ฉากชีวิต'มหาธีร์ โมฮัมมัด'หลังลงอำนาจ
สำนักข่าวอะลามี่ : แม้จะลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมานานร่วม 7 ปี แต่ " ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด " นักการเมืองผู้มากบารมีคนนี้ ยังคงมีบทบาทหลายเรื่องในมาเลเซียรวมถึงอาเซียน "เอกราช มูเก็ม จาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ที่ห้องทำงาน ชั้น 86 บนตึกแฝดอาคารปิโตรนาส ณ กรุงกัวลาลัม ประเทศมาเลเซีย
เอกราช มูเก็ม ถ่ายภาพร่วม ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด อดีตนายกฯมาเลเซียและดร.ซิตี ฮัสมะฮ์ ภริยา
(ในโอกาสเข้าสัมภาษณ์พิเศษเมื่อ18ก.พ.53)
ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 4 ของประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2524 ถึง 31ตุลาคม 2546 รวมระยะเวลายาวนานถึง 22 ปี นับเป็นผู้นำประเทศที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดคนหนึ่งของกลุ่มอาเซียน ก่อนจะสละเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และส่งไม้ต่อให้ " อับดุลลาห์ บัดดาวี " นับเป็นการปิดฉากฐานะผู้นำมาเลเซีย อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา
ยุทธศาสตร์มาเลย์สู่เวทีระดับโลก
แม้วัยจะล่วงแตะที่ 84 ปี แต่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ยังคงมีบุคลิกความเป็นผู้นำ และยังมีบารมีในรัฐบาลชุดนี้ แม้เขาจะปฎิเสธว่า วันนี้เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ตาม
" มีผู้คนมาหาผมด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย ผมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ ผมเขียนบล็อก(เว็บบล็อก) ของผมเอง บางครั้งผมคิดว่า ผมยุ่งมากขึ้นเสียอีก หลังจากปลดเกษียณแล้ว " ดร.มหาธีร์ เกริ่นกับเราถึงสถานภาพและชีวิต หลังจากที่เขาเกษียณ ทันทีที่เริ่มสนทนากับเรา
ดร.มหาธีร์ บอกว่า สิ่งที่เขาทำในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้นำมาเลเซีย แม้จะยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ก็พัฒนาไปหลายขั้นตอนแล้ว โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งปัจจุบันมาเลเซีย มีนักเรียนต่างชาติหลายคนแล้ว
" ในมาเลเซียนั้น การศึกษาได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ จากรัฐบาล และจากพ่อแม่ของเด็ก จึงส่งให้เห็นผลว่า เรามีมหาวิทยาหลายแห่ง มีสถาบันการศึกษาในระดับที่สามหลายแห่ง และแน่นอน รัฐบาลได้สนับสนุนการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่ทุกคน"
ดร.มหาธีร์ บอกว่า ในอดีตมาเลเซีย มีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว และต่อมาได้ตัดสินใจที่จะขยายการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยการส่งอาจารย์หลายคนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ
" เมื่อพวกเขากลับมา เราจึงสามารถขยายมหาวิทยาลัยและตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ๆจนถึงเวลานี้ จำนวนบุคลากรที่มีการศึกษาเพียงพอที่จะสอนในระดับมหาวิทยาลัยได้มีเพิ่มมากขึ้น วันนี้เราจึงมีมหาวิทยาลัยมากกว่า 60 แห่ง เป็น มหาวิทยาลัยของรัฐบาล 30 แห่ง และอีก 30 แห่ง เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน "
อดีตผู้นำมาเลเซีย บอกถึงความสำเร็จในขณะที่บริหารประเทศมายาวนานถึง22ปี ว่า บางอย่างที่ชาวต่างชาติไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในมาเลเซีย เรามีกลุ่มคนสามเชื้อชาติ ที่แตกต่างอาศัยอยู่ด้วยกัน เชื้อชาตินี้ไม่ได้แบ่งแยกโดยชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังแยกด้วยภาษา, วัฒนธรรม, ศาสนา และแม้แต่ฐานะความมั่งมี
