อิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ สถาบัน ปั้นนักคิด ปัญญาชนมุสลิม
สำนักข่าวอะลามี่ : กว่า 70ปี ที่สถาบันการศึกษาอย่าง “อิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ “ หรือ อศอ. ได้ก่อตั้งจนถึงวันนี้ได้ผลิตบุคลากรของสังคมมุสลิมและของประเทศจำนวนมาก
โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ หรือ อศอ.นับเป็นโรงเรียนที่เคียงคู่กับชุมชนตำบลคลองตะเคียน อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มากว่า 70 ปี โดยในยุคแรกเปิดการเรียนการสอนเฉพาะด้านศาสนาในปี 2470 โดยตั้งชื่อว่า “ โรงเรียนกุรอานียะห์” สืบต่อมาในปี 2482 โต๊ะกีแอ ตะเคียนคาม เป็นอีหม่าม มาจนถึงสมัยของ อีหม่ามอับดุลการีม (หริ่ม)
ในปี พ.ศ.2486 นายมูฮำหมัด (อุมัร) เลาะวิถี บุตรฮัจยีสุโกร เลาะวิถี ดำรงตำแหน่งอีหม่ามสืบต่อมา และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนรุกียุนมะอาริฟ” โดยมี อาจารย์มูซา ฮานาฟี เป็นผู้อำนวยการ โรงเรียนรุกียุนนะอาริฟ เป็นจุดเริ่มต้นของ “ โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ” และทางราชการได้ใช้เป็นที่สถานศึกษาประชาบาลมีชื่อว่า “ โรงเรียนประชาบาลตำบลคลองตะเคียน 1 (มัสยิดกุฎีช่อฟ้า) เปิดทำการสอนเมื่อ 1 มิ.ย. 2465 เป็นต้นมา
อาจารย์ ไฟซ้อล บุญรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ หรือ อศอ. กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ มี ฮัจยีอีหม่าม ฮาซัน ฮานาฟี เป็นผู้รับใบอนุญาต บนพื้นที่โดยรวมประมาณ 20 ไร่ เริ่มต้นจากการเรียนการสอนภาษาหรับและด้านศาสนา เป็นหลักในอดีต และจดทะเบียนโรงเรียนเอกชน เป็นอันดับแรกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
“ เราความเห็นว่า การเรียนด้านใดด้านหนึ่ง ด้านทางโลกหรือทางธรรมเพียงอย่างเดียว ไม่เหมาะกับการดำรงชีพหรือการมีชิวิตอยู่ในปัจจุบัน ทุกคนต้องเรียนรู้ทั้งศาสนาและสามัญด้วย ซึ่งสอดคล้องตามหลักการของศาสนาด้วย ทุกชีวิตต้องมีความรู้ทั้ง 2 ด้าน เพื่อที่จะดำรงชีพอย่างมีความสุข “
โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยา ปัจจุบันจัดการศึกษาควบคู่ หรือเรียกกันว่า การศึกษาแบบบูรณาการ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มตั้งแต่ อ.1- ชั้นประถมศึกษา ไปจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การศึกษาที่ต่อเนื่องจะทำให้เด็กได้รับอุดมการณ์เรื่องของศาสนาได้อย่างเต็มที่ เป็นระบบ ปัจจุบันเรามีเด็กนักเรียนในความดูแลกว่า 2 พันคน
อาจารย์ ไฟซ้อล กล่าวว่า จุดเด่นของ อศอ. ปัจจุบันเป็นโรงเรียนต้นแบบ เป็นการจุดประกายให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทางภาคใต้ หรือภาคอื่นๆ ก็ตาม ให้ความสนใจมาศึกษาดูงาน และด้วยที่นี่อาจจะเป็นในลักษณะของชุมชนศูนย์การทางการศึกษา คือ ทุกคนมีส่วนร่วมทางการศึกษา เช่น ครูบาอาจารย์ ก็จะเป็นคนในชุมชน ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาจากที่นี่
“ ศิษย์เก่าที่มีความรักและความผูกพันเป็นคนที่เสียสละและมาช่วยกันในเรื่องของการศึกษา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก ชุมชนจะเป็นผู้จัดการศึกษา เป็นผู้ดูแลเยาวชนและบุตรหลานที่มาจากหลายภูมิภาค เช่น จากเชียงใหม่ เชียงราย หรือแม้แต่ ยะลา นราธิวาส หรือจากภาคอีสาน อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร เราช่วยเหลือดูแลเสมือนเป็นคนในครอบครัว เป็นโฮส หรือ ระบบแฟมมิลี่ หรือ ระบบครอบครัว “ อาจารย์ ไฟซ้อล กล่าวและว่า
นักเรียนที่มาเรียนที่นี่ ตั้งแต่ในอดีตทุกคนจะมีคำว่าบ้านพักนักเรียน โดยที่เจ้าของบ้านจะมีความรู้สึกยินดี และดีใจ ที่มีส่วนได้มีการส่งเสริมด้านการศึกษา ยอมสละพื้นที่ในบ้าน เพื่อที่จะให้นักเรียนมาได้อาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว เหมือนเป็นลูกเป็นหลานอีกคนในครอบครัว ปัจจุบันมีประมาณ 30 ครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอดร่วม 80 ปีมาแล้ว
