เผยโฉม10 ชาติบริโภคน้ำมันถูกสุดในโลก
สำนักข่าวอะลามี่ : ราคาน้ำมันที่ยังเคลื่อนไหวเหนือระดับเลข 3 หลักกดดันให้หลายประเทศต้องปรับราคาขึ้นกันถ้วนหน้าแต่ยังมี 10 ประเทศที่บริโภคน้ำมันราคาถูกแสนถูก
ในห้วงเวลาที่ผู้คนจำนวนมากต้องแบกภาระต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น มีคนอีกบางส่วนของโลก ที่ไม่สะทกสะท้านกับตัวเลขราคาหน้าปั๊ม เพราะพวกเขาได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาลที่ร่ำรวยจากน้ำมัน แม้ว่าการอุดหนุนน้ำมันดังกล่าวจะถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้บรรดาคนรวย ที่มีสตางค์ซื้อรถมาขับ มากกว่าจะช่วยเหลือคนจนอย่างแท้จริง
บริษัทประกันจากอังกฤษ "สเตฟลีย์ เฮด" จัดอันดับ 10 ประเทศ น้ำมันราคาถูกสุดในโลก ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยแชมป์ราคาน้ำมันถูกสุดๆ เป็นของ "เวเนซุเอลา" ที่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 0.18 ดอลลาร์ต่อแกลลอน
เนื่องจากเวเนฯ ใกล้ฤดูเลือกตั้ง ในเดือนตุลาคมปีนี้ ประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ อ่านเกมออกว่า หากปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในช่วงนี้ ย่อมกลายเป็นความเสี่ยงต่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง ประกอบกับ ความพยายามปรับขึ้นราคาหนล่าสุด เมื่อปี 2532 ลงเอยด้วยเหตุจลาจล ที่มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และชาวเวเนฯ จึงมีแนวโน้มจะใช้น้ำมันราคาจิ๊บๆ ไปอีกหลายปี
รองแชมป์ ได้แก่ "ซาอุดิอาระเบีย" ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ที่ขายน้ำมันในประเทศราคา 0.48 ดอลลาร์ต่อแกลลอน แม้ริยาดห์ จะสร้างความมั่งคั่งจากทองคำดำมาตลอดหลายปี และน่าจะต่อเนื่องไปอีกหลายปี ทว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของริยาดห์ ก็เริ่มกังวลว่า ปริมาณน้ำมันสำรองที่ประเมินกันนั้นจะมากเกินที่เป็นอยู่หรือไม่
ยิ่งความตึงเครียดกรณีอิหร่านเพิ่มขึ้น จึงมีคำถามว่าซาอุฯ จะยังส่งออกน้ำมันราว 9 ล้านบาร์เรลต่อวันไปได้ยาวนานแค่ไหน ในฐานะฮีโร่ ที่เพิ่มการผลิตจาก 7.5 ล้านบาร์เรล เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้สูงไปกว่านี้
ปัจจุบัน รัฐบาลริยาดห์ใช้จ่ายเงินเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ ทั้งเบนซินและดีเซล ประมาณ 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี
อันดับ 3 คือ "ลิเบีย" ที่ขายน้ำมันแกลลอนละ 0.54 ดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ลิเบียเกิดการประท้วงโค่นอำนาจพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำมันถูกทำลายอย่างหนักจากการต่อสู้ระหว่างสองฝ่าย แต่ปัจจุบัน ภายใต้การบริหารของสภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ ลิเบียกำลังฟื้นฟูศักยภาพในการผลิตและส่งออกน้ำมัน
รัฐมนตรีน้ำมันของลิเบีย คาดว่า น่าจะกลับมาผลิตน้ำมันในระดับเดียวกับก่อนเกิดจลาจล 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ในปีนี้ จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 1.265 ล้านบาร์เรล ซึ่งหากทำได้ตามนี้ก็จะทำให้ลิเบียมีเสถียรภาพด้านน้ำมันและยืนระดับราคาน้ำมันในประเทศไว้ได้
อันดับ 4 "เติร์กเมนิสถาน" ขายน้ำมันราคา 0.72 ดอลลาร์ต่อแกลลอน การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ได้นั่งเก้าอี้ต่ออีก 5 ปี หมายความว่า เจ้าของรถชาวเติร์กยังจะได้รับสิทธิเติมน้ำมันฟรี 120 ลิตรต่อเดือน (34 แกลลอน) ต่อไปอีก เพราะรัฐบาลสัญญาที่จะจ่ายอุดหนุนด้านพลังงานต่อไปจนถึงปี 2573 แต่ปริมาณปิโตรเลียมสำรอง ที่ลดลงก็กลายเป็นความท้าทายของรัฐบาล
อันดับ 5 "บาห์เรน" มีราคาน้ำมันที่ 0.78 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ประเทศนี้ กำลังเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีน้ำมันไม่มากเท่าประเทศอื่นๆ โดยเปลี่ยนไปเน้นจุดขายเรื่องศูนย์กลางการธนาคารในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย ค้าปลีก และท่องเที่ยวแทน แต่บาห์เรน เผชิญกับความท้าทายเนื่องจากประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่บาห์เรนจะยกเลิกการอุดหนุน
อันดับ 6 "คูเวต" ขายน้ำมันแกลลอนละ 0.84 ดอลลาร์ คูเวต เป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มโอเปก รายได้จากน้ำมันมีสัดส่วนราว 95% ของรายได้ทั้งหมด และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพี
คูเวต มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2563 แต่ชาวคูเวตบริโภคน้ำมันที่ผลิตเองในสัดส่วนที่น้อยมาก เพราะส่งออกถึง 87% ของที่ผลิตได้ในปีที่แล้ว และเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงของคูเวตสูงสุดที่ 2,800 ดอลลาร์ต่อคน ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์อุดหนุนราว 2,500 ดอลลาร์ต่อคน
อันดับ 7 "กาตาร์" ราคาน้ำมันอยู่ที่ 0.90 ดอลลาร์ต่อแกลลอน กาตาร์เป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่สุดของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับ 16 ขณะที่คนในประเทศบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเมื่อปี 2543 เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตและน้ำมันราคาถูกจากการอุดหนุนของรัฐ
กาตาร์ มีปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วราว 2.54 หมื่นล้านบาร์เรล ขณะที่รายได้จากน้ำมันและก๊าซมีสัดส่วน 50% ของจีดีพี แต่กาตาร์ พยายามเพิ่มความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจและสร้างชื่อจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
อันดับ 8 "อียิปต์" ราคาน้ำมันขายในบ้านแกลลอนละ 1.14 ดอลลาร์ ทั้งที่อียิปต์ เป็นผู้ผลิตและกลั่นน้ำมันรายใหญ่ แต่ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมบางส่วน ขณะที่ผลพวงจากปรากฏการณ์ปฏิวัติโลกอาหรับ ในปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อหลายๆภาคส่วนของอุตสาหกรรม แต่รายได้หลักของอียิปต์ในช่วงบ้านเมืองวุ่นวาย ยังมาจากการลงทุนน้ำมันและก๊าซ รวมถึงรายได้จากคลองสุเอซ ที่เป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ
อันดับ 9 คือ "โอมาน" ราคาน้ำมันขายแกลลอนละ 1.20 ดอลลาร์ โอมานเป็นชาตินอกกลุ่มโอเปกที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากสุด 5.5 พันล้านบาร์เรล ส่งออกน้ำมันและก๊าซคิดเป็น 47% ของจีดีพีปี 2553 แต่โอมาน พยายามเพิ่มความหลากหลาย ให้ระบบเศรษฐกิจไปที่ภาคเกษตรและบริการด้านสุขภาพ แทนที่จะพึ่งพาพลังงานอย่างเดียว
และ อันดับ 10 "อัลจีเรีย" ที่ขายน้ำมันราคาเท่ากับโอมาน 1.20 ดอลลาร์ ประเทศนี้ มีน้ำมันสำรองมากสุดเป็นอันดับ 3 ในทวีปแอฟริกา รองจากลิเบีย และไนจีเรีย แต่ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับ 4 ของกาฬทวีป และสหภาพยุโรป (อียู) พึ่งพาน้ำมันจากอัลจีเรียมาก เพราะมีสารซัลเฟอร์ต่ำ ขณะที่อัลจีเรีย มีรายได้ 60% จากการผลิตน้ำมัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์