ดังนั้นองค์ประกอบที่มีอยู่ในการอยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นของเชื้อชาติ ชาวจีน อินเดีย และมลายู ก็คือองค์ประกอบสำหรับการเผชิญหน้าความตึงเครียด และแม้แต่สงครามกลางเมืองก็มีอยู่ในนั้น ผมมีความสุขมาก ที่ผมได้อยู่ในประเทศที่มีความมั่นคง และผมสามารถทำให้มันมั่นคงอยู่ได้ในระหว่างสมัยของผม
" สำหรับผมนี่คือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ เพราะเมื่อผมเริ่มต้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขาเรียกผมว่า นักวิ่งเหยาะมลายู คนหัวรุนแรง แต่เมื่อผมช้าลง พวกที่เคยเรียกผมว่า .....สุดท้ายก็กลายมาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเข้มแข็งของผม " ดร.มหาธีร์ บอกว่า ทุกโครงการที่เขาคิดและผลักดันทุกอย่างไม่ใช่โครงการที่ทำเล่นๆ เพราะทุกอย่างมีความจำเป็น
" ผมไม่ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ เพื่อจะได้มองย้อนกลับไปดูมัน นี่คือบางอย่างที่มีความจำเป็นสำหรับเรา เพื่อวางตัวเองบนเวทีโลก เรามองไปข้างหน้าในอนาคต เราไม่ได้วางแผนเพื่อวันนี้ อย่าคิดถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น เรามองไปถึง 10 ปี หรือ แม้แต่หนึ่งร้อยปีข้างหน้า รวมถึงสนามบินก็เตรียมการสำหรับหนึ่งร้อยปีข้างหน้าเช่นกัน "
หากมองย้อนไปถึงโครงการสำคัญและเมกกะโปรเจคในสัมยที่ ดร.มหาธีร์ บริหารประเทศร่วม 22ปี มีหลายโครงการที่โดดเด่น ทั้ง ปุตราจายาซุบเปอร์คอร์ริดอร์ โครงการตึกแฝดปิโตรนาส (KLCC) เขาบอกว่า ในแง่ของโครงการไม่มีความล้มเหลว แต่สิ่งที่เขายอมรับว่ายังทำไม่สำเร็จก็คือ การทำให้ทั้งสามเชื้อชาติ นั้นมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
อาเซี่ยนต้องร่วมมือมากกว่านี้
ผู้ผ่านประสบการณ์การประชุมเวทีอาเซี่ยนมาหลายครั้ง อย่าง ดร.มหาธีร์ ยังได้มองถึงความร่วมมือในอาเซี่ยนอย่างเฉียบคม โดยมองว่า แม้ว่าอาเซี่ยนกำลังเดินมาถูกทางแล้วก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับระยะทางการก้าวเดินนั้นช้ามาก อีกทั้งอาเซี่ยนต้องร่วมมือกันให้มากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการเปิดตลาดให้มากขึ้น แต่มันยังเกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือกันในการพึ่งพาตัวของพวกเราเอง เพราะอาเซี่ยน ต้องแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป อเมริกา และด้วยการริเริ่มแนวคิดการค้าเสรี โลกที่ไร้พรมแดน สิ่งเหล่านี้บางอย่างก็เป็นอันตราย
" ถ้าประเทศหนึ่งพยายามที่จะปกป้องกันตัวเอง มันก็ไม่แข็งแรงพอ แต่ถ้าอาเซี่ยนร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ประชาชนก็จะอยู่รอดได้ มันจะทำให้อาเซี่ยนสามารถทำงานกับประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ อย่าง ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ได้ และก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเรา"
เขายังให้ความเห็นถึงสถานการณ์อาเซี่ยนในขณะนี้ว่า อาเซี่ยนยังไม่มีความเข้มแข็งพอ ในทางเศรษฐกิจ อาเซี่ยนยังพัฒนาไม่เท่าทันประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้ว มีความร่ำรวย พวกเขามีเทคโนโลยีต่างๆ ถ้าเราเปิดตลาดกับพวกเขามากขึ้น เราจะพบว่า พวกเขาสามารถหาประโยชน์จากเราได้ แต่เราไม่สามารถหาประโยชน์จากพวกเขาได้เลย เพราะทั้งในด้านเทคโนโลยี ทั้งเงินทุน เราไม่มีความสามารถทำให้เข้มแข็งได้ในประเทศของพวกเขา เหมือนอย่างที่พวกเขาสามารถเข้มแข็งได้ในประเทศของเรา
อดีตผู้นำมาเลเซีย ยังบอกว่า แม้ว่าอาเซี่ยนจะมีกฎบัตรอาเซี่ยน เพื่อที่จะจัดการกับปัญหา แต่แนวคิดของตะวันตก คือ ถ้าคุณมีปัญหาอย่างนี้ คุณก็ควรจะลงโทษประชาชนเหล่านั้น เช่น ทำการคว่ำบาตร ทำให้พวกเขายากจน ให้พวกเขาทนทุกข์ เพื่อพวกเขาจะได้ร้องขอ นั่นไม่ใช่ อาเซี่ยนที่แท้จริง
