ของฝากโต๊ะอิหม่ามทั่วประเทศ : อย่าให้คนทั่วไปหมดศรัทธาองค์กรศาสนา
โดย : อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา กรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
วันที่ 24 พ.ย.2554 นี้กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใหม่ ทำให้หลายจังหวัดโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา มีการเดินสายของว่าที่ผู้เสนอตัวเป็นประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เดินสายพบแนะนำตัวต่อโต๊ะอิหม่ามผู้ซึ่งมีสิทะิลงคะแนนในวันดังกล่าว
การเดินสายดังกล่าวทำให้ประชาชนตามร้านนำ้ชาหรือตามสื่ออินเตอร์เน็ต เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากผู้เสนอตัวเริ่มใช้วิธีนักการเมืองซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติกอร์ปกับคนของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือประชาธิปปัตย์และเพื่อไทย ได้เข้ามาร่วมในเกมส์การคัดเลือกครั้งนี้ด้วย
ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง จึงขอเสนอแนวทางการสรรหากรรมการอิสลาม(ขอใช้คำว่าสรรหามากกว่าคัดเลือก)ที่สามารถบูรณาการกับหลักการชูรอตามทัศนะอิสลามกับกระบวนการคัดเลือกตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. ๒๕๔๐ ให้กับบรรดาโต๊ะอิหม่ามทั่วประเทศ ใช้ประกอบการสรรหาผู้นำของท่านในประเด็นดังนี้
๑. กระบวนการชูรอตามทัศนะอิสลาม
ความหมายของชูรอ: คำว่า ชูรอ เป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำเต็มว่า อัช-ชูรอ (al-Shura) ในหลักภาษาอาหรับ เป็นคำมัสดัร ซึ่งแปลว่า การปรึกษาหารือ ดังที่อัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอฺาลา) ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน
وأمرهم شورى بينهم ความว่า และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา (อัชชูรอ:๓๘ )
สำหรับความหมายทางด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง การประชุมหรือปรึกษาหารือตามรูปแบบอิสลามจนได้ข้อสรุปหรือมติเพื่อนำไปปฏิบัติ
หลักฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนศาสดา
ก.หลักฐานจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
จากการศึกษาอัลกุรอ่าน พบว่ามีการกล่าวถึง ชูรอไว้สองส่วนด้วยกันคือ ในสมัยท่านศาสดามูฮัมหมัดและก่อนจากท่าน สำหรับในสมัยของท่านศาสดานั้นคัมภีร์อัลกุรอานได้บัญญัติไว้สามโองการด้วยกัน กล่าวคือในซูเราะห์อัลบากอเราะฮฺ โองการที่ ๒๓๓ ซูเราะห์อาลิอิมรอนโองการที่ ๑๕๙ และในซูเราะห์ อัชชูรอ โองการที่ ๓๘
ในซูเราะห์อัลบากอเราะฮฺ โองการที่ ๒๓๓ . فإن أرادا فصالاً عن تراضٍ منهما وتشاور فلا جناح عليهما ความว่า แต่ถ้าทั้งสองต้องการหย่านม อันจากการพอใจและการปรึกษาหารือกันจากทั้งสองแล้ว ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่เขาทั้งสอง
ในโองการนี้เป็นการแสดงให้เห็นความสำคัญของการปรึกษาหารือ แม้กระทั่งชีวิตในครอบครัว ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาหารือระหว่างสามีภรรยาในการดูแลบุตรแม้กระทั่งการให้นม
ในซูเราะห์อาลิอิมรอนโองการที่ ๑๕๙ อัลลอฮฺ ( ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ตรัสไว้
وشاورهم في الأمر ความว่า และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย...
นักปราชญ์มุสลิมได้อธิบายข้อสังเกตในโองการนี้ดังนี้
๑. คำว่าชูรอในโองการนี้เป็นคำกริยาที่บ่งบอกถึงคำสั่งใช้ให้ปฏิบัติ
๒. โองการนี้มาจากโองการมะดะนียะฮฺ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบทบัญญัติให้ปฏิบัติและสั่งห้ามในสิ่งต่างๆซึ่งต่างจากโองการมักกียะฮฺ ที่จะกล่าวถึงหลักศรัทธา
๓. การชูรอเป็นบทบัญญัติตามศาสนบัญญัติที่มีเป้าหมายเพื่อจะเสริมสร้างความปึกแผ่นและความสามัคคี อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการงานที่ได้มีมติไว้ในที่ประชุมที่สำคัญเป็นแบบอย่างของท่าน ศาสดา
ในขณะที่ในซูเราะห์ อัชชูรอ โองการที่ ๓๘ อัลลอฮฺ( ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ตรัสไว้
وأمرهم شورى بينهم ความว่า และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือกันระหว่างพวกเขา
นักปราชญ์มุสลิมได้อธิบายข้อสังเกตในโองการนี้ดังนี้
๑.คำว่า ”ชูรอ” ในโองการนี้เป็นคำมัสดัร (อาการนาม)
๒. โองการนี้มาจากโองการมักกียะฮฺ ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญที่กล่าวถึงความศรัทธาของมุสลิมที่ดีเพราะ
มุสลิมที่ศรัทธานั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการชูรอและเป็นการบ่งบอกถึงการชูรอนั้นมีมาก่อนที่ท่านศาสดาจะอพยพไปสู่มาดีนะฮฺเสียอีก
๓.ที่สำคัญอัลลอฮฺ( ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ตั้งชื่อโองการนี้ว่า ซูเราะห์อัชชูรอ เป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของการชูรอ
คำว่า ”ชูรอ” ไม่เพียงแต่มีขึ้นในสมัยท่านศาสดาเท่านั้น จากการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพบว่า อัลลอฮฺ ( ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ตรัสไว้ในสองแห่งด้วยกันกล่าวคือ ในซูเราะห์ฏอฮาโองการที่ ๓๒ และในซูเราะห์ อันนัมลฺ โองการที่ ๓๒
ในซูเราะห์ฏอฮา โองการที่ ๓๒ อัลลลอฮฺ( ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ได้ตรัสไว้
وأشركه في أمري ความว่า และให้เขา(ศาสดาฮารูน) มีส่วนร่วมในกิจการของฉัน (ศาสดามูซา) ด้วย
คำว่า ”ส่วนร่วม” ในที่นี้หมายถึงการปรึกษาหารือ ดังนั้น นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน กล่าวว่า โองการนี้ได้แสดงถึงความสำคัญของการปรึกษาหารืออันเนื่องมาจากศาสดามูซาได้ขอพรจากพระเจ้าให้ศาสดาฮารูนซึ่งเป็นน้องชายของพระองค์ให้ช่วยได้เป็นที่ปรึกษาในกิจการงานต่างๆ
ในซูเราะห์ อันนัมลฺ โองการที่ ๓๒
قالت يأيها الملأ أفتوني في أمري ما كنت قاطعة امرأً حتى تشهدون ความว่า พระนาง (พระราชินีบิลกีส ซึ่งปกครองเมืองสะบะ) ทรงกล่าวว่า โอ้หมู่บริพารทั้งหลาย จงให้ข้อชี้ขาดแก่ฉันในเรื่องของฉัน ฉันมิอาจตัดสินในกิจการใดๆ จนกว่าท่านจะอยู่ร่วมด้วย
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้ให้ความหมายของคำว่า “ข้อชี้ขาด” ในที่นี้หมายถึงการขอคำปรึกษาหารือซึ่งพระราชินีบิลกีสปกครองเมืองสะบะได้ขอให้คำปรึกษาจากข้าราชบริพารของนางซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๑๓ คน ก่อนตัดสินใจ
ข.หลักฐานจากวัจนศาสดา
ท่านศาสดาทรงเป็นแบบอย่างของการปรึกษาหารือซึ่งอัครสาวกของท่านออกมายอมรับ เช่น อบูฮูรอยเราะฮฺกล่าวไว้
لم يكن أحد أكثر مشورة لأصحابه من رسول الله صلى الله عليه وسلم ความว่า “ไม่มีใครที่จะปรึกษาหารือกับสาวกของเขามากกว่าท่านศาสดา ศ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม” มุสนัดอิหม่ามอะหมัด ๔/ ๓๒๘
ศาสดามีการดำเนินการชูรอก่อนทำสงครามทั้งสงครามบัดรและอุฮุดว่าจะตั้งรับในเมือง หรือจะออกไปนอกเมือง ในขณะเดียวกันเมื่อทำสนธิสัญญาฮุดัยบียะห์ ท่านได้ดำเนินการปรึกษาหารือกับอัครสาวกอะลีและอุซามะห์ กรณีที่เจ้ากรมข่าวลือกล่าวหาพระนางอาอิซะห์ ท่านได้รับฟังข้อคิดเห็นของท่านทั้งสอง จนอัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา จึงได้มีการเฆี่ยนเจ้ากรมข่าวลือทั้งสองคน โดยท่านมิได้สนใจข้อถกเถียงต่างๆ แต่เมื่อมีข้อตัดสินจากอัลลอฮฺท่านก็ได้ตัดสินไปตามคำสั่งของพระองค์
ชูรอในสมัยอัครสาวกของท่านศาสดา
บรรดานักปราชญ์อิสลามต่างมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า อัครสาวกของท่านศาสดาให้ความสำคัญกับกระบวนการชูรอไม่ว่าจะเป็นท่านอบูบักร หรือ อุมัร ดั่งคำกล่าวของมัยมูน บินมะหรอนกล่าวไว้ความว่า เมื่อท่านอบูบักร์จะตัดสินปัญหาใด ท่านจะกลับไปดูพระดำรัสของอัลลอฮฺ หากไม่พบก็จะกลับไปดูวัจนศาสดา หากยังไม่พบท่านจะถามประชาราษฎร์ของท่านว่ามีผู้ใดพบปัญหาดังกล่าว มีระบุไว้จาก วัจนศาสดา หากท่านศาสดาเคยบัญญัติท่านจะตัดสินตามที่ศาสดาได้ตัดสิน แต่หากยังไม่พบท่านจะเรียกบรรดาผู้นำต่างๆมาปรึกษาเพื่อตัดสินในปัญหาข้างต้นและท่านจะยอมรับในมติของที่ประชุมให้ช่วยตัดสินผู้คน…เช่นเดียวกับท่านอุมัร และยังมีอีกหลายสายรายงานและเป็นที่ยอมรับของนักปราชญ์อิสลามว่าท่านทั้งสองได้ใช้กระบวนการชูรอในหลายเหตุการณ์ไม่ว่าเป็นด้านการเมือง การสงคราม เศรษฐกิจและสังคมในสมัยการปกครองของท่าน
บทบัญญัติชูรอตามทัศนะนักปราชญ์อิสลาม
นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลามมีความคิดเห็นแตกต่างกันสองทัศนะเกี่ยวกับบทบัญญัติชูรอ
หนึ่ง : การชูรอนั้นเป็นบทบัญญัติที่ถูกสนับสนุน(สุนัต )ให้ผู้ปกครองควรกระทำมิได้บังคับ ดั่งที่อิหม่ามอิบนฺกะษีร กล่าวว่า นักนิติศาสตร์อิสลามบางท่านมีทัศนะว่าการชูรอนั้นเป็นสุนัตสำหรับผู้ปกครอง ดั่งที่ท่านศาสดาได้เคยปรึกษาหารืออัครสาวกของท่าน
สอง : การชูรอนั้นเป็นหน้าทีของผู้ปกครองต้องปฏิบัติ (วาญิบ ) ปราชญ์อิสลามส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอิหม่ามกุรฏูบีย์ อิหม่ามเชากานีย์ มะหมูด ชัลตูด มูฮัมมัด รอชิด ริฎอ มีทัศนะว่าเป็นหน้าที่(วาญิบ)ของผู้ปกครองจะต้องมีกระบวนการชูรออย่างไรก็ตามจะมีคำถามว่า ในเมื่อกระบวนการชูรอจำเป็นสำหรับผู้ปกครองมุสลิมแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ผู้นำมุสลิมจะต้องปฏิบัติตามมติอันเนื่องมาจากผลของการชูรอ
สำหรับเรื่องนี้ปราชญ์อิสลามมีความคิดเห็นแตกต่างกันดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลามส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่ผู้นำจะต้องปฏิบัติตามมติของกระบวนการชูรออันเนื่องจากไม่มีหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนศาสดาอีกทั้งหลายครั้งท่านศาสดาและอัครสาวกของท่านใช้กระบวนการชูรอแต่ท่านเหลานั้นมิได้ปฏิบัติตาม
