จุดจบผู้นำมุสลิมของซัดดัมและกัดดาฟี
โดย : บันฑิตย์ สะมะอุน
สำนักข่าวอะลามี่ : เป็นเรื่องที่ต้องแสดงความเสียใจต่อชีวิตที่ความตายได้มาถึง แต่ในบางครั้งหรือในบางคน ความตายกลับเป็นโอกาสที่ดีและดีกว่าที่จะอยู่มีชีวิตอีกต่อไป โดยเฉพาะกับวิถีผู้นำที่ต้องยืนหยัดอยู่บนอุดมการณ์ เพราะชีวิตจะมีค่าและเป็นอมตะได้ไม่ใช่เพราะมีชีวิตแค่เพียงลมหายใจ
ความตายบนผลประโยชน์กับความตายบนอุดมการณ์ของตัวเอง ต่างหาก... คือสิ่งที่เห็นได้กับวิถีผู้นำในอดีตและในปัจจุบัน ซึ่งสุดท้ายก็หนีไม่พ้นสัจธรรมของความตาย ความตายได้เก็บเกี่ยวผลของมันโดยไม่สนใจว่าชีวิตนั้นจะเป็นของใคร
การจากไปจะโดยความตายหรือการหนีออกไป คือ บทเรียนที่มีค่าที่ผู้นำมุสลิมต้องรับรู้ว่า วิถีผู้นำของมุสลิมต้องยึดมั่นบนอุดมการณ์อิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนของตนด้วยชีวิต มีคนตั้งคำถามเงียบๆว่า ทำไมคนผู้นำอย่าง ซัดดัม ฮุสเซ็น แห่งอิรัก หรือ มุอัมมาร์ กัดดาฟี แห่งลิเบีย จึงยอมตายในสภาพที่น่าอนาถและตกต่ำอย่างที่เห็นเป็นข่าว
จุดจบของผู้นำทั้งสองน่าจะต่อสู้กับประชาชนของตนจนตัวตายโดยไม่หนี หรือไม่ก็ปลิดชีพตัวเองเมื่อหมดทางเลือกหรือตกอยู่ในวงล้อมของศัตรู มากกว่าการถูกเหยียบย่ำโดยประชาชนของตัวเอง
เมื่อหันกลับมามองจุดจบของผู้นำประเทศมุสลิมในยุคปัจจุบัน ความตายของมุอัมมาร์ กัดดาฟี คือ ภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีผู้นำได้อย่างชัดเจนว่า วาระสุดท้ายของชีวิตผู้นำช่างโหดร้ายและโดดเดี่ยว ประชาชนของตัวเองลุกขึ้นต่อต้านผู้นำของตน ซึ่งได้เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นเยเมน ซีเรีย อียิปต์ ลิเบีย ฯลฯ
อาจจะมีมุมมองหรือทัศนะที่คิดว่า ความตายของผู้นำอย่าง กัดดาฟี หรือซัดดัม ถูกวางแผนไว้อย่างแนบเนียน แต่แผนการเป็นเพียงกระแสที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ หากประชาชนในประเทศไม่เห็นคล้อยตามไปกับกระแสดังกล่าว หากความรัก ความมั่นคงต่อผู้นำของตนมีอยู่จริง การปลุกประแสใดๆเพื่อทำลายผู้นำจะเกิดขึ้นได้ยาก ไม่ว่าจะประเทศใดๆก็ตาม
การมองผ่านความจริงนั้นชัดเจนกว่าการมองผ่านความรู้สึก ความรู้สึกว่า เบื้องหลังการลุกขึ้นต่อต้านผู้นำของตนเองในประเทศมุสลิมมีผู้อยู่เบื้องหลัง เช่น สหรัฐฯหรืออิสราเอล เป็นเพียงความรู้สึกที่ไม่สามารถจะยืนยันใดๆได้กับความเป็นจริงที่ปรากฏ เพราะถึงที่สุดแล้ว ความรู้สึกดังกล่าว หากจะเป็นจริงได้ก็ต้องรอเวลาพิสูจน์ด้วยหลักฐานอย่างรอบคอบ
ประเด็น คือ การลุกขึ้นประท้วงขับไล่ผู้นำของตน มีข้อมูลและเหตุผลพอหรือไม่ที่ต้องทำการขับไล่ ดูไปที่ผลประโยชน์ของชาติและศักดิ์ศรีของประชาชนในชาติว่า มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับประเทศต่างๆในโลก โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีประเด็นเรื่องการแทรกแซงจากมหาอำนาจ
การแทรกแซงจากมหาอำนาจเป็นนโยบายของแต่ละประเทศที่สามารถรับรู้ได้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อกลุ่มประเทศมุสลิมเพลี่ยงพล้ำในเรื่องนี้ จะมีวิธีต่อต้านและมีวิธีดำเนินการอย่างไรให้การแทรกแซงดังกล่าวได้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนภายในประเทศ ซึ่งตัวเชื่อมสำคัญนี้คือผู้นำในกลุ่มประเทศมุสลิมที่หลงลืมประชาชนของตน ภาพของความเหลี่ยมล้ำระหว่างผู้นำกับประชาชนแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน
