The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ตะวันออกกลาง...ก้าวย่างสู่จุดเดิม

บางมุมมองต่อปัญหาตะวันออกกลาง...ก้าวย่างสู่จุดเดิม

โดย: บันฑิตย์ สะมะอุน

           สำนักข่าวอะลามี่ :  เมื่อมองถึงปัญหาของปาเลสไตน์แล้ว ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ไม่สิ้นสุด ฉากของเรื่องปาเลสไตน์ เป็นหนังยาวที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ต้นตอที่มาเกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรงคือมหาอำนาจ ทั้งฝั่งตะวันตกและยุโรป

 

            โดยไซออนิสต์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศอิสราเอลในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948  หลังจากอังกฤษยุติอาณัติปาเลสไตน์ พร้อมกับการประกาศรับรองประเทศอิสราเอล ของประธานาธิปดี ทรูแมน แห่งสหรัฐฯ คณะกรรมการที่พิจารณาปัญหาปาเลสไตน์แห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ปาเลสไตน์ต้องแบ่งเป็นสองประเทศ แต่ร่วมกันทางด้านเศรษฐกิจ และให้ นครเยรูซาเล็ม อยู่ภายใต้การปกครองของนานาชาติ

           แต่ อาหรับและยิว ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว การแบ่งประเทศอาจเป็นความต้องการของมหาอำนาจ ไม่ใช่ของอาหรับและยิว โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง อัล-อักซอ  ส่งผลให้ อาหรับกับยิว ที่ต้องมาฆ่าฟันกันเองโดยไม่จบสิ้น

            ความสำคัญและจุดยุทธศาสตร์สำคัญของปาเลสไตน์ คือ อัล-อักซอ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเยรูซาเล็ม เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ทุกอย่างดูจะมืดมน

            อัล-อักซอ คือ สถานที่สำคัญที่สามศาสนาใหญ่ๆของโลก (ยูดา คริสต์ อิสลาม) เคยเป็นเจ้าของครอบครอง ในหลักคิดของศาสนาอิสลามมองว่า มัสยิดสำคัญของอิสลามคือ มัสยิดหะรอม (ซาอุดิอารเบีย) มัสยิดนะบาวี (ซาอุดิอารเบีย) และมัสยิดอัล-อักซอ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ยังไม่รู้แน่ชัดเหมือนกันว่าจะเป็นของประเทศใด

            ขณะที่ ชาวยิวและชาวคริศต์ ก็มีเหตุผลที่แต่ละฝ่ายจะแสดงตัวเป็นเจ้าของ อัล-อักซอ เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาและบรรดาศาสดาของทั้งสามศาสนามากมาย ปัญหาฝั่งนี้ของปาเลสไตน์ เป็นฝั่งทางความคิด อุดมคติ ศาสนา ความเชื่อ ที่สามารถผันแปรไปอย่างไม่สิ้นสุด และไม่สามารถคำนวณใดๆได้ ซึ่ง อัล-อักซอ ถูกวางไว้เป็นระเบิดที่รอเวลาจะเดินไปถึง

           เป็นความต้องการเดียวกันและสิ่งเดียวกัน ที่หากฝ่ายใดเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำหรือยอมก่อน อาจไม่เหลือแม้ความเป็นชาติ หรือ อาจรวมถึงเรื่องศาสนาวัฒนธรรม ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

           แต่เมื่อมาถึงวันนี้เหตุการณ์หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป บทเรียนมากมายที่มหาอำนาจได้รับจากการสร้างความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้สหรัฐฯดำเนินนโยบายในภูมิภาคตะวันออกกลางลำบากยิ่งขึ้น

            โดยเฉพาะ บารัก โอบามา เองก็ดูเหมือนจะเงียบและดูจะไม่มีอะไรที่เป็นนโยบายที่ชัดเจนในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะอาจจะทุนไม่ถึง เสียงสนับสนุนเริ่มถดถอย งบประมาณด้านความมั่นคงและทางทหารของสหรัฐฯที่ถูกเผาผลาญไปกับการสร้างความมั่นคงและการปราบปรามการก่อการร้าย สูญเปล่าไป สิ่งที่ได้รับแทนที่จะเป็นมิตรภาพกับกลายเป็นศัตรู และอาจถึงขั้นเสียความเชื่อถือจากประชาคมโลกในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

            เนื่องจากหลายต่อหลายครั้งที่สหรัฐฯจำเป็นต้องใช้งบประมาณและความร่วมมือจากหลายประเทศในนามของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่หลายประเทศในกลุ่มสมาชิกต้องตกไปเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ที่ลงไปร่วมกับปัญหาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เหมือนกับตกอยู่ในกับดัก บวกกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ทำให้ต้องทำได้แค่ประครองตัว พันธมิตรหลายประเทศ เช่นยุโรป ก็ย่ำแย่กับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำเช่นกัน

            สภาพดังกล่าวของสหรัฐฯนี้มีผลทำให้การควบคุมสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางไม่เหมือนเดิม จนเกิดเป็นการประท้วงมากมายเกิดขึ้นในภูมิภาคอย่างที่เป็นข่าวการประท้วงของชาวอาหรับขับไล่ผู้นำตัวเอง และอาจจะมีผลถึงประเทศอิสราเอลด้วยที่อาจได้รับผลกระทบตามกันมา เพราะอิสราเอลก็ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากมหาอำนาจจำนวนมากมายในแต่ละปี

              ในกลุ่มของประเทศอาหรับ ที่พยายามรวมตัวกันอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างพลังหยุดยั้งการแทรกแซงและการกอบโกยทรัพยากรจากมหาอำนาจ เสียงของอิหร่าน ดังกร้าวเสมอมาว่า อิสราเอล ต้องลบจากออกจากแผนที่โลก (อย่างน้อยก็ต้องออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์) เป็นวาทกรรมเชิงกลยุทธที่ลุ่มลึก ผู้นำในประเทศอาหรับ ที่มีมหาอำนาจอยู่เบื้องหลังเริ่มหมดหายไป เริ่มเห็นกลุ่มฮะมาส ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภา กลุ่ม จีซีซี กลุ่มโอไอซี กลุ่มโอเป็ค กลุ่มสันติบาตรอาหรับ ฯลฯ และการขอรับรองการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในปัจจุบันนี้ก็เป็นปรากฎการณ์ ที่มองเห็นถึงความพยายามรวมกลุ่มกันมากยิ่งขึ้น

             สหรัฐฯยังคงต้องระแวงกับการรวมตัวของกลุ่มประเทศอาหรับ คงต้องหวาดระแวงต่อการสูญเสียบารมี/อำนาจในจุดเสี่ยงหลายจุดของพื้นที่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ล้วนเป็นพื้นที่สำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่างๆของโลก เพราะหากบรรดาประเทศอาหรับรวมกลุ่มกันได้แล้ว อำนาจของสหรัฐฯในภูมิภาคอาจเปลี่ยนมือไปเป็นของมหาอำนาจอื่น เช่น รัสเซีย จีน ซึ่งเป็นค่ายสังคมนิยมที่สหรัฐฯก็มีความหวาดระแวงไม่น้อยไม่กว่าการรวมกลุ่มของประเทศอาหรับ 

             ขณะที่ สหรัฐฯต้องเล่นศึกสองด้านพร้อมๆกัน ด้านหนึ่งคือ การรวมกลุ่มของประเทศอาหรับ และอีกด้านหนึ่งคือ การเข้ามามีอิทธิพลของมหาอำนาจอื่น ที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่สหรัฐฯอย่างที่เห็นปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

             ปาเลสไตน์ มีความพยายามเพื่อจะเข้าไปเป็นสมาชิกกับองค์การต่างๆไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสหประชาชาติ สมาชิกยูเนสโก ฯลฯ ความพยายามที่จะสถาปนารัฐของตัวเองขึ้นมาเป็นภาพที่สามารถมองสะท้อนกลับไปยังประเทศต่างๆในโลกว่า อาหรับที่ยอมรับให้เกิดรัฐปาเลสไตน์และสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว มันเป็นภาพที่มองเห็นถึงศักยภาพที่มากขึ้นของประเทศอาหรับด้วย

             โลกอาหรับเข้าใจดีว่า หากประเทศอาหรับไม่รวมกันในเพื่อสร้างความเข้มแข็ง/พลังให้แก่ตัวเอง ก็จะถูกแทรกแซงจากมหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่ง แต่การจะรวมกันนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายโดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ การปราบปรามการก่อการร้าย ปัญหาการพัฒนานิวเคลียร์ ความพยายามแยกให้มุสลิมแบ่งออกเป็นสายต่างๆ เช่น มุสลิมสายกลาง มุสลิมหัวรุนแรง มุสลิมนิยมซ้ายหรือขวา นิยาม ให้มุสลิมถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้เกิดเป็นภาพแห่งความเลวร้าย/น่ากลัว/นิยมความรุนแรง (Islamophobia) ฯลฯ 

               สภาพปัญหาเหล่านี้ คือตัวการทำให้อาหรับรวมตัวกันไม่ติด  

                ความจริงแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดจากการลืมอดีต และมองอดีตอย่างไม่สร้างสรรค์ อาหรับและยิว คือพี่น้องกัน มีพ่อคนเดียวกัน จึงไม่น่าจะใช่เรื่องความขัดแย้งทางด้านศาสนา แต่เป็นเรื่องที่ต้องการทำให้ศาสนาเกิดความแตกแยกกัน

                ขณะที่  ยิว คริสต์ อิสลาม เป็นสามศาสนาที่มาจากแหล่งเดียวกัน แม้จะมีอะไรต่างกันเล็กน้อย สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นต้องพัฒนาไปโดยให้ความสำคัญของศาสนาทั้งสามศาสนานี้อย่างเหมาะสม การสร้างเงื่อนไขให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสามศาสนาล้วนเกิดจากกลุ่มคนจากภายนอกทั้งสิ้น

               ความพยายามที่จะบอกว่าสงครามในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นสงครามที่สู้รบกันเพราะความขัดแย้งทางศาสนา ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นสงครามการยึดครองพื้นที่ สงครามช่วงชิงทรัพยากร สงครามของผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว  เพราะหากพิจารณากับถึงบทบัญญัติของแต่ละศาสนาแล้วจะพบว่า ทั้งสามศาสนา สอนให้มีความรักและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน

             เช่นที่ศาสนาอิสลามสอนว่า อาหารของชาวคริสและยิว (ชาวคัมภีร์) นั้นเป็นที่อนุมัติให้มุสลิมบริโภคได้ และการแต่งงานกับชาวยิว และคริสเตียนก็เป็นที่อนุมัติแก่มุสลิมเช่นกัน

             นั่นเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า คำสอนของศาสนาทั้งสามนั้นต้องการให้เกิดความรักความสามัคคีต่อกัน ปัญหาที่ควรระมัดระวัง คือ การปลุกเรื่องชาตินิยม/เผ่าพันธุ์นิยม/เชื้อชาตินิยมรุนแรงขึ้นมาทำลายกันเอง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของทั้งสามศาสนาที่ดูจะมีความอ่อนไหวต่อปัญหานี้

...........................