คิดนอกกรอบ : ศาสนาคือการตักเตือน
โดย บันฑิตย์ สะมะอุน
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มัสยิดกมาลุลอิสลาม มีโอกาสต้องรับคณะจากมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนกว่า ๓๐ คน ซึ่งเป็นอาจารย์และนิสิตจากมหาลัย มาศึกษาดูงานนอกพื้นที่ เป็นกลุ่มนิสิตที่เป็นคนต่างประเทศ เป้าหมายในการดูงานคือ การพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อให้เกิดปฎิสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างศาสนิก
และก่อนหน้านั้นสองเดือน ทาง มหาลัยมหิดล ได้นำคณะพระจากทางสามจังหวัดชายแดนใต้กับพระในภาคกลางจำนวนประมาณ ๓๐ รูป มาเยี่ยมเยือนมัสยิดกมาลุลอิสลาม เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงลึก ทำให้ศาสนาเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำให้ศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องเร้นลับ ทำให้เกิดภาพของความสัมพันธ์ของกลุ่มคนผ่านศาสนาที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังมีคริสต์เตียน ฮินดู อยู่ในกลุ่มคณะที่ทรงเกียรติด้วย และยังมีผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บางท่านอยู่ในกลุ่มด้วย
ทั้งสองคณะมาถึงมัสยิดฯเวลาประมาณสิบโมงเช้าของวันศุกร์ ได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องมุสลิมที่มาละหมาดวันศุกร์กัน ได้แลกเปลี่ยนสังสรรค์กันถึงเรื่องราวของกันและกัน ทางมัสยิดฯยังได้จัดที่นั่งให้คณะได้เข้ามานั่งในอาคารมัสยิดเพื่อฟังคุตบะห์วันศุกร์ ซึ่งเป็นการร้องขอของทางคณะเอง
ภาพบรรยากาศแห่งความแตกต่างที่สวยงามได้เกิดขึ้น ทุกคนได้จับมือถือแขน พูดคุยกันไปตามอัธยาศัย โดยไม่ได้คิดว่าใครเป็นคนศาสนาใด แต่ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ก้าวข้ามผ่านศาสนา เชื้อชาติ ภาษา ของตัวเอง เพื่อจะมาอยู่ร่วมกัน ทุกศาสนาสอนให้มองความสำคัญของผู้อื่นอยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะสร้างความมีน้ำใจ ความห่วงใยกัน ความเอื้ออาทรให้เกิดขึ้นได้กับสังคม ด้วยภาพที่สวยงามทางศาสนา ให้มองศาสนาอย่างถูกต้องว่าเป็นความรักความเมตตา ไม่ใช่ศาสนาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและทำลาย เหมือนกับที่เกิดมากขึ้นในปัจจุบัน
ในวงพูดคุยในวันนั้น เต็มไปด้วยความปิติยินดี ทุกคนต่างตั้งคำถามมากมายที่ก่อให้เกิดความสันติสุขของสังคม คำตอบที่แสดงออกก็ล้วนเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ปรุงแต่งใดๆ ในประเด็นความคิดที่แสดงออกลึกๆอย่างหนึ่งคือ ความเป็นมุสลิมกับความรุนแรง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่กระทบกับสันติ ที่สังคมกำลังแสวงหาอยู่
ภาพของมุสลิมในสังคมมุมกว้างนั้นถูกทำลายไปมากมาย ด้วยเล่ห์อคติที่โลภมากในอำนาจ สงครามทุกครั้งในช่วงหลังๆมุสลิมไม่เคยถูกมองในแง่ดีเลย แต่กลับถูกมองไปในเชิงผู้ก่อการร้ายในเชิงสงครามไป สงคราม/การก่อการร้ายและญีฮาดจึงเป็นคำที่ยังหาข้อลงตัวไม่ได้ และเป็นคำที่ยังสร้างความสับสนกับกระแสโลกได้อีกต่อไป ตราบใดที่นิยามไม่ตรงกัน สงครามก็ยังไม่ชอบธรรม
สิ่งที่คณะอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องมุสลิม มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ สิ่งแวดล้อม พิธีกรรม ประเพณีวัฒนธรรม ของชุมชนมุสลิม การได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยน ทำให้ความคิดสว่างขึ้น ไม่หมกมุ่นอยู่กับความรู้สึก/ความรู้ผิดๆที่ขาดความเข้าใจความจริง การแลกเปลี่ยนกันทางพฤติกรรมนั้นมีพลัง คือปฏิสัมพันธ์เชิงลึกที่สังคมควรต้องสร้างขึ้นให้มากกว่าเพียงการเรียนรู้ผ่านตำราเรียนเพียงอย่างเดียว
หากทุกศาสนาสามารถตักเตือนกันได้ บอกกล่าวความดีของกันและกันได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ให้อภัย/ขออภัยกันได้เมื่อผิดพลาด เหมือนดั่งที่ท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล) เคยกล่าวเน้นถึงสามครั้งในคำพูดเดียวกันว่า “..ศาสนานั้นคือการตักเตือน..” (อัดดีนุ้นนะซีหะห์)
เป็นคำพูดที่แสดงถึงสภาวะของความเป็นมิตรกันทางศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาที่ดูจะถูกท้าทายด้วยความห่างเหินกันมากขึ้น และหลายครั้งที่ศาสนาเคยเป็นเหตุเชื่อมโยงสู่สงครามและความรุนแรง แต่อาจจะใช้ได้ยากกับยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนมีความรู้ ความเข้าใจกันมากขึ้น คงไม่มีใครอยากกลับไปยังอดีตที่ขมขืนอีก แม้ความจริงจะยังไม่ใช่ก็ตาม
ระหว่างศาสนิกต่างเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ตักเตือนกันได้เหมือนเป็นคนกลุ่มเดียวกัน หรือเป็นพี่น้องกัน เพราะการจะตักเตือนใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย หากสามารถยอมรับการตักเตือนของกันและกันได้ ความรู้สึกแห่งความผูกพันก็นับว่ามีความลึกซึ้งมากอยู่ทีเดียว
เมื่อถึงเวลาลากลับ ทุกคนมองหน้ากันอย่างสนิทสนม กอดคอขอเบอร์โทร แล้วบอกว่า เราต้องได้เจอกันอีก เป็นภาพในมุมเล็กๆของสังคมไทย ที่ยังแอบซ่อนความน่ารักสวยงามและน่าอยู่ของคนไทยที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก
........................
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเมษายน 2562