นี่คือ....ตัวตัดสินว่า แผนการของมหาอำนาจในเรื่องการแทรกแซงจะสำเร็จหรือไม่
การแทรกแซงจะไม่เกิดผลใดๆหากภายในประเทศมีความเข้มแข็งและยึดมั่นต่อผู้นำของตนเองด้วยความรักและศรัทธา แต่การที่ผู้นำมุสลิมไปยึดติดกับผลประโยชน์ร่วมกับมหาอำนาจโดยหลงลืมประชาชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของประเทศและมีสิทธิที่จะหวงแหนทรัพยากรของประเทศของตน ไม่วาจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ แร่ธาตุ ฯลฯ ที่มีอยู่มากมายในภูมิภาคตะวันออกลางและเอเชียกลาง
การปิดบังอำพลางระหว่างผู้นำมุสลิมกับมหาอำนาจไม่สามารถปิดบังการรับรู้ของประชาชนในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป
ข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันกระจายไปได้อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้งและรวดเร็ว เมื่อความจริงปรากฏจนทำให้ประชาชนตาสว่างเห็นถึงพฤติกรรมของผู้นำของตนอย่างชัดเจน
การเดินขบวนขับไล่ผู้นำของตนเองจึงเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันหลายประเทศในตะวันออกกลาง เมื่อผู้นำของตนทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและเพื่อมหาอำนาจ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศชาติ ก็ไม่สมควรที่จะเป็นผู้นำของประชาชนอีกต่อไป
ความตายของกัดดาฟี หรือซัดดัม หากมองว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง มันก็คงคล้ายกับการวิสามัญฆาตกรรมผู้นำโดยประชาชนของตัวเอง แทนที่จะเป็นการวิสามัญจากเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจทางกฎหมาย แต่กลับถูกกระทำโดยประชาชนของตนเอง
แม้แต่ ซัดดัม ที่ถูกจับเป็น แต่สุดท้ายก็ต้องตายด้วยโทษประหารโดยการแขวนคอโดยกฎหมายของอิรักและคนอิรัก ไม่ต่างจากกัดดาฟี ที่ถูกจับตายด้วยการไล่ล่าจนจนมุม แล้วสุดท้ายก็ตายโดยประชาชนของตัวเอง
ปรากฎการณ์นี้ถูกมองว่าน่า จะมีผู้อยู่เบิ้องหลังที่พยายามทำให้ภาพนี้ปรากฏขึ้น เพื่อต้องการทำลายเอกภาพของคนในชาติให้แตกแยก ทำให้เกิดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งที่ขยายใหญ่และรุนแรงขึ้นในอนาคต เป็นกระบวนการแทรกแซงจากภายนอกที่ต้องการให้กลุ่มประเทศมุสลิมเกิดความขัดแย้งและแตกแยกกัน ทั้งความแตกแยกระหว่างประเทศมุสลิมและภายในประเทศมุสลิม แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังที่ว่านี้คือใครหรือผู้มีอำนาจจากฝ่ายใด
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จากการลุกขึ้นขับไล่ผู้นำของตนเองในกลุ่มประเทศมุสลิมนี้ ความแตกแยกของคนในกลุ่มประเทศมุสลิมจะเป็นผลดีต่อการแทรกแซงจากภายนอกได้อย่างไม่น่าไว้วางใจ มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯคงต้องสร้างตัวเล่นใหม่ในกลุ่มประเทศมุสลิม เพราะดูแล้วผู้นำที่หมดอำนาจไปจะด้วยความตายหรือหนีออกไปจากประเทศ ล้วนมีความเชื่อมโยงผลประโยชน์บางอย่างกับสหรัฐฯ ซึ่งยากมากที่จะวิเคราะห์อย่างถูกต้องว่าอำนาจที่มองไม่เห็นดังกล่าวนั้นคือใครหรืออะไร
และสำหรับผู้นำแล้ว ความตายคืออนาคตของสังคม/ชาติ/ประชาชน
แต่การตายด้วยคำสาปแช่งจากประชาชนของตัวเอง ช่างเป็นความตายที่น่าอนาถและโดดเดี่ยวที่สุดของวิถีผู้นำที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศมุสลิมในปัจจุบัน