การเตรียมพร้อมทางเศรษฐกิจ
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ
ไทยอาจโดนมรสุมทางเศรษฐกิจกระหน่ำหนักสุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด และการตั้งความหวังว่ารัฐบาลนี้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ เป็นการตั้งความหวังที่เหมือนรอปีกงอกจากสุนัข
สิ่งที่ประชาชน (โดยเฉพาะมุสลิม) ต้องคิดต้องทำคือการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด แทนการรอเงินที่รัฐบาลไปกู้มาหว่านโปรยให้ โดยสังคมชุมชนไม่มีผลผลิตอะไรเพิ่มขึ้นเลย
สังคมมุสลิมมีต้นทุนทางเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองมากกว่าสังคมอื่น ๆ เพราะบัญญัติพื้นฐานของอิสลามมีเรื่องการจัดการซากาตอยู่ด้วย ซากาตซึ่งเป็นบัญญัติพื้นฐานข้อที่ 3 ที่ผู้ศรัทธาต้องน้อมปฏิบัติด้วยดี การน้อมนำหลักการซากาตมาปฏิบัติอย่างเข้าใจ จะช่วยให้สังคมมุสลิมก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจได้
แต่ที่ผ่านมา ซากาต ไม่สามารถแสดงบทบาทได้ด้วยอุปสรรคใหญ่ 2 ประการ
1.ผู้นำองค์กรมุสลิมไม่มีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง
2. ประชาชนเองไม่มีความเข้าใจเรื่องซากาตดีพอ มีความเป็นปัจเจกสูงและมองซากาตว่าเป็นเพียงการบริจาคทานธรรมดาของบุคคล มิใช่เรื่องของระบบเศรษฐกิจอะไรทั้งสิ้น
ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ หากอุปสรรคนี้ไม่ถูกแก้ไข เชื่อได้ว่าสังคมมุสลิมจะต้องเผชิญวิกฤติอันสาหัสที่ทำให้สูญเสียอัตลักษณ์จนอาจได้เห็นคนบางคนเป็นมุสลิมตอนเช้าและเป็นอื่นไปเลยในตอนเย็น ตามคำบอกของบรมศาสดา (ขออัลลอฮทรงประทานความสุขสวัสดิ์แด่ท่าน) ซึ่งได้กล่าวไว้เมื่อกว่า 1400 ปีก่อน
เพื่อการสร้างพลังทางเศรษฐกิจแก่สังคมและให้ชุมชนมุสลิมพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ปีนี้คณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลาได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการมัสยิด ขึ้นมา หวังให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนมัสยิดสู่การเป็นที่พึ่งพาของชุมชนได้ในทุกมิติต่อไป
ภารกิจแรกของกองทุนบริหาร ฯ นี้ได้แก่การจัดการซากาตฟิตเราะฮให้เป็นระบบมากขึ้น สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจที่ไหลเวียนในชุมชนมากขึ้น รวมทั้งทำให้ซากาตเข้าถึงคนจนในชุมชนมากกว่าเดิม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23/04/64 ข้าวสารล็อตแรกของกองทุน ฯ มาถึงอำเภอรัตภูมิแล้ว อัลฮัมดุลิลลาฮ