ทัศนะที่สอง นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลามอีกส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า จำเป็นที่ผู้นำจะต้องปฏิบัติตามมติของกระบวนการชูรอยกเว้นบางกรณีที่จำเป็นเท่านั้นอันเนื่องมาจากท่านศาสดาและอัครสาวกของท่านส่วนใหญ่จะปฏิบัติมติของการชูรอถึงแม้จะมีบางบางครั้งที่ท่านไม่ปฏิบัติตาม
ทัศนะที่สาม นักปราชญ์ด้านนิติศาสตร์อิสลามอีกส่วนหนึ่งมีทัศนะว่า จำเป็นที่ผู้นำจะต้องปฏิบัติตามมติของกระบวนการชูรอ ยกเว้นท่านศาสดาเพราะหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรอานในโองการชูรอ โองการที่ ๓๘ นั้นยกเว้นท่านศาสดา เพราะท่านเป็นศาสนทูตของพระเจ้าที่ทุกคนต้องปฏิบัตติตามท่าน แต่สำหรับคนอื่นที่เป็นผู้นำไม่มีข้อยกเว้น
หัวข้อต่างๆ ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการชูรอ
ตามทัศนะอิสลามแล้ว ไม่ใช่ทุกหัวข้อเรื่องสามารถเข้าสู่กระบวนการชูรอ หากพิจารณาประวัติศาสตร์พบว่าท่านศาสดาจะทำการชูรอส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องการสงคราม และไม่มีครั้งใดเลยท่านใช้กระบวนการชูรอในเรื่องบทบัญญัติทางด้านศาสนาที่ได้รับบัญชาจากพระเจ้า ในขณะที่บรรดาอัครสาวกของท่านเช่นอบูบักร์ ก็เช่นกันได้ใช้กระบวนชูรอกับบรรดาแกนนำอัครสาวกต่างๆในการบริหารบ้านเมืองเช่นการทำสงครามกับผู้ที่ขัดคำสั่งต่อพระเจ้าอันจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐอิสลาม
ในขณะที่อัครสาวกท่านศาสดาจากชาวมุฮาญีรีน และอันศอร จำนวนหลายร้อยคนใช้กระบวนการชูรอคัดเลือก อบูบักร์ เป็นผู้นำศาสนาอิสลามหลังจากท่านศาสดาเสียชีวิต ในขณะเดียวกันการคัดเลือกอุมัร อุสมานและอลีก็ใช้กระบวนการชูรอในการคัดเลือกเพียงต่างรูปแบบตามยุคตามสมัย และไม่มีการใช้กระบวนการชูรอในเรื่องบทบัญญัติศาสนาที่มีความหมายชัดเจนที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานหรือวัจนศาสดา นอกจากเรื่องดังกล่าวจำเป็นจะต้องตีความ อรรถาธิบายโดยกระบวนการชูรอของเหล่าบรรดาผู้รู้ในการตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ระบบชูรอในอิสลาม
มักจะมีคำถามว่า ในอิสลาม ได้วางระบบชูรอที่ตายตัวแน่นอนหรือไม่ คำตอบก็คือในอิสลามมิได้วางระบบตายตัวเกี่ยวกับระบบชูรอ เพียงแต่ศาสนาอิสลามได้วางหลักการกว้างๆเกี่ยวกับระบบชูรอเพื่อให้สามารถปรับปรนให้เข้าได้กับทุกเวลาและสถานการณ์ ในสมัยท่านศาสดามูฮัมหมัดในขณะที่ชุมชนมุสลิมยังเป็นชุมชนเล็กๆ มีมัสยิดนบาวีย์ ที่เมืองมะดีนะฮ์เป็นศูนย์บริหารกิจการอิสลาม ท่านใช้กระบวนการชูรอในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติทางศาสนากับอัครสาวกของท่านเท่าที่จำเป็นดังที่ผู้เคยมาแล้วและยังไม่ได้วางระบบเป็นคณะกรรมการสภาชูรอและในสมัยอัครสาวกก็เช่นกัน
เป้าหมายของกระบวนการชูรอ
