เนชั่น-สุทธิชัย
ความตายของอุตสาหกรรมสื่อ
โดย จอกอ
คมคิด : การล่มสลายของอาณาจักรสื่อ ยุคสุทธิชัย หยุ่น ไม่เพียงความปราชัยของคนสื่อระดับแถวหน้าของประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นความผิดพลาดล้มเหลว ของ “นักธุรกิจสื่อ” ที่ขาดทักษะการบริหาร และฝันว่า ความเป็นอุตสาหกรรมจะนำมาสู่ความเรืองรอง และมั่งคั่งทางฐานะการเงิน
ซึ่งแท้จริงแล้ว ปรากฏการณ์เนชั่น กลับอธิบายว่า คนทำสื่อเล็กๆ สื่อเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งการเป็นกิจการในครอบครัวนั้น คือ หนทางอยู่รอด
สำหรับกลุ่มคนที่มารับไม้ต่อ ชะตากรรมอาจไม่แตกต่างกัน
จะดีหรือร้าย ยังไม่มีใครรู้ได้ แต่อย่างน้อย การจากไปของคุณสุทธิชัย หยุ่น คุณเทพชัย หย่อง และแทนที่ด้วยเลือดใหม่ เช่น คุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม บอสส์เอ็นบีซี อีกทั้งคุณสมชาย มีเสน ซีอีโอเนชั่น ก็ควรเป็นวาระลาจาก ถ้อยคำที่ว่า “ ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา” ด้วย เพราะจากนี้ไป คือยุคแห่งการกอบกู้เนชั่น ซึ่งภารกิจเร่งด่วน คือ การล้างตัวแดง หรือนัยหนึ่งคือการสร้างเนชั่นให้กลับมาแข็งแกร่งในทางธุรกิจอีกครั้ง
การเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนกลุ่มเนชั่น ก้าวมายืนแถวหน้าของวงการสื่อมวลชน แม้เรือธง อย่าง THE NATION จะไม่สามารถเอาชนะ BANGKOKPOST ได้ เริ่มเห็นชัดขึ้น หลังคำประกาศของผู้บริหาร เมื่อเดือนมีนาคม 2531 ว่า
“ บัดนี้ บริษัทพร้อมที่จะเป็น บริษัทมหาชน เปิดกว้างให้ประชาชนวงการต่างๆ สามารถเข้ามาถือหุ้นของบริษัทได้”
พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่า ผ่านมา 20 ปี การเปิดประตูต้อนรับประชาชนวงการต่างๆ ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงชาวบ้านทั่วไป ที่ต้องการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของแม้เพียงเล็กน้อยในสื่อที่เชื่อถือศรัทธา กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มทุนสามานย์ เข้ามาครอบงำกิจการ และช่วงชิงความเป็นเจ้าของไปได้ในที่สุด
ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจในรูปแบบครอบครัว ที่เป็นการทำงานร่วมกันของทายาทที่สืบต่อกันมากับมืออาชีพ กลับรักษาฐานที่มั่นไว้ได้ แม้จะไม่แข็งแกร่งเหมือนเดิม แม้จะผันผวนไปตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารบ้าง แต่ธุรกิจสื่อแบบครอบครัว ก็สามารถสกัดกั้น “ สิ่งแปลกปลอม” และยังคงรักษาเป้าหมายในเชิงอุดมการณ์ ที่เป็นหัวใจของงานสื่อได้
ในห้วงสองทศวรรษก่อน ธุรกิจสื่อ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก ด้วยหวังว่าสามารถจะระดมทุนจากคนทั่วไป ดีกว่าต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ นั่นคือยุคเริ่มต้นของ Media Industry หรืออุตสาหกรรม ซึ่งทำให้วิธีคิด เป้าหมาย ปรัชญาการทำงานเปลี่ยนไป สู่เป้าหมายกำไร – ขาดทุน เป็นตัววัดความสำเร็จ
ในขณะที่วัฒนธรรมองค์กร ก็เปลี่ยนไป เป็นการทำงานหนัก เพื่อตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจ นักข่าว กลายเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่ออุตสาหกรรมขยายไปสู่ทิศทางของสื่อภาพ และเสียง ก็สร้าง “ ชนชั้นสื่อ”ให้เกิดขึ้น โดยชนชั้นหลังจอ ทำงานหนัก เงินเดือนน้อย ในเวลาที่ชนชั้นหน้าจอ กลายเป็น”ดารา” เป็น” เซเลป” ทำงานน้อย แต่องค์กรจ่ายหนัก
ปรากฏการณ์หนึ่ง นอกเหนือจากความเป็นอุตสาหกรรม และวัฒนธรรมองค์กร คือ สัญญาณในการครอบงำกิจการสื่อในตลาดหุ้น โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น ที่เคยเกิดขึ้นในสงคราม 5 วัน คือ ระหว่างวันที่ 12 – 16 กันยายน 2548 เมื่อ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เทคโอเวอร์มติชน อย่างไม่เป็นมิตร คือ การไปเก็บหุ้นที่อยู่ในกองทุนต่างๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ครั้งนั้น เพื่อนพ้องสื่อมวลชน ในระดับองค์กร ต่างเคลื่อนไหว เป็นแนวร่วมในการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของ มติชน จนแกรมมี่ ต้องขายหุ้นคืน
น่าแปลกอย่างยิ่ง ที่ปรากฎการณ์เช่นนั้น ไม่เกิดขึ้น หรือ อย่างน้อยไม่มีพลังเพียงพอที่จะต้านทานทุนภายนอก ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากมติชน เปลี่ยนเพียงแกรมมี่ เป็นนิวส์ เน็ตเวิร์ค
ครั้งสุดท้าย ผู้ถือหุ้นเนชั่นก็ได้แต่ใช้เกมธุรกิจต้านเกมธุรกิจ ด้วยความพยายามซื้อหุ้นคืนในรูปแบบต่างๆ แต่ไม่มีพลังภายนอกหนุนช่วยอีกต่อไป
การเป็นบริษัทในตลาดหุ้น ได้ให้คำตอบแล้วในนาทีนี้ว่า มันมิใช่หนทางของความเป็นสื่อที่ต้องยืนยัน และยืนหยัดในความเป็นอิสระจนวาระสุดท้าย และมันยิ่งลำบากยิ่ง หากต้องรักษาเป้าหมายในเชิงอุดมการณ์ไว้ เช่น ยุค “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา” ในช่วงที่ผ่านมา
ยุคกอบกู้วิกฤติการเงินของเนชั่นจากนี้ ก็เป็นเรื่องธุรกิจ พระเจ้าคือความสามารถในการล้างตัวแดง และ สร้างเรทติ้ง คนดูมา เงินมา ศรัทธาเกิด เหตุผลอื่นนอกจากนี้ไม่มี
ตีพิพม์ครั้งแรก : คอลัมน์ คมคิด
นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561