The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ‘สันติภาพในเงามืดฯ’ เขียนเรื่องแผ่นดินปัตตานีโดยฝีมือ‘คนข่าว’

‘สันติภาพในเงามืดฯ’ เขียนเรื่องแผ่นดินปัตตานีโดยฝีมือ ‘คนข่าว’      
 โดย ณรรธราวุธ เมืองสุข
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

              สำนักข่าวอะลามี่ : หากจะว่ากันตรงๆ ปัญหาภาคใต้ทุกวันนี้ก็ใช่ว่าจะมีใครสักคนสามารถอธิบายขยายความได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นสายปลายเหตุของปัญหา หรือว่าปัจจัยที่ส่งให้ปัญหาขยายความรุนแรงขึ้น แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ จะมีใครสักคนที่ตั้งใจเรียนรู้ ศึกษาหาต้นสายปลายเหตุของปัญหาได้แจ่มแจ้ง แล้วสามารถไปขยายความให้คนในสังคมเข้าใจร่วมกัน

           คำถามหนึ่งที่คนที่มาเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้มักได้ยินได้ฟังและต้องหาคำอธิบายให้ผู้ตั้งคำถามเสมอคือ ปัญหาภาคใต้เกิดจากอะไร? และ ใครเป็นคนทำ? (ผู้อยู่เบื้องหลังในการก่อความรุนแรง) ยังไม่นับคำถามชวนปวดหัวและต้องอธิบายกันยืดยาว เช่น ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้ความรุนแรงจริงหรือเปล่า? เขาก่อเหตุทำไม? ต้องการแบ่งแยกดินแดนจริงหรือไม่?

              ...คำถามชวนปวดหัวเช่นนี้ เพราะบางคำถามผู้ตอบต้องอธิบายกันยาวๆ เนื่องจากผู้ถามไม่มีภูมิความรู้เรื่องวัฒนธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ของคนมลายูอยู่เลย ส่วนบางคำถาม คนตอบเองก็ยอมรับว่าจนด้วยเกล้า เพราะขนาดลงมาคลุกคลีอยู่ในชายแดนภาคใต้เป็นปีก็ยังหาคำตอบด้วยตนเองไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามว่า ใครเป็นคนทำ?

            การตั้งคำถามต่อปัญหาภาคใต้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเค้นเอาคำตอบเพียงแค่ชั่วอึดใจ หากไม่เสียสละเวลาเพื่อศึกษา ค้นคว้า และติดตามข่าวสาร นำภาพจิ๊กซอว์จากข้อมูลต่างๆ มาปะติดปะต่อเอาเอง จึงยากที่จะหาคำตอบได้อย่างปัจจุบันทันด่วน

         และปัจจุบันนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เป็นแดนสนธยาสำหรับคนไทยในภูมิภาคอื่นอีกต่อไป ด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่ายิ่งกว่าสายน้ำเชี่ยวกราด อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนมองเห็นภาพว่าปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาบางส่วนผู้คนอยู่กันอย่างไร มีวัฒนธรรมประเพณีรูปแบบใด และด้วยปัญหาความไม่สงบนั่นเอง ที่ชวนให้สายตาอีกนับล้านคู่จับจ้องมายัง 3 จังหวัดมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนรู้เพียงว่าอำเภอเบตง และสุไหงโก-ลกนั้นน่าเที่ยว แต่รางรถไฟสายใต้ถูกลอบวางระเบิดบ่อย

            เพียงแต่สายตานั้นยังมีแววสงสัยและเคลือบแฝงด้วยมายาคติขั้นพอกหนา ด้วยแยกไม่ออกว่าปัญหาความไม่สงบที่ก่อเหตุรุนแรงกันรายวันนั้น คนละเรื่องราวกันกับศาสนาอิสลามอย่างไร

            หลังเกิดเหตุปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนมาสู่กรณีกรือเซะ เมื่อ 28 เมษายน 2547 กระทั่งเกิดเหตุตากใบในช่วงปลายปี (25 ตุลาคม) นับว่าปัญหาภาคใต้ได้ปลุกเร้าให้คนไทยตื่นตัวต่อปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนใต้ปลายขวานทองของประเทศตนเองมากขึ้น ทุกคนเริ่มเรียนรู้ว่า ปัญหานี้หมักหมมและถูกซ่อนเร้นมานาน มีความสลับซับซ้อนและไม่จบเพียงปีหรือสองปีแน่

            ชื่อแซ่ของกลุ่มขบวนการถูกหยิบยกเอ่ยอ้างขึ้นมาให้คุ้นหูคนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขบวนการพูโล เบอร์ซาตู บีอาร์เอ็น ฯลฯ รวมทั้งชื่อคนอย่าง ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน มะแซ อุเซ็ง สะแปอิง บาซอ ฯลฯ แต่ข่าวสารที่ออกไป หากไม่มีการสังเคราะห์ข้อมูล ย่อมก่อให้เกิดมายาคติอย่างยากหลีกเลี่ยงได้พ้น