ระบบการบริหารจัดการของแต่ละยุคแต่ละสมัยอาจจะแตกต่างกันและตามทัศนะของอิสลามยังไม่มีความสำคัญเท่าเป้าหมายที่แท้จริงของการใช้กระบวนการชูรอซึ่งศาสนาอิสลามได้ให้ความสำคัญ โดยที่กระบวนการชูรอจะต้องมีเป้าหมายดังนี้
๑. จะต้องดำเนินการชูรอด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง
๒. สนองประโยชน์ส่วนรวม ปฏิเสธประโยชน์ส่วนตน กลุ่มตนหรือเผ่าพันธุ์ของตน
๓. ต้องปราศจากการพูดโกหก สับปรับ หลอกลวงและมีคุณธรรมสูงส่งในการดำเนินการชูรอ เพราะการดำเนินการชูรอเปรียบเสมือน อามานะฮ์
๔. ให้เกียรติผู้เข้าร่วมประชุมและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นถึงแม้จะไม่ชอบใจ
๕. ยอมรับมติที่ประชุมหรือเสียงข้างมากถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยแต่จะต้องไม่ค้านหลักการศาสนา
คณะกรรมการชูรอ
เมื่อศึกษาอัลกุรอานและวัจนศาสดาไม่พบว่า มีโองการและวัจนศาสดาใดที่กำหนดตายตัวเกี่ยวคุณสมบัติคณะกรรมการชูรอและเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามจะพบว่าผู้นำอิสลามไม่ว่าศาสดาและอัครสาวกของท่านได้ใช้กระบวนการชูรอ หลากหลายรูปแบบและผู้คนที่แตกต่างกันตามเหตุการณ์ บางครั้งปรึกษากับคนเพียงคนเดียว บางครั้งสองคน บางครั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งที่มีสามคนขึ้นไปและบางครั้งใช้คนทั้งหมด บางครั้งใช้กระบวนชูรอกับสุภาพสตรีและบางครั้งใช้กับสุภาพบุรุษ ด้วยเหตุดังกล่าวนักปราญ์อิสลามจึงได้แบ่งภาระงานที่ต้องใช้กระบวนการชูรอออกเป็นสองภาระงานกล่าว คือ ภาระงานทั่วไปและภาระงานเฉพาะเจาะจง
สำหรับภาระงานทั่วไปเกี่ยวกับกับกิจการในสังคมมุสลิมทุกคนมีสิทธิในกระบวนการชูรอ โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นมุสลิม บรรลุศาสนภาวะ และมีสติสัมปชัญญะ
ในส่วนภาระงานเฉพาะเจาะจงนั้น คณะกรรมการดังกล่าวต้องมีคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความสามารถ ความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ตรงกับภาระงาน
สำหรับผู้นำสูงสุดของรัฐที่ปกครองด้วยระบบอิสลามมีคณะกรรมการชูรออีกชุดหนึ่งตามหลักนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า อะฮ์ลุลฮัลลิวัลอักด์ ( Ahl al-Hal wa al- Akd ) ซึ่งจะรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆที่เหมาะสมตามสถานการณ์และยุคสมัยในการตัดสินปัญหาต่างๆในการบริหารประเทศ
ความแตกต่างของกระบวนชูรอแบบอิสลามกับการประชุมที่มีการปรึกษาหารือตามกระบวนการประชาธิปไตย
จากการศึกษาหลักการศาสนาข้างต้น พบว่า การประชุมที่มีการปรึกษาหารือตามกระบวนการประชาธิปไตย หากมองอย่างผิวเผินจะใช้กระบวนการเช่นเดียวกับตามกระบวนทัศน์อิสลาม แต่ความจริงทั้งสองกระบวนการนี้มีความแตกต่างกันสามประเด็นด้วยกันกล่าวคือ
หนึ่ง กระบวนการชูรอ นั้น มีข้อแม้สำคัญคือ ต้องเป็นเรื่องที่ไม่มีตัวบทจากคัมภีร์อัลกุรอานและวัจนศาสดา ตัดสินอย่างชัดเจน และมตินั้นต้องไม่ขัดแย้งกับอัลกุรอาน ซุนนะห์นบี (วัจนศาสดา) มติปวงปราชญ์ และหลักการทั่วไปของอิสลาม สำหรับระบอบประชาธิปไตย จะเปิดกว้างในการประชุมที่มีการปรึกษาหารือทุกเรื่อง แม้จะล่วงละเมิดหลักการศาสนธรรมก็ตาม โดยจะถือเสียงข้างมากในที่ประชุมเป็นมติ บางทีก็เป็นมติให้กระทำสิ่งที่เป็นข้อห้ามของหลักศาสนธรรม เช่น มติให้มีการดื่มสุราและการล่วงประเวณีสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า ๒๐ ปี
สอง คณะกรรมการหรือผู้ร่วมกระบวนการชูรอหรือสมาชิกสภาจะต้องมีความยุติธรรม คุณธรรมและความรู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือกระบวนการมีส่วนร่วมดังกล่าว ส่วนสมาชิกสภาในระบอบประชาธิปไตยได้รวบรวมบุคคลที่ได้รับเลือกเข้ามาด้วยเสียงข้างมาก ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นผู้รู้หรือไม่ เป็นคนดีหรือคนร้าย บรรดาผู้คนเหล่านี้เมื่อประชุมในสภาไม่ว่าในเรื่องอะไรก็ต้องใช้เสียงของบรรดาผู้คนเหล่านี้เป็นมติการประชุม ซึ่งบางครั้งมติว่าสิ่งที่ตนเองเสนอ หรือลงมติไปนั้นจะขัดกับหลักศาสนธรรมหรือไม่
สาม ข้อเท็จจริงและความถูกต้องในระบบชูรอ ไม่ได้นับที่เสียงข้างมากของที่ประชุมเสมอไป แต่ต้องพิจารณากันที่หลักฐาน ซึ่งเป็นหลักการและพิจารณาว่าฐานแห่งศาสนธรรมว่าอย่างไร และที่สำคัญมตินั้นต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก ดังที่อัลลอฮ์ได้ดำรัสในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะห์อัลอันอาม โองการที่ ๑๑๖ ความว่า “และหากเจ้าเชื่อตามคนส่วนใหญ่บนแผ่นดิน(ที่ไม่รู้จริง)พวกนั้นก็จะทำให้เจ้าหลงทางของอัลลฮ์ได้” สำหรับระบบประชาธิปไตยด้วยเสียงส่วนใหญ่ก็จะพิจารณากันเองโดยไม่คำนึกว่าจะขัดกับหลักการศาสนาหรือไม่”
มารยาทและหลักปฏิบัติสำหรับผู้เข้าร่วมกระบวนการชูรอ
หนึ่ง มีความตั้งใจที่บริสุทธิ ดังที่ท่านศาสดาได้วัจนะไว้ความว่า “แท้จริงทุกกิจกรรมการงานขึ้นอยู่กับความตั้งใจ(ที่บริสุทธิ)”
สอง เปิดประชุมด้วยคัมภีร์อัลกุรอาน เช่น ซูเราะห์ฟาติหะฮ์ กล่าวสรรเสริญต่อพระเจ้าในข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ของตัวเอง
สาม ต้องให้เกียรติต่อข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนถึงแม้จะไม่เห็นด้วย
สี่ ขอบคุณผู้แสดงความคิดเห็นที่ดี ไม่ตำหนิผู้ที่แสดงความคิดเห็นที่ไม่ดี พร้อมให้คำแนะนำในที่ประชุมเพราะท่านศาสดาได้วัจนะไว้ความว่า “ศาสนาคือการตักเตือน หากตัวเองเสนอผิดพลาด หรือผิดมารยาทในการใช้กระบวนการชูรอให้กล่าวอิสติฆฟารฺ (ขอภัยโทษต่ออัลลอฮฺ) และขอโทษต่อสมากชิกชูรอที่เข้าประชุม”
ห้า ใช้กระบวนปรึกษาหารือในการนำไปสู่มติที่ประชุมโดยไม่ใช้วิธีการโต้วาที โต้ตอบหักล้างซึ่งกันและกันจนนำไปสู่การทะเลาะ
หก ปิดประชุมด้วยการอ่านอัลกุรอานโดยเฉพาะซูเราะห์อัลอัสรฺ ( al- Asr ) และดุอาปิดประชุม
๒. ข้อเสนอแนะในการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
1. ควรใช้กระบวนการชูรอในการสรรหา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
อันเนื่องมาจากการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้นอิหม่ามเป็นผู้มีสิทธิในการคัดเลือกตามตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ. ๒๕๔๐
ดังนั้นที่เป็นไปได้ ณ ขณะนี้(เท่าที่เป็นไปได้) ให้ถือว่าอิหม่ามเป็น สภาชูรอในการสรรหากรรมการ
