"อนุมัติ อาหมัด" มุสลิมแถวหน้า นักธุรกิจค้าพลังงาน
โดย เอกราช มูเก็ม
นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ เราเปิดตัวนักธุรกิจชายแดนใต้ เขาเติบโตจากชายแดนอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เริ่มต้นธุรกิจด้วยทำการค้าสินค้าเกษตร และ ปศุสัตว์เพื่อการส่งออก ก่อนจะมาโลดแล่นบนธุรกิจพลังงาน
อนุมัติ อาหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท อดามี่ จำกัด ( Adami Co.,Ltd ) และ บริษัท อากิแบม ออยล์ จำกัด ( Akibam Oil Co.,Ltd)ในแวดวงพลังงานหลายคนรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะเขาเป็นผู้ประกอบการ ที่คนในวงการพลังงานจับตาการทำงาน และการก้าวของเขา สู่เส้นทางนักค้าพลังงานหน้าใหม่
อนุมัติ ในวัย 51 ปี วันนี้เขาก้าวสู่นักธุรกิจแถวหน้าของมุสลิม ไม่เพียงในจังหวัดสงขลา เท่านั้น แต่หากดูธุรกิจที่เขากำลังดำเนินการน่าสนใจยิ่งนัก เพราะ นั่นคือ ธุรกิจพลังงาน เขาบอกว่า การมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอิสลาม ได้รู้จักผู้ประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ หลายสาขาอาชีพ จึงทำไห้เห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ที่ให้ความเคารพนับถือ ช่วยให้คำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภท ทำให้เขามีวันนี้ได้
เขาเริ่มจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 ในนาม บริษัท สมิหลา เทรดดิ้ง จำกัด ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อดามี่ จำกัด ในเวลาต่อมา โดยบริษัทฯของเขา ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านเทรดดิ้ง สินค้าในหมวดพลังงานทุกรูปแบบ และ มีบริษัทในเครือ ที่ดำเนินการด้านคลังเชื้อเพลิง ในเขตปลอดภาษีอากร ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ. เมือง จ.สงขลา ประกอบกับการมี บริษัท ตัวแทนการค้าในต่างประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง
" ผมเองได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำธุรกิจของ บริษัท อดามี่ ประกอบกับในปัจจุบัน บริษัทฯ มี บริษัทตัวแทนการค้า ตั้งอยู่ที่ ฮ่องกง และ คู่ค้าเป็นบริษัทฯในต่างประเทศทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นต้องติดต่อสัมพันธ์กันอยู่เป็นประจำ "
อนุมัติ บอกว่า ธุรกิจของ บริษัท อดามี่ และ บริษัทในเครือ มีประสบการณ์ในการนำส่งวัตถุดิบ ด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากคู่ค้าในต่างชาติเป็นอย่างดี และในประเภทของธุรกิจที่บริษัทได้เกี่ยวข้องอยู่นั้น เป็นธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันความต้องการด้านพลังงานยังมีอยู่ค่อนข้างสูง
ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีแนวคิดในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบในการผลิต, การร่วมลงทุน ฯ ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ทำการศึกษาอยู่ในหลายรูปแบบ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการแปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติต่างๆ เพื่อให้ก่อเกิดพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น ๆ
ไม่เพียงแต่บทบาทนักธุรกิจเท่านั้น ปัจจุบัน เขายังนั่งในตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และอีกตำแหน่งคือ ที่ปรึกษาท่านจุฬาราชมนตรี เขาบอกว่า หน้าที่ของกรรมการกลางอิสลามนั้นกว้างมาก โดยครอบคลุมการออกระเบียบ พิจารณา และกำกับดูแลทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม และชีวิตของมุสลิมทุกท่านในประเทศไทย
ในระดับมหภาค เราให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเพื่อให้มีนโยบายที่จะส่งเสริมอำนวยความ สะดวก และปกป้องสิทธิให้กับพี่น้องชาวมุสลิมในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การผลักดันให้สินค้าและบริการ ที่ได้รับมาตรฐานฮาลาลที่รับรองโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือในประเทศนั้น ได้รับการส่งเสริม และโปรโมท ในเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากนั้น คณะกรรมการอิสลามเอง ก็มีหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อปฏิบัติงานศาสนา เช่น คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ การจัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ โดยผมเองมีโอกาสได้ร่วมกับคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะ กรรมการบริหารสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมพัฒนา และผลักดันมาตรฐานสินค้าและบริการฮาลาล ซึ่งจะส่งเสริมและขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ และในขณะเดียวกันคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั่วโลก ให้มีความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานของสินค้า และ บริการฮาลาล ของผู้ประกอบการในประเทศไทย
" เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน คณะทำงานอะมีรุ้ลฮัจย์ การเดินทางไปทำฮัจย์ เป็นเรื่องที่พี่น้องมุสลิมทุกคนให้ความสำคัญ การแก้ไขปัญหาอุปสรรค การอำนวยความสะดวก คือ หน้าที่ของคณะทำงาน การได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการดูแลพี่น้องที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ ก็เป็นหนึ่งในความอิ่มเอมใจ "
อนุมัติ บอกว่า จากประสบการณ์ชีวิตการทำงาน และการผ่านประสบการณ์ทางธุรกิจ อยากเห็นองค์กรมุสลิม เรียนรู้ การพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะการบริหารคน การที่เราจัดสรรคน ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ให้ทำงานที่เขาถนัด ส่งเสริมบรรยากาศการทำงานให้เขาสามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ก็จะเป็นผลดีต่อองค์กร
นอกจากนี้ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การรับฟังกัน เปิดใจเรียนรู้ความรู้ และข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ และส่งเสริมให้คนในองค์กรมีความตื่นตัวที่จะพัฒนาตนเองตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้จะทำให้องค์กร และสมาชิกในองค์กร ก้าวหน้าไปพร้อมกัน
" หลักสำคัญของศาสนาอิสลาม คือ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การให้ ผมมีความตั้งมั่นมาตลอดว่า เมื่อมีโอกาสและมีความสามารถแล้ว ผมต้องตอบแทนให้กับศาสนาที่เป็นเสาหลักในการดำเนินชีวิตให้กับชุมชน และพี่น้องร่วมศาสนิกของผม ให้มีโอกาสในสังคมที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น "
อนุมัติ กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาเขาได้มีโอกาสช่วยเหลือชุมชนในบางพื้นที่ เพื่อสร้างแหล่งน้ำบาดาล ส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ด้านศาสนา ผ่านการสนับสนุนค่าตอบแทนครูสอนศาสนา มีการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดทุนทรัพย์ และ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยช่วยทั้งพี่น้องมุสลิม และต่างศาสนิก เพื่อเน้นย้ำคำสอนของศาสนา ".... เมื่อพระผู้เป็นเจ้าให้ความสามารถที่จะดูแลผู้อื่น ผมก็ยินดีที่ได้รับโอกาสตรงนี้ ..."
ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจมุสลิม เขามองว่าโอกาสธุรกิจของสังคมมุสลิม ปัจจุบันผู้ประกอบการมุสลิมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีโอกาสขายสินค้าและส่งออกมากขึ้น ซึ่งเขาเองมีส่วนร่วมในสถาบันมาตรฐานฮาลาล ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่ง มาตรฐานฮาลาล เปรียบเสมือนแบรนด์สินค้า ที่คนทั่วโลกรู้จัก ให้การยอมรับต่อผลิตภัณฑ์ และบริการนั้นๆ เต็มไปด้วยคุณภาพ หากได้รับการรับรองฮาลาล
ดังนั้น เมื่อเรานำมารวมกับความสามารถด้านการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และการให้บริการอื่นๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างชาติ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยแล้ว โอกาสในการพัฒนาในการที่จะส่งเสริมรายได้เข้าสู่ประเทศ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ ให้กับพี่น้องมุสลิมซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ฮาลาล โดยปริยาย
อีก 2 ปี จะเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียน (AEC) ในกลุ่มประเทศที่เป็นมุสลิมมากกว่า 300 ล้านคน จากประชาการอาเซียน 600 ล้านคน สำหรับจังหวัดสงขลา เปรียบเสมือนเมืองหน้าด่าน เรามีศักยภาพหลายด้าน มีท่าเรือน้ำลึก มีแหล่งท่องเที่ยว มีธรรมชาติที่สวยงาม มีวัตถุดิบจำนวนมาก หากเราให้ความรู้และยกระดับตราฐานสินค้า และการบริการไปสู่ฮาลาล สามารถตอบสนองความต้องการประชากรอาเซียนได้ เชื่อว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้กับจังหวัดสงขลาอย่างมหาศาล
อนุมัติ บอกว่า ขณะนี้ทางบริษัทกำลังหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ 3-4 ราย ถึงความเป็นไปได้ ที่จะก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเอกชนสีเขียวเป็นมิตรกับชุมชน ในจังหวัดสงขลา เพื่อสนับสนุนวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมฮาลาล สามารถกระจายรายได้สู่สังคมโดยรวมของสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ รวมไปถึงภาคบริการท่องเที่ยว อาทิเช่น โรงแรม ร้านอาหาร หรือ แม้กระทั่งผู้ประกอบการรายย่อย อื่นๆด้วย
" ประเทศไทยได้เปรียบประเทศเพื่อนในหลายๆ ข้อ ไม่ว่าอาหารที่รสชาติเป็นที่นิยมกว่า และบริการที่น่าประทับใจ ซึ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้ประกอบการไทย ที่มีความพร้อม ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมอย่างง่ายขึ้น "
โดยภาพรวมความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพการรับรองฮาลาลของประเทศไทย ค่อนข้างจะได้รับความเชื่อถือมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเรานำหลักวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจสอบการปนเปื้อนได้ชัดเจนมาใช้ในการรับรอง
ผู้ประกอบการจึงควรใช้โอกาสนี้ รุกตลาดผู้บริโภค สร้างความเข้าใจ และ นำเสนอว่าสินค้าของท่านที่ได้รับการรับรองฮาลาลนั้น เป็นสินค้าที่ไว้ใจได้ มีคุณภาพ ทั้งยังมีรสชาติดี และบริการที่ดี
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2557
ข้อมูลจำเพา ะ : อนุมัติ อาหมัด
: กรรมการบริษัท อดามี่ จำกัด
: กรรมการบริษัท อากิแบม ออยล์ จำกัด
: ที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี (ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล)
: กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
: รองเลขาธิการกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
: คณะทำงานอามิรุ้ลฮัจย์
: กรรมการบริหารสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
: รองนายกสมาคมไทย –ปากีสถาน
อดีต
: รองกงสุลไทยกิตติมศักดิ์ประจำเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย
: ที่ปรึกษาเลขาธิการอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ
: ที่ปรึกษา เลขาธิการ ศอ.บต นานภาณุ อุทัยรัตน์