The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ชาวมลายูแห่งประเทศศรีลังกา

ชาวมลายูแห่งประเทศศรีลังกา
By : Nik Rakib Nik Hassan II

        Malay Studies PSU

            สำนักข่าวอะลามี่ : ชาวมลายูนอกจากตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคมลายูแล้ว ยังมีชาวมลายูอาศัยอยู่นอกภูมิภาคมลายู เช่น ในประเทศศรีลังกามีชาวมลายูอาศัยอยู่ประมาณ 1 แสนคน

            ชาวมลายูเหล่านี้เดินทางมาจากภูมิภาคมลายู การเดินทางของชาวมลายูไปยังประเทศศรีลังกา นั้นมีหลายช่วงเวลาด้วยกัน นักวิชาการแบ่งระยะเวลาการเดินทางออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

             1.การเดินทางช่วงแรก ระหว่างปี 1247-1640

            การเดินทางของชาวมลายูช่วงแรกนั้น เป็นยุคที่ชาวมลายูยังนับถือศาสนาพุทธ เป็นการเดินทางของกองทัพอาณาจักรตามพรลิงค์ ภายใต้การนำของพระเจ้าจันทรภาณุ เมื่อครั้งได้โจมตีศรีลังกาในยุคที่ศรีลงกามีกษัตริย์ชื่อว่า King Parakramabahu II

          หลังจากนั้นเป็นการเดินทางของพ่อค้าชาวมลายูไปยังประเทศศรีลังกา กลุ่มนี้จะตั้งถิ่นฐานบริเวณเมือง Hambantota


          2.การเดินทางยุคฮอลันดา ระหว่างปี 1640-1796

          ในขณะที่ฮอลันดาช่วงชิงการยึดครองศรีลังกากับโปร์ตุเกส จนต่อมาฮอลันดาสามารถ ยึดครองบริเวณชายฝั่งได้อย่างสมบูรณ์ในปี 1640 ทางฮอลันดาได้นำชาวมลายูจากบริเวณประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน และหมู่เกาะอินโดเนเซีย

          การเดินทางของชาวมลายูมี 2 ลักษณะ คือ หนึ่งเป็นผู้ที่ถูกเนรเทศทางการเมืองจากอินโดเนเซีย ในจำนวนที่ถูกเนรเทศนี้ มีเชื้อสายเจ้าจากเกาะชวา คือ Susunan Mangkurat Mas และผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ถูกฮอลันดาจับเป็นทาสให้ทำงานกับฮอลันดา

          ต่อมาทางฮอลันดาได้จัดตั้งชุมชนชาวมลายูขึ้นในบริเวณที่ใกล้กับพื้นที่ที่เรียกว่า Slave Island ในกรุงโคลัมโบ

           3.การเดินทางยุคอังกฤาษ ระหว่างปี 1796-1948

          เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษยึดครองศรีลังกา หลังจากที่อังกฤษสามารถขับไล่ฮอลันดาออก จากศรีลังกาในปี 1796 ทางอังกฤษได้นำชาวมลายูจากแหลมมลายูไปเป็นทหารของกองทัพอังกฤษ โดยได้นำชาวมลายู 300 คน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1801 ได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารที่เรียกว่า Malay Regiment ขึ้นตรงต่อกองทัพอังกฤษ มี จำนวนทหารชาวมลายูอยู่ 1,200 นาย

          ในปัจจุบันลูกหลานของชาวมลายูที่เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในศรีลังกาเหล่านั้น มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสมาคมชาวมลายูศรีลังกาหลากหลายสมาคม รวมทั้งชาวมลายูศรีลังกาที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียและยุโรป เช่น Sri Lankan Malay Association, Conference of Sri Lankan Malays (COSLAM), Sri Lankan Malay Association of Australia (SLAMA), Sri Lankan Malay Youth Association (SLMYA)

            ในบรรดาชาวมลายูศรีลังกาเหล่านี้ มีคนหนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการบริการสังคมในคณะรัฐมนตรีชุดแรกของประเทศศรีลังกา เขาผู้นั้นคือ ตวนบูรฮานุดดิน จายา (T B Jayah)