ดร.มหาธีร์ บอกว่า อาเซี่ยนจะไม่เที่ยวไปบอกคนอื่นว่า พวกเขาควรทำอะไรในบ้านของพวกเขาเอง เราสามารถพูดได้ว่า สิ่งนั้นไม่ดี แต่ตะวันตก จะใช้มาตรการคว่ำบาตร ลงโทษประชาชน ซึ่งไม่ใช่ผู้นำ แต่ประชาชนต้องทุกข์ทรมาน และหวังว่าพวกเขาจะกดดันรัฐบาลของพวกเขา เพื่อเปลี่ยนแปลงแต่ประชาชนไม่สามารถทำได้ พวกเขาหวาดกลัวรัฐบาล ดังนั้น คนอื่นๆ จึงไม่ควรสร้างความกดดันให้แก่พวกเขา แต่ควรพยายามชักจูงพวกเขา
" คนจะมีเสรีภาพและยากจนก็ได้ จากนั้นคุณก็จะเห็นว่า โอ...ฉันมีอิสระ ฉันจะดูอะไรที่อยากดูก็ได้ ฉันจะเดินกับใครก็ได้ " อดีตผู้นำมาเลเซียวัย 84 ปี ให้ความเห็นต่อว่า
ถ้าจะพัฒนาประเทศ มันอาจจะต้องมีข้อจำกัดบางอย่าง เพราะเสรีภาพของคนคนหนึ่ง อาจหมายถึงการสูญเสียเสรีภาพของคนอีกคนหนึ่ง หรือของสังคมก็ได้ คนคนหนึ่งอยากจะทำเรื่องตลกบางอย่างบนท้องถนน แต่คนจำนวนมากไม่สามารถทำธุรกิจของพวกเขาได้
เพราะฉะนั้น เราจึงต้องคิดถึงคนส่วนใหญ่ เรามีการชุมนุมประท้วงกันในเมือง แล้วคนที่กำลังทำธุรกิจของพวกเขาในเมืองก็ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ พวกเขาบางคนยากจนมาก มันจึงไม่ยุติธรรมต่อพวกเขา
ภาคใต้ของไทยยังล้าหลังอยู่มาก
ไม่เพียงแต่เขาจะมีบทบาทในเฉพาะมาเลเซียเท่านั้น แต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดร.มหาธีร์ ยังคงมีบทบาทต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ของประเทศไทย และบ่อยครั้งที่เขาแสดงบทบาทและทัศนะต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน
" ครั้งหนึ่งผมเคยแนะนำบางอย่างไป แต่คุณทักษิน (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) โกรธผมมาก ผมพูดถึงเรื่องเขตปกครองตนเอง แต่ประเทศไทย ไม่ต้องการให้มีเขตปกครองตนเอง"
ดร.มหาธีร์ ยกตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งว่ามีหลายกรณีเช่น ใน อินโดนีเซีย พวกเขาให้เอกราชในการปกครองตนเองอาเจ๊ะห์ เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย วิธีนั้น คนในท้องถิ่นจะรู้สึกว่า พวกเขามีความสามารถในเรื่องของพวกเขาเอง บางทีอาจจะมีทางแก้ปัญหา แต่ผมก็แค่พูดเท่านั้น ไม่ได้เจตนาทำให้รัฐบาลของคุณขุ่นเคืองใจ
อย่างไรก็ตาม ดร.มหาธีร์ ยังให้ความเห็นถึงแนวทางการทำงานและการแก้ปัญหาว่า การใช้งบประมาณลงไปพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพของคน เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งเขาให้ความเห็นเพิ่มว่า ในสายตาเขายังมองว่า ในภาคใต้ยังล้าหลังอยู่มาก ทั้งเรื่องการศึกษาก็ขาดแคลน พวกเขาไม่มีความรู้ความสามารถ มันจึงยังต้องใช้เวลานาน กว่าที่พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลนำมาใช้
" ครั้งหนึ่งผมได้คุยกับประชาชนในภาคใต้ และพยายามที่จะบอกกับพวกเขาว่า พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนพื้นเมืองเพียงหนึ่งกลุ่ม มันมีหลายๆ กลุ่ม นี่คือปัญหา กลุ่มหนึ่งอาจเห็นด้วย แต่กลุ่มอื่นๆ อาจปฏิเสธ ดังนั้นผมคิดว่าเป็นการดี เพราะคุณอานันต์ (อานันต์ ปัญญารชุณ) เชิญให้ผมแสดงบทบาท ผมก็ได้พยายามแต่ก็ไม่สำเร็จ"
ดร.มหาธีร์ บอกว่า เขาได้คุยกับคนหลายๆกลุ่ม แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ดังนั้นพวกเขามีแนวคิดของตัวเองในสิ่งที่พวกเขาควรจะทำ แต่มันทำไม่ได้ แต่กระนั้นเขามองว่า ปัญหาชายแดนใต้ เป็นเรื่องภายในประเทศของไทยที่รัฐบาลไทยจะต้องแก้ไขเอง
ด้วยบริบทการทำงานและวิสัยทัศน์ของเขา หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เพียงแต่จะเป็นอดีตผู้นำมาเลย์ที่มากด้วยบารมีเท่านั้น แต่ "ดร.มหาธีร์ โมฮัมมัด" ยังเป็นเบอร์หนึ่ง และเป็นตำนานผู้นำอาเซี่ยน ที่ยังหาผู้นำคนอื่นเทียบชั้นได้ทีเดียว
ภาพโดย :น้ำเพชร วรกานนท์