กฟผ.นำนักข่าวภาคใต้ ดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเลเซียในเชิงประจักษ์
สำนักข่า่วอะลามี่ : ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ ) นำโดย นายศุภชัย ปิตะสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการก่อสร้าง ว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อม นายวีระชัย ยอดเพชร หัวหน้าโครงการเตรียมงานพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้นำสื่อมวลชนทุกสาขาใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 60 คน เดินทางไปศึกษาดูงานเชิงประจักษ์ ณ โรงไฟฟ้าจิมาห์ ณ รัฐเนเกรี เซมบิลัน ประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้รับรู้ข้อมูลในเชิงประจักษ์ เนื่องจาก โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ได้สร้างเสร็จและเดินเครื่อง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา รวมทั้งตั้งอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำ แล ะห่างจากโรงแรม รีสอร์ท ชายทะเล สถานที่พักตากอากาศเพียง 4 กิโลเมตร รวมทั้ง รอบบริเวณโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เป็นชุมชน ที่ประกอบอาชีพ ประมง และการเกษตร ไม่แตกตากจาก สถานที่ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ อ.เทพา จ.สงขลา
ซึ่งในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้แทนของโรงไฟฟ้าจิมาห์ ได้ให้รายละเอียดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจิมาห์ เป็นโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ขายไฟฟ้าให้กับทางการมาเลเซียขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหิน บีทูนัส และ ซับบีทูนัส เป็นเชื้อเพลิง เปิดเดินเครื่องตั้งแต่ปี 2552 โดยวิธีการถมทะเล และได้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายทุกอย่าง โรงงานมีระบบป้องกันมลภาวะสิ่งแวดล้อม เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต ตั้งแต่เดินเครื่องมา ไม่เคยมีปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และมลภาวะเกิดขึ้น ทำให้โรงงานสามารถที่จะอยู่ร่วมกับชุมชน และอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้โดยไม่มีปัญหา
" ในระยะแรกๆที่เข้ามาก่อสร้าง ชาวประมงในพื้นที่ก็มีความคิด และความรู้สึกว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้า อาจจะส่งผลกระทบกับอาชีพของเขา ซึ่งเป็นเรื่องความวิตกกังวลที่เป็นปกติ โดยทางโครงการก็ได้ให้ข้อมูลเพื่อแสดงให้เห็นถึงระบบการป้องกัน ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่มีมลภาวะกับสุขภาพของผู้คนในชุมชน แต่เพื่อความสบายใจทางโครงการ ได้ส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านในชุมชนด้วยการตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพให้กับ ชมรมชาวประมง " ผู้รับผิดชอบโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจิมาห์ กล่าวและว่า
ต่อมาหลังจากที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่อง จากปี 2552 จนถึงปัจจุบัน สิ่งที่พบในเชิงประจักษ์คือ สัตว์น้ำในแนวชายฝั่งกลับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าลงทะเลไปสร้าง แพลงตอนให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ยังกล่าวว่า ขณะนี้ โรงไฟฟ้าจิม่าห์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงที่ 2 มีกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่องรวม 2,000 เมกะวัตต์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในเชิงพาณิยช์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40 และมีกำหนดจะเปิดเดินเครื่องในปี 2562 และหลังจากก่อสร้างเสร็จ ประเทศมาเลเซียจะมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 5 เครื่องด้วยกัน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ เพื่อสอบถามชาวบ้านหลายสาขาอาชีพ ที่อยู่ในบริเวณระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร เพื่อฟังความคิดเห็น และสอบถามถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเหล่านั้นได้ให้ข้อมูลว่า คนในชุมชน และนอกชุมชนแห่งนี้ยังไม่มีใครที่ เจ็บป่วย ด้วยสาเหตุที่มาจากโรงไฟฟ้า สิ่งที่พวกตนเป็นห่วงมีเพียงเรื่องเดียว คือหลังจากที่โรงไฟฟ้าเกิดขึ้น ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้น การจรจาแออัดกว่าเดิม การสัญจรต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น แต่สิ่งที่ดีๆคือ คนในพื้นที่มีงานทำ ทั้งในโรงงาน และที่อื่นๆ เนื่องจากมีการเติบโตของชุมชน
ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ได้กล่าวว่า การนำผู้สื่อข่าวมาครั้งนี้ เพื่อให้ศึกษาดูงานในเชิงประจักษ์ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ เดินเครื่องตั่งแต่ปี 2552 ซึ่งในขณะสร้างเทคโลโลยียังไม่ทันสมัยเท่ากับปัจจุบัน สถานที่ตั้ง ชุมชนรายรอบ ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่คนในชุมชน และแหล่งท่องเทียว ยังไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างที่มีการวิตกกังวล เมื่อผู้สื่อข่าวมาเห็นของจริงในเชิงประจักษ์ ก็จะได้นำสิ่งที่พบเห็นไป”สื่อ” กับคนในพื้นที่ คนในประเทศ ได้อย่างถูกต้อง
สำหรับในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น มีการใช้เทคโนโลยี ที่ทันสมัย และมีการร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐ ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน