กว่าจะเป็นประชาคม ‘อาเซียน’ ของไทย
โดย : บัณฑิตย์ สะมะอุน
สำนักข่าวอะลามี่ : ในปี พ.ศ. 2558 เป็นปีที่ไทยต้องปรับตัวรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงใหม่ในสถานะของประชาคมหนึ่งในอาเซียน ซึ่งเรียกเป็นทางการว่า ‘ประชาคมอาเซียน’ มีเป้าหมายให้สร้างความสัมพันธ์ในด้านหลักสาม ด้าน คือ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมวัฒนธรรม
โดยมีกฎบัตรอาเซียนที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายที่ใช้ร่วมกันของประชาคมอาเซียน และมีการจัดประชุมในกรุงเทพมหานครในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ในนาม ‘ปฎิญญากรุงเทพฯ’ มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก และมีการจัดประชุมในหลายครั้งตามมา จำนวนสมาชิกเดิมสิบประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา) ไม่นับรวมอาเซียน+8 เป็นมหาอำนาจ มีส่วนจับตาอย่างใกล้ชิด
รูปแบบการบริหารองค์กร ให้รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นหัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน โดยที่กระทรวงต่างประเทศของกลุ่มสมาชิกอาเซียนได้จัดตั้ง “กรมอาเซียน” ภายในประเทศของตน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับกรมอาเซียนของประเทศอื่น และในปัจจุบัน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน
มีคำถามมากมายเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558ว่า ไทย (ความเป็นจริงไทยเป็นประเทศแรกๆในประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์กรนี้) จะเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ได้ดีอย่างไร
หากเราได้เตรียมรับไว้ในฐานะที่ไทยมีการรับรู้เรื่องราวของประชาคมอาเซียนมาก่อนใคร แต่ในสถิติปรากฏว่า ไทยให้ความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนน้อยกว่าหลายประเทศในกลุ่มสมาชิกด้วยกัน
กว่าจะเป็นประชาคมอาเซียนเต็มตัว จัดการโครงสร้างทางอำนาจที่กระจัดกระจายด้วยการควบคุมด้วยกฎหมายสากลร่วมกัน อาจเป็นช่องทางเล็กๆของกลุ่มมหาอำนาจที่เคยใช้มาโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงภาพของเอเชียในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากต่อสถานะภาพของมหาอำนาจที่เคยมีอิทธิพลในพื้นที่นี้
หากจะมองก็จะเห็นว่ามหาอำนาจที่เคยมีอิทธิพลในพื้นที่นี้นั้นไม่ใช่สหรัฐอเมริกา จะมีก็เพียงประเทศไทยที่เป็นมิตรคบค้าสมาคมตลอดมา บทบาทก่อนการเปลี่ยนแปลงในครั้งสำคัญนี้ก็มีรัฐมนตรีของไทยนั่งในตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ด้วยความเป็นต่อของไทยในโอกาสประชาคมอาเซียน หากหันมาร่วมกันเตรียมความพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ให้รอบคอบและทันท่วงที ไทยน่าจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการเกิดประชาคมอา
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอาจจะกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วในปัจจุบัน เป็นความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ความเปลี่ยนแปลงภายนอกนั้นคงต้องเป็นเรื่องของกฎบัตรอาเซียนที่ดำเนินไป แต่ปัญหาคือ เรื่องภายในของแต่ละประเทศมากกว่าว่าจะจัดการให้เกิดความมั่นคงภายในได้อย่างไร จะต้านรับกระแสการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมด้วยเครื่องมืออะไร
จากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมดที่รวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียน มีความแตกต่างระหว่างกันหลายด้าน เช่น ศาสนา/วัฒนธรรม ภาษา ระบบการปกครองที่แตกต่างกัน โดยประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มประชาคมอาเซียน เป็นมุสลิม ภาษาส่วนใหญ่ของกลุ่มประชาคมอาเซียนคือ ภาษามาเลย์
สองจุดนี้ หากมองในด้านการพัฒนาไปตามจุดแข็งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออาเซียน อย่างน้อยก็เป็นสื่อกลางที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ต่อกลุ่มประเทศอาหรับ/ตะวันออกกลาง
แต่หากมองให้เป็นปัญหาความมั่นคงแล้ว ความขัดแย้งและความแตกแยกในอาเซียนอาจขยายใหญ่กว่าที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งหากมองไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ปัญหาเศรษฐกิจ/การเมืองที่นำพาไปสู่ปัญหาความมั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ในความแตกต่างของประชาคมอาเซียนคงต้องมีเครื่องมือสำหรับการอยู่ร่วมกันกับสังคมภายในและสังคมภายนอก ในสังคมแบบอาเซียนเป็นลักษณะที่มีความเชื่อศรัทธาในศาสนาซึ่งมีแตกต่างกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องมีวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันหนึ่งชุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นได้จากความพอใจของสังคมร่วมกัน บนความหลากหลายของทางศาสนาที่อยู่ร่วมกันจึงไม่สามารถนำศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นแกนหลักของสังคมได้ จึงต้องอาศัยเครื่องมือที่จะสร้างวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความมั่นคงร่วมกันชุดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นชุดวัฒนธรรม ที่ถูกออกแบบและตกแต่งจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายแล้ววัฒนธรรมอาจกลายเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าศาสนาไปในที่สุด
การเตรียมพร้อมของไทยในปัจจุบันจะเห็นได้จากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างขับเคลื่อนโครงการออกมาเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน เช่น โครงการอาหารฮาลาล โครงการภาษาจีน ภาษาอาหรับ ภาษามาเลย์ (ไม่นับรวมภาษาอังกฤษ ที่เป็นภาษากลางในโลกยุคปัจจุบันที่จำเป็นอย่างยิ่ง) ดูจากจำนวนประชากรอาเซียน ที่เป็นมุสลิมกว่าสามร้อยล้านจากห้าร้อยล้านคน เป็นสัดส่วนที่สำคัญมากในการตั้งสมมุติฐานเพื่อวางเป็นแนวทางและทิศทางของประเทศ
หากมองถึงความเจริญที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันโดยตั้งไทยไว้เป็นศูนย์กลาง โลกทางด้านมลายู ดูจะเจริญและมีความพร้อมมากกว่าด้าน พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ
แต่หากมองแบบรวมแล้วปัญหาหนักที่น่าระวังคือปัญหาความมั่นคงของทั้งสองด้าน ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนนับวันจะดูยิ่งหากเหิน โดยเฉพาะฝั่งด้านพม่า ลาว ฯลฯ ความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทัศนคติของไทยต่อเพื่อนบ้าน และทัศนคติของเพื่อนบ้านที่มีต่อไทย ตอนนี้ไทยจะดูเหมือนเมืองกันชน(บัฟเฟอร์)ระหว่างความแตกต่างอันหลากหลายที่จะเกิดขึ้น โอกาสที่ดีตรงนี้คือไทยจะเตรียมรับผลประโยชน์มหาศาลจากความหลากหลายที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
มองประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่ดูเหมือนไทยยังย่ำคลานอยู่กับปัญหาภายในที่ไม่รู้จะจบลงอย่างไร มันเป็นปัญหาหนักของไทยที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก แทนที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าหมายปองที่จะเข้ามาอยู่และลงทุน แต่กลับเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ ปัญหาเสื้อเหลือเสื้อแดง ปัญหาการเมืองและนักการเมืองที่พร้อมจะกระพือความรุนแรงได้ตลอดเวลา ปัญหาภัยธรรมชาติ ฯลฯ และเมื่อยิ่งดูในปัจจุบัน จะเห็นอุณหภูมิความรุนแรงร้อนแรงขึ้นมาก ตัวแปรเหล่านี้สำคัญต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของสังคมประชาคมอาเซียน
ถึงวันนี้แล้ว ประเทศไทยต้องเตรียมรับประชาคมอาเซียนด้วยความพร้อมและมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่ด้วยปัญหาและความรุนแรงภายในที่เกิดขึ้น ประเทศไทย หรืออาจจะเป็นภาวะของหลายประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนที่ยังคงต้องหาทางหยุดยั้งปัญหาความมั่นคงทั้งของภายในประเทศและระหว่างประเทศให้อยู่ในภาวะที่สมดุลด้วยการเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างด้วยเกียรติระหว่างสมาชิกประชาคมอาเซียน