             ผู้เขียนเพิ่งได้รับหนังสือเล่มใหม่ที่เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้เรื่อง “สันติภาพในเงามืด บนแผ่นดินปัตตานี” ที่ส่งมาจากผู้เขียนที่ระบุชื่อว่า “เอกราช มูเก็ม”

               ชื่อ “เอกราช มูเก็ม” ที่เมื่ออ่านชื่อแล้วต้องร้องอ๋อ

             เพราะสำหรับคนที่คลุกคลีทำข่าวในพื้นที่ 3 จังหวัดต้องจำเขาได้เพราะหนุ่มมุสลิมชาวตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาผู้นี้ คือ อดีตหัวหน้าข่าวศูนย์ข่าวเนชั่นภาคใต้ ปัจจุบันกลับไปประจำอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

            ในฐานะคนข่าว ซึ่งเคยคลุกคลีอยู่กับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยาวนาน แม้จะมิใช่คนมุสลิมภายใน 3 จังหวัด แต่ทำให้เขาสนอกสนใจศึกษาข้อมูลในระดับ ‘ปฐมภูมิ’ ของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับมองเห็นว่าสิ่งที่เขาเห็นและได้สัมผัสในฐานะนักข่าว มิใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะจบสิ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และหากไม่เร่งศึกษาและทำความความเข้าใจกับคนไทยทุกคน ปัญหานี้ย่อมขยายความรุนแรงออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

              “สันติภาพในเงามืดฯ” จึงนับเป็นหนังสือเล่มแรกจากฝีมือของคนข่าว ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ที่ผู้เขียนได้รับ เมื่อเปิดอ่านจึงเห็นว่าเนื้อหาที่ "เอกราช มูเก็ม " เขียนถึงนั้นน่าสนใจไม่น้อย

           ฝีมือการเขียนการเรียบเรียงข้อมูลสั้น กระชับ แต่ได้ใจความแบบสไตล์คนเขียนข่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อมูลครบถ้วนจบกระบวนความพอสมควร เนื้อหาหลายๆ ประการผู้เขียนไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน นอกจากได้ยินคำพูดต่อๆ กันมา ซึ่งจุดนี้ต้องยกย่องเอกราช มูเก็มว่าทำการบ้านค่อนข้างดี

           อาทิ จดหมายคำชี้แจง 27 ข้อต่อ ศอ.บต. จากสำนักจุฬาราชมนตรี ยุคท่าน ประเสริฐ มะหะหมัด เมื่อปี 2525 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ข้าราชการที่ลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

           ยังไม่นับรวมจดหมายชี้แจงทั้งจากขบวนการพูโล และขบวนการเบอร์ซาตู ที่คนไทยจำนวนน้อยนักที่จะได้เห็น ซึ่ง "เอกราช มูเก็ม" ได้นำมาเผยแพร่ในหนังสือเล่มนี้

           การบอกเล่าความขัดแย้งผ่านยุคสมัย พร้อมกับการก่อกำเนิดขึ้นของกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่น่าจะช่วยสร้างความเข้าใจให้ผู้อ่านได้และน่าจะมองภาพปัญหาชายแดนภาคใต้ได้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น

            ณ ทุกวันนี้ คนไทยที่สนใจปัญหาภาคใต้กำลัง ‘โหยหา’ แบบเรียนปัญหาภาคใต้กันมากขึ้น จากอดีตที่แทบไม่มีบทเรียนใดจารึกหน้าประวัติศาสตร์ที่เป็นความจริงสักเท่าไหร่ กระทั่งเมื่อปัญหาภาคใต้ ถูกยกระดับเพื่อเรียกร้องความสนใจขึ้นโดยฝีมือของคนปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 และ เด็กหนุ่มนับร้อยในเหตุการณ์กรือเซะในปี 2547 นั่นทำให้แบบเรียนหลายๆ บท ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรองรับความสนใจจากผู้คน

           บ้างก็เพื่อกระแส บ้างก็เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริง แต่ผู้เขียนจะเรียกหนังสือทุกเล่มว่าแบบเรียนปัญหาภาคใต้ เพียงแต่เรื่องเนื้อหาใกล้-ไกล บิดเบือนข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด และฝีมือการเขียนเป็นอย่างไรนั่นจะอยู่ในดุลยพินิจของผู้อ่าน ซึ่งต้องทำการบ้านจากหลากหลายแหล่งข้อมูล ไม่จำเพาะความเชื่อถือจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเท่านั้น

           ขณะนี้มีหนังสือเรื่องภาคใต้ออกมามากมายหลายเล่ม แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของงานวิชาการ ขณะนี้หากต้องการอ่านเรื่องปัญหาภาคใต้จากฝีมือของนักข่าวบ้าง "เอกราช มูเก็ม"  ได้เขียนเรื่อง “สันติภาพในเงามืดฯ” มาให้ลองอ่านแล้ว นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเขียนคำนิยมให้ ก็ทำให้มีความเชื่อมั่นในข้อมูลของหนังสือเล่มนี้ได้ไม่น้อย

           หรืออย่างน้อย ก็นำมาตอบคำถามชวนปวดหัวได้ในระดับหนึ่ง.

ที่มา: http://south.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=1456&Itemid=86