า มวลพี่น้องชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรกับกาลเวลาที่ผ่านไปมากกว่า...?