โดย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ
ตามที่ กยศ. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงวิกฤติโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 เป็นการช่วยเหลือเพียงผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้คืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี ผ่อนชำระหนี้โดยให้ทำการปรับโครงสร้าง มีเงื่อนไขการขยายระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี บริบูรณ์ และเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดชำระ เบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น ตามลำดับ ให้เปลี่ยนเป็น เงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ โดยระหว่างที่ลูกหนี้ทำการผ่อนชำระ หากลูกหนี้สามารถชำระเงินต้นได้ครบตามสัญญาที่ตกลงไว้ในงวดสุดท้ายจะลดเบี้ยปรับให้
แต่ลูกหนี้ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในชั้นบังคับคดีและอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆลูกหนี้กลุ่มนี้มีประมาณ 1.2 ล้านราย หรือ คิดเป็น 54% ของผู้กู้ทั้งหมด โดย กยศ. อ้างว่าลูกหนี้ต้องผูกพันธ์ตามคำพิพากษาแล้วจึงช่วยไม่ได้นั้น เห็นว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ต้องได้รับสิทธิ์การช่วยเหลือเช่นกันไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และ “การบังคับหนี้นั้นเป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ยินยอมผ่อนปรนก็สามารถกระทำได้” ดังเช่น กรณีที่มีการลดหย่อนไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เป็นต้น
จากวิกฤติการผลกระทบจากโควิด 19 ที่เริ่มปลายปี 2562 และต้นปี 2563 ส่งผลต่อเนื่องติดต่อมาถึงปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่มีท่าทีจะคืนสู่ปกติ ทำให้นักเรียน นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. ที่จบใหม่จะหางานทำไม่ได้ จะได้รับความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น จึงมีข้อเสนอรัฐบาล ให้พักการชำระหนี้ พักดอกเบี้ย และยกเลิกเบี้ยปรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม รวมทั้งลูกหนี้ประมาณ 1.2 ล้านรายเศษที่ถูกฟ้องคดี-บังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดด้วย จนกว่าสถานการณ์และสภาพสังคมจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 สู่ภาวะปกติ
รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ให้สอดคล้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกองทุนฯ ที่ต้องการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนให้ได้มีการศึกษาที่ทัดเทียม เพื่อมาพัฒนาประเทศชาติ และหลักสิทธิมนุษยชนเรื่องการศึกษาที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพให้คนทุกคนแบบให้เปล่าเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังคำกล่าวที่ว่า “การศึกษา สร้างคน คนสร้างชาติ”
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 เป็นกองทุนที่รวมสินทรัพย์ 349,521 ล้านบาทเศษ ในรอบปี 2563 มีค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 11,813 ล้านบาทเศษ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการระงับหนี้และหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 10,084 ล้านบาทเศษ
จากการตรวจสอบทราบว่า กยศ. ได้ใช้จ่ายเงินกองทุนว่าจ้างสำนักทนายความฟ้องหรือ ดำเนินคดีและบังคับคดีกับผู้กู้ กยศ. แยกเป็น
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี คดีละ 5,500 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 8,250 ล้านบาท
- ค่าบริหารจัดการคดีละประมาณ 1,200 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,800 ล้านบาท
-ค่าใช้บังคับคดีนี้มีค่าใช้จ่ายประมาณคดีละ 8,750 บาท รวมเป็นจำนวนเงินประมาณ 4,702 ล้านบาท
ผู้กู้ยืมก่อน กยศ ออกมาตรการ 22 มิถุนายน 2564 มีระยะเวลาจ่ายคืน 15 ปี โดยเริ่มจ่ายคืน 2 ปีหลังจากจบการศึกษา และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เดิมอยู่ที่ 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี
แม้ กยศ. จะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ที่เพียง 1% ต่อปี (ตาม พ.ร.บ.กยศ. ปี 2560 สามารถคิดได้ไม่เกิน 7.5%) ลำดับการชำระหนี้ คือ ชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยตามสัญญา และชำระเงินต้นกู้ยืม ทำให้เมื่อลูกหนี้มีการค้างชำระหลายงวด เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และดอกเบี้ยเงินกู้ยืมก่อน โดยไม่ตัดถึงเงินต้นเลย หลายงวดเข้าเมื่อลูกหนี้ไม่เห็นความคืบหน้ามีความท้อถอยจะเลิกจ่าย จะเห็นจากคำฟ้องของ กยศ. ต่อลูกหนี้ จะมีเบี้ยปรับสูงกับเงินต้น เช่น มียอดสูงถึง 500,000 - 600,000 บาท ทั้งที่ลูกหนี้ได้ชำระเงินเข้าไปในกองทุนฯ แต่เงินต้นแทบไม่ลดเลย
จากข้อมูลการบังคับคดี พบว่าได้มีการยึดทรัพย์-อายัดทรัพย์แล้ว จำนวน 59,642 คดี รวมเงินต้นที่กู้ ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ประมาณ 6,815 ล้านบาทเศษ แต่กรมบังคับคดีได้ยึดทรัพย์และมีทรัพย์ขายทอดตลาดจริงเพียง จำนวน 2,657 คดี คิดเป็นจำนวนเงินที่ได้คืนมาจริงเพียง 218 ล้านบาทเท่านั้น เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากมายขนาดนี้ แต่กลับได้เงินคืนมาเพียงเท่านี้ เงินค่าจ้างทนายดำเนินคดีที่ว่าจ้าง เป็นเงินในกองทุน กยศ. มาจากภาษีอากรของประชาชน ถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”
ตาม พรบ. กยศ. พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ได้แก้ไขยกเลิก พรบ. กยศ. พ.ศ.2541 เดิม พบว่า เปลี่ยนแปลงหลักคิดและปรัชญาที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาแต่เดิม “มุ่งเชิงพาณิชย์และธุรกิจมากขึ้น” อาทิ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 เป็น ร้อยละ 7.5 ได้ให้ อำนาจนายจ้างดำเนินการหักเงินเดือนจากลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ.ได้เมื่อกองทุนได้แจ้งไป ให้อำนาจ กยศ. เข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของลูกหนี้ได้ และกองทุน กยศ. มี “บุริมสิทธิ” คือ หลังจากหักไปจ่ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม แล้ว ต้องจ่ายหนี้ กยศ. ก่อน เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น
พรรคการประชาชาติ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่....) เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.กยศ. พ.ศ.2561 (เมื่อ สิงหาคม 2563) ตามร่างที่แนบมา เสนอแก้ไข การกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย ชำระคืนเฉพาะเงินต้น ไม่มีเบี้ยปรับ ผู้ไม่มีเงินชำระสามารถทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ย ผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาคณะหรือสาขาที่รัฐ(กระทรวงศึกษา)กำหนดให้แปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทนและไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระดังกล่าวคืน
กรณีผู้กู้ยืมสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยม ให้แปลงหนี้เพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเป็นทุนการศึกษาแทนและไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาอื่น ที่ศาลได้พิพากษาก่อน พรบ. ใช้บังคับ จะได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุน และเมื่อปรับปรุงแล้วให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงผู้ค้ำประกันด้วย เพื่อความยุติธรรมด้านการศึกษา ที่การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้การพัฒนาความรู้ บุคลิกภาพและความสำนึกอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างบริบูรณ์