จุฬาราชมนตรี: ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม
โดย จันทร์เสี้ยวบางนรา
หากเรามองย้อนไปในความเป็นมาอันยาวนานของชาติไทย ก็จะพบข้อเท็จจริงว่าผู้คนที่เป็นชาวไทย เชื้อสายมุสลิมนั้นได้เป็น “ส่วนสำคัญ” ของประวัติศาสตร์ร่วมกันมากับชาวไทยเชื้อสายอื่นอย่างเต็มภาคภูมิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” อันเป็นตำแหน่งที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามานั้น ล้วนแต่เป็น บุคคลที่มากไปด้วยความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกล้าหาญในการศึกสงครามปกป้องราชบันลังก์ ฯลฯ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องยืนยันถึงความภาคภูมิดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
หนังสือ “จุฬาราชมนตรี ประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม” ที่เขียนโดย เอกราช มูเก็ม กล่าวได้ว่า เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ผู้เขียนตั้งใจจะรวบรวมข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของชาวไทยมุสลิมอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่ท่านจุฬาราชมนตรีท่านแรกยุคเริ่มต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ด้วยประสบการณ์และอาศัยความสามารถในการเป็น “นักข่าว” ทำให้สามารถย่อยแยะและเรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้เข้าใจง่ายอย่างน่าติดตาม
ในเนื้อหานอกจากเรื่องราวอันถือเป็น “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนนำเสนอแล้ว ในแต่ละช่วงของเรื่องราวนั้นผู้เขียนก็ยังได้แทรก “ข้อคิดเห็น” อันน่าสนใจต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดประกายความคิดตามไปด้วย
โดยเฉพาะการฉายภาพความเป็น “สถาบัน” หรือ “องค์กร” ทางศาสนาอิสลามของชาวไทยมุสลิมในกระแสการเมืองอันเข้มข้นในยุคที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
เอกราช มูเก็ม ได้เขียนในคำนำไว้น่าสนใจ โดยเขาบอกว่าแม้เขาจะเป็นมุสลิมมาโดยกำเนิด แต่เรื่องราวหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ผู้นำไทยมุสลิม โดยพาะตำแหน่งสำคัญๆอย่าง”จุฬาราชมนตรี”ไม่ค่อยมีให้ค้นคว้า อาจมีบ้างแต่ก็เป็นเอกสารและเรื่องที่หายาก ประกอบกับรัฐบาลไทยเองไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือละเลยจนไม่มีการบันทึก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ร่วมกันศึกษา
เพราะแท้จริงแล้วบรรพชนมุสลิมในรุ่นเก่าที่เป็นทั้งจุฬาราชมนตรีและเป็นขุนนางในอดีต ล้วนแต่เป็นผู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสถานบันมาช้านาน “หลายคนมือถือดาบต่อกรกับอริราชย์ศัตรู หลายคนต้องแลกชีวิต เพื่อปกป้องสถาบัน เหล่านี้นับเป็นคุณูปการกับคนไทย แสดงให้เห็นว่ามุสลิมในประเทศไทย ไม่ใช่คนอื่นตามที่คนบางคนเข้าใจ” ถ้าเราได้เรียนรู้ร่วมกัน ความสมานฉันท์ในชาติจะเกิดขึ้น
“จุฬาราชมนตรี :ประวัติศาสตร์ผู้นำมุสลิมไทย “ จึงเป็นคู่มือสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์และเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่รัฐบาลละเลย จนกลายเป็นสิ่งหายากในสังคมปัจจุบันนี้
พิมพ์ครั้งแรก : พ.ศ. 2549