กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. เปิดเกมรุกตลาดการเงิน รับกระแสโลกมุสลิม
โดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร อะลามี่
“ ..ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจหลอมรวมกันทั่วโลก ประชากรโลกที่เป็นมุสลิม 1 ใน 4 หรือ ประมาณพันกว่าล้านคน จึงทำให้ความต้องการบริโภคสินค้า ฮาลาล เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงปัจจัยการผลิตและแหล่งเงินทุนฮาลาล ด้วยโอกาสนี้ธนาคาร ธ.ก.ส. จึงได้กำหนดนโยบายเชิงรุกให้มากขึ้น..”
สำนักข่าวอะลามี่: ตลาดการเงินอิสลาม นับได้ว่ามีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบกับการเปิดเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการขยายตัวของมุสลิมโลก ทำให้ระบบการเงินอิสลามได้ขยายตัวตามไปด้วย
กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ภายใต้ การกำกับดูแลของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะสถาบันการเงิน 1 ใน 3 ของสถาบันการเงินอิสลามในประเทศไทย ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน
กองบรรณาธิการ นิตยสาร อะลามี่ สัมภาษณ์พิเศษ “คุณนิพัฒน์ เกื้อสกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในฐานะผู้กำกับนโยบาย กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ถึง บทบาทกองทุน ธ.ก.ส.และ การขยายตัวการเงินอิสลาม สอดรับกับกระแสการแข่งขันตลาดการเงิน การธนาคารของโลก
“ เมื่อผมศึกษาระบบการเงินอิสลาม โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ระบบของธนาคารอิสลามเป็นระบบที่เป็นธรรมที่สุด เนื่องจากระบบการเงินอิสลาม เป็นระบบที่มีการแบ่งปันผลกำไร ซึ่งเป็นระบบดำเนินการที่เรียกว่า หุ้นส่วนหรือเป็นพันธมิตรกัน ไม่ได้เป็นผู้กู้หรือผู้ให้กู้ คือหุ้นส่วนในการลงทุน และประกอบธุรกิจร่วมกัน ที่มีการแบ่งปันผลกำไร จึงเป็นระบบที่ดี และได้นำระบบมานี้ใช้ในธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. ”
คุณนิพัฒน์ อธิบายจุดเด่นของระบบการเงินอิสลาม ก่อนจะลงไปสู่จุดเริ่มต้นการก่อตั้ง ของกองทุนธนาคารอิสลาม ธ.ก.ส. ว่า ด้วยลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวนหนึ่งที่เป็นมุสลิม ต้องการให้ประเทศไทย มีบริการธนาคารอิสลาม ซึ่งในขณะนั้นพบว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ หรือบริเวณรอยต่อพรมแดนไทย-มาเลเซีย ที่มีความเคร่งครัดเรื่องระบบดอกเบี้ย ได้นำเงินไปฝากในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ซึ่งเปิดใช้บริการทางการเงินตามหลักศาสนา
ต่อมาจึงเรียกร้องรัฐบาลให้มีบริการทางการเงินในด้านนี้บ้าง ธ.ก.ส.จึงเริ่มมีโครงการให้ธนาคารดำเนินการเป็นแหล่งออมเงินที่ถูกต้องตามหลักชารีอะห์ อาทิเช่น ออมเงินเพื่อไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยเริ่มจากจังหวัดที่มีมุสลิมหนาแน่นเช่นกรุงเทพฯ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ส่วนของภาคใต้ เช่น กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ในขณะนั้นบริการในรูปแบบของโครงการ
ต่อมาในปี 2540 รัฐบาลมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ครั้งที่ กตพ/2540 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคา 2540 เกี่ยวกับการจัดตั้งธนาคารอิสลาม และมอบหมายให้สำนักเศรษฐกิจการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรัดกำหนดแนวทางและประสานงานการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และหรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สามารถเปิดให้บริการธุรกิจแบบธนาคารอิสลามโดยด่วน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว ธ.ก.ส.ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดแผนกเฉพาะกิจเพื่อให้บริการทางเงินระบบอิสลาม ไปศึกษาดูงาน ระบบการเงินอิสลาม และรูปแบบการบริหารในประเทศมาเลเซีย รวมถึงข้อกฎหมายธนาคารอิสลาม
“ หลังจากมติจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเมื่อปี2545 ส่งผลให้การบริการทางการเงินระบบอิสลาม ในธนาคารของรัฐ อาทิเช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ได้ยุบรวมไปจัดตั้งภายใต้ธนาคารอิสลามฯ แต่ ธ.ก.ส.ไม่ได้รวม เนื่องจากมีผู้รู้ทางศาสนาแนะนำว่าระบบการเงินอิสลามจะต้องไม่เป็นการผูกขาด ไม่ควรมีแห่งเดียว แต่การเงินระบบอิสลามควรมีทางเลือก ซึ่งจะสอดรับกับหลักการอิสลามอย่างแท้จริง”
ถัดมาในปี 2542 บอร์ดธนาคาร ธกส.ได้อนุมัติจัดตั้ง กองทุนธนาคารอิสลาม โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้บริการทางด้านการเงินการธนาคารอิสลามตามหลัก เป็นการให้บริการอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งของ ธ.ก.ส. ซึ่งแยกจากการบริหารจัดการออกจากระบบการเงินปกติของธนาคาร และเราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันเปิดและขยายการบริการให้ครอบคลุม 1,275 สาขาทั่วประเทศ
“ เราเปิดให้บริการการเงินอิสลามทุกสาขาของ ธ.ก.ส. มีพี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิมที่มาใช้บริการกับเรา รวมถึงมุสลิมที่มีความต้องการที่จะใช้บริการ ก็สามารถใช้บริการได้ทุกสาขาทั่วประเทศ ”
คุณนิพัฒน์ กล่าวถึงบทบาทของกองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ว่า บทบาทหนึ่ง ในฐานะธนาคารของรัฐ เราคือผู้ให้บริการทางการเงินการธนาคาร ทั้งในรูปแบบของส่งเสริมเงินออม รับเงินออมจากพี่น้องที่มีเงินเหลือไปกระจายให้กับพี่น้องที่ต้องการเงินทุน เพื่อไปประกอบธุรกิจที่สอดรับกับหลักศาสนา ทั้งในระบบเงินฝาก และด้านสินเชื่อ
ส่วนบทบาทที่สอง ด้วยภาพใหญ่ของเราเป็นธนาคารที่เน้นการบริการภาคเกษตร แต่ขณะเดียวกัน กองทุนอิสลามธนาคาร ธ.ก.ส. เรายังมีบทบาทในการเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของชุมชน ชนบท เข้าไปทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา
สำหรับผลประกอบการของ กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส.ในรอบปี ที่ผ่านมา (2559) เรามีตัวเลขเงินฝากอยู่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ภาคสินเชื่อ อยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท มีบัญชีทั้งหมดกว่า 8 หมื่นบัญชี ซึ่งจากนี้ไปเราให้ความสำคัญในการระดมเงินฝากที่ถูกหลักศาสนาเพื่อใช้เป็นแหล่งทุนฮาลาล ให้สินเชื่อตามหลักชารีอะฮ์ โดยตั้งเป้าหมายการขยายตัวทั้งเงินฝากและสินเชื่อไว้ 10%-15 % ต่อปี
คุณนิพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การทำงานกองทุนอิสลาม ธ.ก.ส.ใน 5 ปีต่อจากนี้ไปว่า ด้วยปัจจัยทางตัวเลขของประชากรอิสลาม แม้ว่าในประเทศจะมีประมาณ 6-7 % แต่การเติบโตของประชากรมุสลิมค่อนข้างมาก ทำให้ความต้องการของการใช้บริการ การเงินตามหลักศาสนา ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย
ประเด็นถัดมา ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจหลอมรวมกันทั่วโลก หรือ AEC ซึ่งประชากรโลกเป็นมุสลิม 1 ใน 4 หรือประมาณพันกว่าล้านคน ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าฮาลาล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องอาหารเท่านั้น จึงเป็นโอกาสหนึ่งของ ธ.ก.ส. จะขยายในเรื่องของการบริการ ที่เป็นสินเชื่อทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น อาหาร และภาคบริการ ตลอดจนการส่งออกเฉพาะสินค้าที่ได้รับการรับรอง ฮาลาล ทั้งนี้เรากำลังกำหนดนโยบายเชิงรุกให้มากขึ้น
“ เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชน เราจึงได้ขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเพิ่มการผลิต ไม่เพียงแต่สินเชื่อภาคเกษตร นอกจากนี้เรายังให้สินเชื่อกับโรงเรียนสอนศาสนา รวมถึงภาคบริการด้านการท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ท ล่าสุดเราตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริม SME เพื่อยกระดับภาคเกษตรจากผู้ประกอบการรายย่อยเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสมัยใหม่มากขึ้น ”
นอกจากนี้ เราจะต้องมีการทำงานในเชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ โดยแบ่งเป็นสองระดับ ในระดับแรก ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของประเทศ เราจะมีการประชาสัมพันธ์และมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจในทุกระดับ เพื่อให้ได้รับรู้ว่าเรามี กองทุนอิสลาม ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม (ชารีอะห์) ไว้บริการประชาชนทั่วประเทศ
ระดับที่สอง การทำงานของพื้นที่ เราจะต้องทำงานให้ใกล้ชิดกับคณะกรรมการจังหวัดอิสลามประจำจังหวัด ผู้นำทางศาสนา อิหม่าม โรงเรียนสอนศาสนา โดยให้ผู้อำนวยการระดับจังหวัด ผู้จัดการสาขาประสาน เพื่อหาโอกาสไปสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆว่า ธ.ก.ส. เราพร้อมที่จะให้บริการทางการเงินระบบอิสลาม และเพื่อให้ท่านทั้งหลายเป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อ
“ เร็วนี้ๆ เราจะจัดเป็นสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สื่อสารในหลายด้าน เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานทั่วไป ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรูปแบบการบริการของกองทุนอิสลาม รวมถึงต่อไปในอนาคตพนักงานต้องเรียนรู้หลักสูตรและผลิตภัณฑ์ของธนาคาร และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในเชิงรุกพร้อมๆ กับพัฒนาการทำงานภายใน ให้สามารถเป็นไปตามยุทธศาสตร์ 5 ปี และการตั้งเป้าการเติบโตประมาณ 10-15 % ต่อปี ”
คุณนิพัฒน์ ยังได้มองโอกาสของระบบการเงินอิสลาม ว่า แม้ว่าตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะการเงินอิสลามจะมีการขยายตัว แต่ปัจจัยภายในประเทศก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในระดับนโยบายของประเทศ จะต้องกำหนดทิศทางระบบการเงินให้ชัดเจน สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันแผนระยะยาวยังขาดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
“ เราจะต้องมองให้ชัดว่า ระบบการเงินอิสลามจะเป็นอย่างไร จะเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง หรือจะทำให้เป็นโอกาสทางการเงิน และจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินอิสลาม ให้มั่นคง และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ”
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ก่อตั้งมา 50 ปี ที่ผ่านมา ถึงแม้เราจะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เราเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างฐานรากที่มั่นคง และเติบโตบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ขณะเดียวกันมองว่า “กองทุนอิสลาม” น่าจะก้าวไปได้มากกว่านี้
และนี่คือ..ภารกิจของ คุณนิพัฒน์ เกื้อสกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในฐานะผู้กำนโยบาย กองทุนอิสลาม ธ.ก.ส. ซึ่งเขาย้ำว่า “ จากนี้ไปเราจะต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ มีความสามารถ เพื่อจะพัฒนาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ 5 ปี ไปด้วยกัน”
+++++
หมายเหตุตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสารอะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2559