2. อิหม่ามควรนำเสนอคุณสมบัติคณะกรรมการก่อนการเสนอชื่อก่อนจะตัดสินใจคัดเลือกกรรมการ
ในหลักการชูรอที่ได้ศึกษาจากหลักการพบว่าหลักการศาสนาจะกำหนดคุณสมบัติก่อนการเสนอผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้นำ ดังนั้นอิหม่าหามควรจะนำเสนอคุณสมบัติที่เหมาะสมในนามคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนอกเหนือจากคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด นำเสนอที่ประชุมก่อน หลังจากนั้นช่วยกันนำเสนอบุคคลต่างๆเข้ามาพิจารณา แต่คุณสมบัติหลักที่ศาสนากำหนดคือมีคุณธรรมเป็นที่ประจักษ์ มีความรู้ ความสามารถในหน้าที่หลักตามกฎหมาย และหน้าที่รับผิดชอบในฝ่ายต่างๆ(ที่จะได้รับมอบหมาย) ความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ตรงกับภาระงาน
ในขณะเดียวกันอิหม่ามไม่ควรเลือกบุคคลที่เสนอตัวเองยากเป็นกรรมการอิสลามเพราะท่านศาสดา ห้ามเลือกบุคคลที่เสนอตัวเองเป็นผู้นำ
3. หากมีผู้มีคุณสมบัติตามข้อที่2 เกินจำนวนกรรมการที่กำหนดจึงควรลงคะแนนเสียง
4. ยอมรับมติของกระบวนการชูรอ
ผลของการประชุมปรึกษาหารือหรือชูรอในการสรรหาคณะกรรมการอิสลามทุกคนเมื่อเป็นมติทุกคนต้องยอมรับถึงแม้ไม่ตรงกับใจบางคนแล้วทุกคนต้อง บัยอะฮ์ (ให้คำสัตยาบัญ) และปฏิบัติตาม(ตราบใดที่ไม่ผิดหลักศาสนา) เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ดังนี้
لا طَاعَةَ لِمَخْلُوْقٍ في مَعْصِيَةِ الخَالِقِ ความว่า “ไม่มีการเชื่อฟังใดๆต่อมนุษย์ในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนพระผู้ทรงสร้างมนุษย์” แต่มิได้หมายความว่าอิหม่ามหรือประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการอิสลาม
มุสลิมสามารถตั้งระบบในการตรวจสอบและไต่สวนพฤติกรรมของผู้ปกครอง โดยให้ชรีอะฮฺเป็นกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานในการตรวจสอบนั้น ในอดีตของประชาชาติอิสลาม ผู้มีอำนาจตรวจสอบสูงสุดคือศาลชรีอะฮฺ ซึ่งอำนาจของศาลชรีอะฮฺสามารถไต่สวนและตัดสินต่อผู้นำสูงสุดของประเทศ(คือคอ ลีฟะฮฺ)ได้ และในประวัติศาสตร์ของบรรดากอฎี(ดาโต๊ะหรือผู้พิพากษา)ก็ปรากฏตัวอย่างมาก มายที่คอลีฟะฮฺหรือผู้นำสูงสุดเป็นคู่กรณีกับประชาชนทั่วไป ซึ่งทั้งสองฝ่ายยืนต่อหน้าผู้พิพากษาอย่างเสมอภาค และในตำรานิติศาสตร์อิสลามก็มีการระบุมารยาทของผู้พิพากษาต่อจำเลยและโจทก์ ที่ให้มีความยุติธรรมแม้กระทั่งในถ้อยคำและการมองหน้าทั้งสองฝ่าย ดังที่มีสุภาษิตในวงผู้พิพากษาคือ “อัลอัดลุ ฟิลลัฟซิ วัลละฮฺซิ” หมายถึง “ยุติธรรมตอนพูดและตอนมอง” นี่คือรายละเอียดเล็กน้อยที่จะบ่งถึงความแตกต่างระหว่างระบอบอิสลามและระบอบ ประชาธิปไตยในการรับรองความเข้มแข็งของผู้ปกครองให้เป็นผู้ปกครองที่มี อุดมการณ์ทางคุณธรรมและความยุติธรรม
สรุป ถึงแม้กฎหมายกำหนดให้อิหม่ามคัดเลือกกรรมการอิสลามในวันที่ 24 พ.ย.2554 นี้แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามอิหม่ามในการใช้กระบวนการชูรอในการสรรหาผู้นำหรือตัวแทนของท่าน
ได้โปรดเถอะโต๊ะอิหม่าม…. ได้โปรดเถอะโต๊ะครูที่กำลังเป็นเหยื่อนักการเมือง… อย่าให้คนทั่วไปหมดศรัทธาองค์กรศาสนา