“ เด็กที่มาอยู่ในบ้าน หรือเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้เขาจะมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัว หรือ เป็นญาติ จะมีความผูกพัน รับประทานอาหารร่วมกัน กันกินข้าวหม้อเดียวกัน ละหมาดด้วยกัน อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน เด็กเหล่านี้ก็เหมือนเป็นพี่น้องกัน เขาก็จะเกิดความรักต่อกัน”
ถ้าพูดถึงเรื่องบุคลากร ที่นี่เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรคนสำคัญของสังคมมุสลิม อาทิเช่น ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม , ดร.ศราวุฒิ อารีย์, ดร.มาโนชย์ อารีย์, ดร.วิศวุต เลาะวิถี และอีกหลายท่าน ที่เป็นนักธุรกิจและนักวิชาการ ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศไทย
อาจารย์ ไฟซ้อล กล่าวว่า สิ่งที่เราภูมิใจและกำลังดำเนินการต่อไปคือ การพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนไปสู่สากลระดับ ซึ่งปัจจุบันเราเป็นศูนย์ TEM (Technologe Engineir Matmatice) เป็นหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาได้ประกาศให้นำเรื่องวิทยาศาสตร์ ให้เด็กใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ จะทำให้เด็กได้เกิดการพัฒนาในด้านการคิด และอุดมการณ์ในการทำงาน
“ ปัจจุบัน อศอ. มีการสอน 4 ภาษา คือ ภาษาหลักเป็นทางการของประเทศ ยังมีภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ และ ภาษามลายู เพราะเรื่องของภาษา มีความสำคัญของโลกปัจจุบัน ”
(ล้อม)
“ธรรมธาชัย”หนึ่งในครอบครัวอุปถัมภ์
ด้วยสภาพชุมชนคลองตะเคียนเป็นชุมชนการศึกษา ทำให้โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ จึงมีจุดเด่นของโรงเรียน คือ ที่นี่ไม่มีหอพักนักเรียน แต่ทุกคนจะต้องอยู่กับโฮส หรือครอบครัวอุปถัมภ์
ครอบครัว ” ธรรมธาชัย” เป็นหนึ่งใน 30 ครอบครัวที่รับเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ ธรรมธาชัย และ นางสุรีย์ ธรรมธาชัย เป็นผู้ดูแล
ปัจจุบัน นายพงษ์ศักดิ์ เป็นพนักงานบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ครอบครัวนี้มีลูก 5 คน หญิง 1 คน ชาย 4 คน คนเล็กเรียนชั้น ป.5 ส่วนคนพี่ๆ มีครอบครัวแล้ว ขณะที่คนรอง เพิ่งเรียนจบระดับปริญญาโทจากประเทศอินเดีย ส่วนคนที่ 3 กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ปกติแม้เขาจะไม่ค่อยอยู่เมืองไทย แต่คนที่รับภาระในการดูแลเด็กอุปถัมภ์คือ นางสุรีย์ ผู้เป็นภรรยา ซึ่งได้รับเด็กนักเรียนมาแล้ว 2 รุ่น
“ เด็กที่มาอยู่กับเรา จะอยู่กันเหมือนลูก มาเป็นเพื่อนกับลูกของเราไปโรงเรียนพร้อมกัน ทำให้เด็กเกิดการผูกพัน อีกทั้งยังเชื่อมโยงระหว่าง 2 ครอบครัวอีกด้วย ทำให้เราจะมีการไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของเด็กซึ่งกันและกัน ” พงษ์ศักดิ์ กล่าวและว่า
เขาดูแลเด็กเสมือนกับเป็นลูกคนหนึ่ง ประสานงานดูแลเรื่องการเรียน การบ้าน ช่วยพยุงเรื่องการเรียน มีปัญหาเรื่องอะไรก็จะช่วยแก้ไข รวมถึงการทำกิจกรรมในครอบครัวออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือท่องเที่ยว เราก็จะเป็นครอบครัวเดียวกัน หลังจากที่ไม่มีเด็กอุปถัมภ์ทำให้ครอบครัวดูเงียบเหงาไปบ้างในบางโอกาส
เขาบอกว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่ล้มเลิกการรับเด็กนักเรียนมาเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งนี้ก็ต้องดูความพร้อมและโอกาส พร้อมกับกล่าวอย่างหนักแน่นว่า การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ไม่ได้ทำให้ครอบครัวมีปัญหาเพิ่มขึ้น หนำซ้ำยังเป็นการสร้างความสุขให้กับครอบครัวอีกด้วย