องค์กรมุสลิมประณามผู้ก่อความไม่สงบในยะลา-นราธิวาส
สำนักข่าวอะลามี่ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมแถลงการณ์ประณามผู้ก่อความไม่สงบในยะลา-นราธิวาสโดยออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
โดยเมื่อววันที่ 25 ตุลาคม 2554 วันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการสลายม็อบ และขนย้าย 85 ราย จากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวสร้างให้เกิดความระแวงและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และสร้างให้เกิดวงจรความรุนแรงโต้ตอบกันตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา วันเดียวกันนี้เป็นวันที่เกิดเหตุระเบิดกว่า 13 จุด ในเขตตัวเมืองยะลา รายงานล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บอีกกว่า 40 คน
ระเบิดยังส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั่วเมืองยะลา สร้างความเสียหายในชีวิตทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บผู้บริสุทธิ์จำนวนมากยังไม่อาจประเมินความเสียหายได้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2554 เกิดเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มใส่จุดตรวจในพื้นที่ต.บางนาค อ.เมืองนราธิวาส ทำให้เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร (อส.)อำเภอเมืองนราธิวาส เสียชีวิต 2 นาย และเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 33 บาดเจ็บอีก 1 นาย
จากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกันเกิดเหตุระเบิดร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่สองร้านใจกลางเมืองนราธิวาสซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประกอบกิจวัตรประจำวันประชาชาผู้บริสุทธิ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส แรงระเบิดทำให้เกิดไฟไหม้อาคารดังกล่าวเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 8 ราย ตามรายงานข่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอประณามผู้ใช้ความรุนแรงการก่อเหตุร้าย โหดร้าย มุ่งประสงค์ต่อผู้บริสุทธิ์และสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ และขอให้ผู้ก่อเหตุร้ายยุติการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ที่สร้างความหวาดกลัวและความไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะชน การใช้ความรุนแรงไม่สามารถสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้องความเป็นธรรมได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับความเสียหายจากความรุนแรงดังกล่าวทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและเหมาะสม อันเป็นการเยียวยาความเสียหายและความรู้สึกทางจิตใจของผู้ประสบเหตุดังกล่าว นอกจากนี้รัฐยังมีภาระหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไขมาตรการความปลอดภัยให้มีมาตรฐานสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มในการใช้วัตถุระเบิดที่มีอนุภาพรุนแรงและมีความถี่ของการก่อเหตุมากขึ้น ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุและสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เคารพต่อหลักการของกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างมาตรการเพื่อให้ยุติวงจรรุนแรง ซึ่งหมายถึงการเปิดพื้นที่เพื่อการเจรจายุติการใช้ความรุนแรง การเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยรับฟังแนวทางทางการเมืองแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากผู้ที่เห็นต่าง สร้างกิจกรรมร่วมแรงรัฐ ภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้ประชาชนให้ได้ในที่สุด
ทั้งนี้เอกสารแถลงการณ์ลงนามโดย ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ และ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม