จับตาทิศทางการส่งออกสินค้า
ประเทศไทยและซาอุดิอาระเบีย
สำนักข่าวอะลามี่ : การเดินทางของคณะทำงานด้านฮาลาลประเทศไทย ไปยังเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้ทำให้เห็นภาพการค้าในประเทศซาอุดิอาระเบีย และทิศทางการส่งออกสินค้าไทยไปยังซาอุฯ รวมถึงโอกาสการขยายไปประเทศบาเรนห์ มากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากรณ์ ผู้อำนวยการ สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยคณะทำงานด้านฮาลาลประเทศไทย ประกอบด้วย รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อัชารีย์ สุขสุวรรณ นายปรัชญา ฉิมวิเศษ เข้าพบท่านสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ และท่านอฐิคม ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเร็วๆนี้
ดร.ปกรณ์ ระบุว่า การเข้าพบในครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทิศทางและสถานการณ์การส่งออกสินค้าระหว่างประเทศไทยและซาอุได้สรุปสาระสำคัญ อันเนื่องจากปัญหาทับถมทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันตกในตลาดโลก สงคราม การขึ้นครองราชย์ ทำให้ซาอุดิอาระเบีย จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพื่อพยุงเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศเอาไว้
ทั้งนี้ ผู้นำใหม่อย่าง กษัตริย์โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซาอูด (Mohammed bin Salman al-Saud, MBS) ได้เข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาเพื่อรังสรรค์ความทันสมัยให้กับประเทศด้วยวิสัยทัศน์ใหม่อย่าง Saudi Vision 2030 โดยคาดหวังให้นโยบายนี้จะนำพาประเทศเป็นอิสระจากน้ำมัน ลดการพึงพาจากต่างชาติและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น มีงาน Comic Con การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เป็นเพศหญิง อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถและทำงานนอกบ้านได้ (แต่ได้เพิ่มกฎหมายเพื่อคุ้มครองสตรีไว้ด้วยเช่นกัน)
รศ.ดร.ปกรณ์ ระบุว่า เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงนโยบายและมองสถานการณ์ตลาดการแข่งขันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ดีขึ้น เราสามารถดูทิศทางและสถานการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของซาอุฯที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ดังนี้
1. ซาอุฯ เน้นผลิตเองมากขึ้นเช่น มีโรงงานเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลานิลในทะเล เลี้ยงกุ้งกว่า 6 แสนตัน เองได้ และส่งออกกลุ่มประเทศ GCC แต่ยังขาดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต
2. นำสินค้า non-oil product จากประเทศอื่นมาเปลี่ยนแบรนด์หรือผลิตใหม่
3. ให้งานกับคนซาอุ (70,000 คน) ในทุกภาคส่วนมากขึ้น (Saudization) โดยมีอาชีพสงวนไว้แก่คนซาอุฯ อาทิเช่น การขายมือถือ น้ำหอม พรม ร้านขายของชำ
4. หารายได้จากการเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น น้ำมัน ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย จากชาวต่างชาติมากขึ้น จนทำให้ชาวต่างชาติออกจากประเทศซาอุฯไปแล้วกว่า 8 แสนคน
5. เพิ่มการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น การเปิดเกาะต่างๆ การเปิดโรงหนัง
6. ผลิตแปรรูปสินค้าที่มาจากน้ำมันมากขึ้น เช่น การผลิตเม็ดพลาสติก
ดร.ปกรณ์ ระบุว่า ด้วยเหตุนี้เองทำให้รายได้การส่งออกสินค้าหลักของไทยอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า (แอร์บ้านเราขายดีเพราะฐานผลิตอยู่ที่ตุรกี) อาหาร อัญมณี ลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ในปี 2017 (จาก 2,300 เป็น 1,040 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในทางกลับกัน ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากซาอุฯเป็นจำนวนเงินกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยขาดทุนมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทย จำเป็นอย่างยิ่งในการปรับกลยุทธการส่งออกสินค้าไทยสู่ประเทศซาอุฯ ด้วยมุมมองใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศปลายทาง โดยรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนหน่วยงานที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าแก่ประเทศไทย โดยสรุปแนวทางเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. ประเทศซาอุดิอาระเบียและประเทศในกลุ่มอาหรับ เริ่มเห็นความสำคัญของการรับรองฮาลาลบนสินค้า จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าฮาลาลตามแนวทางศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ รวมถึงแก้ปัญหาสินค้าฮาลาลไทยที่ติดปัญหาต่างๆ เช่น การใช้สีฮาลาล เป็นส่วนผสมในสินค้า หรือ ชื่อสินค้าที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา
2. ประชาสัมพันธ์สินค้าและอาหารฮาลาลไทย ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งในงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น Foodex Saudi และนำเสนอสินค้าอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการเช่น แบตเตอร์รี่ ที่ใช้เป็นยุทธภัณฑ์ เป็นต้น
3. ต้องเข้าใจตลาดในประเทศซาอุให้มากขึ้น โดยค้นหานักธุรกิจและพ่อค้ามุสลิมที่สามารถเจาะตลาดในช่วงอุมเราะห์หรือฮัจย์ได้ (อันจะสามารถเข้าถึงตลาดในเมกกะ ได้)
4. ต้องเข้าใจช่วงเวลาของการแข่งขันในตลาดของประเทศซาอุเป็นอย่างดี อย่างช่วงพิธีฮัจย์ที่ตลาดการแข่งขันสูงมาก จนมีคำกล่าวไว้ว่า “ค้าขายช่วงฮัจย์ 1 เดือนเท่ากับค้าขายตลอดทั้งปี ” และการพวงสินค้าที่จำเป็นใช้ในช่วงพิธีฮัจย์อย่างสินค้า ready to use รวมถึงการหาโอกาสใหม่ๆในตลาดอาหารในช่วงฮัจย์ เพราะมีผู้บริโภคมากถึง 4 ล้านคน
5. ประเทศบาห์เรน เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อเชื่อมไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากคนซาอุฯข้ามชายแดนไปฝั่งบาห์เรน กว่า 2 แสนคนต่อสัปดาห์ และบาห์เรน เอง สนใจในสินค้าไทยและต้องการแข่งขันกับดูไบ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขาย
6. ประเทศซาอุดิอาระเบีย กำลังพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ ทำให้จำนวนนักธุรกิจจากหมื่นกว่าคนที่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีโอกาสเดินทางมาค้าขายระหว่างประเทศกันมากขึ้น
การเดินทางไปซาอุดิอาระเบียในครั้งนี้ คณะทำงานด้านฮาลาลจากประเทศไทย ยังได้เข้าเยี่ยมเยียน ท่านอับดุลสลาม ดาอุด อัลอับบาซี ( Abdulsalam Daoud al-Abbasi) เลขาธิการของสถาบันกฎหมายอิสลามนานาชาติ (The International Islamic Figh Academy หรือ IIFA) ซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายศาสนาของ OIC สำนักงานใหญ่ IIFA ตั้งอยู่ในเจดดาห์
สำหรับองค์กรนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 35 ปี และ มี 47 ประเทศที่ทำงานร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำหน่วยงานฮาลาลของประเทศไทย และแสวงหาแนวทางเข้าร่วมกับ IIFA ประเทศไทยทางด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงและเป็นประโยชน์ต่อสถานะของประเทศไทยใน OIC ทั้งสร้างการยอมรับของ IIFA ต่อประเทศไทยในอนาคต
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉยับเดือนพฤศจิกายน 2561