เปิดโรดแมป การคัดเลือก กรรมการอิสลามประจำจังหวัด
++++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่: หลังจากที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดนี้ทั้ง 39 จังหวัด หมดวาระในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เบื้องต้นจากการหารือร่วมกันทั้งกรมการปกครอง และ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย
โดยได้เห็นชอบวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ทุกฝ่ายน่าจะมีความพร้อม จึงได้เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตามวันคัดเลือกที่ชัดเจนนั้น จะต้องรอการประกาศจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง
นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง แผนการปฏิบัติการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หากดูจุดมุ่งหมายของ พรบ.2540 มุ่งให้คณะกรรมการกำกับดูแลกันเอง ให้ดูแลองค์กรเดียวกัน แต่ต่างระดับกัน
. การให้องค์กรศาสนามาดูแลกันเอง ทำให้การสรรหา คัด-คัดเลือก-เลือกตั้ง หรือ แต่งตั้งเสมือนการประนีประนอม เป็นการแต่งตั้ง หรือ คัดเลือกกรรมการในระดับต่างๆ น่าจะเป็นจุดดีของ พรบ. ฉบับนี้
ส่วนการที่จะมีการคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ครบวาระในวันที่ 23 พ.ย. 2560 ซึ่งกฎหมายระบุว่า ให้คัดเลือกภายใน 90 วัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีผลต่อเนื่อง น่าจะคัดเลือก ในวันที่ 27 พ.ย. 2560 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ต้องรอรัฐมนตรีว่าการระทรวงมหาดไทยเห็นชอบอีกครั้ง
สำหรับจังหวัดที่จะมีการคัดเลือกมีทั้งหมด 35 จังหวัด รวมจังหวัดกรุงเทพมหานคร ด้วย โดยทราบว่าหลายจังหวัดมีการจัดทีม บางจังหวัดไม่มีการแข่งขัน และคาดว่าจะมีการแข่งขันค่อนข้างสูงประมาณ 5 จังหวัด
สำหรับขั้นตอน หลังกำหนดวันได้แจ้งให้กรรมการฯ ไปสำรวจ และตรวจสอบมัสยิดที่จดทะเบียนที่ถูกต้อง จากนั้นจะแจ้งว่าแต่ละจังหวัดจะมีกรรมการได้กี่คน และให้จัดทำบัญชีรายชื่ออิหม่าม ซึ่งจะต้องทำก่อนทำการเลือกตั้ง 15 วัน อิหม่ามรักษาการไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้
จากนั้นประกาศกำหนดวันคัดเลือกก่อน 15 วัน พร้อมบัญชีรายชื่อ ติดประกาศที่ว่าการอำเภอ, มัสยิด, ที่ทำการคณะกรรมการจังหวัด, และ ที่ทำการกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้มีการเพิ่ม หรือถอนชื่อ ให้เสร็จก่อนล่วงหน้า 3 วัน ก่อนมีการคัดเลือก
วันคัดเลือกมีการดำเนินการดังนี้ ในช่วงเช้าประชุมชี้แจง และเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งให้มีการตกลงกันเองว่าจะรับรองอย่างไร เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ มีอิหม่ามไม่เท่ากัน
ถ้ามีการเสนอชื่อเท่าตามจำนวนที่กำหนด สามารถเสนอชื่อได้ แต่หากเสนอชื่อเกินจำนวน ในช่วงบ่ายต้องจัดให้มีการลงคะแนน ซึ่งเป็นไปตามการตกลงในที่ประชุม แต่น่าจะเป็นการเปิดเผย
ส่วนคุณสมบัติของผู้ได้รับการคัดเลือก จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบภายใน 15 วันโดยประมาณ จากนั้น กำหนดให้จังหวัด เรียกประชุมคณะกรรมการอิสลาม ครั้งแรกภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ อาทิเช่น ประธานกรรมการ รองประธาน เลขานุการ และตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญคือ ชื่อตัวแทนที่เข้าเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอกระทรวงมหาดไทย
หลังจากนั้น ก็จะตรวจสอบคุณสมบัติอีกรอบ ก่อนนำความขึ้นกราบบังคมทูล เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้คาดว่า หากมีการคัดเลือกวันที่ 27 พ.ย. กระบวนการน่าเสร็จสิ้น ภายในเดือน 15 มกราคม 2561
ส่วน กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กฤษฎีกา วินิจฉัยไว้ว่า เมื่อพ้นจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ก็พ้นจากกรรมการกลาง ด้วย
ทั้งหมดเป็นขั้นตอนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
นายสมชัย กล่าวถึงบทบาทของกรมการปกครอง ที่มีต่อองค์กรศาสนาอิสลาม ว่า ได้สนับสนุนกิจการศาสนา ในการคัดเลือกจุฬาราชมนตรี การเลือกกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด การย้าย รวมถึงเลิกมัสยิด และยังดูแลศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามฯ คลองเก้า ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักจุฬาราชมนตรี ที่ทำงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
โดยสถานที่แห่งนี้ ทุกปีจะมีการจัดงานเมาลิดกลาง ซึ่งกรมการปกครอง จะเข้าไปร่วมจัดสถานที่ และการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ
กรมการปกครองยังส่งเสริมกิจการศาสนา ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ เป็นค่าตอบแทน ให้ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เนื่องจากเห็นว่ามีภาระหน้าที่บริหาร ซึ่งมากน้อยก็ขึ้นกับจำนวนมัสยิดแต่ละจังหวัด โดยมีค่าตอบแทนตั้งแต่ 1,900-3,500 บาท อีกทั้งยังมีค่าตอบแทนให้กับท่านอิหม่าม เดือนละ 1,200 บาท / เดือน ส่วน คอเต็บ บิหลั่น คนละ 1,000 บาท /เดือน
และยังได้สนับสนุนเบี้ยประชุมกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย 1,100 บาท/ครั้ง และกรรมการอิสลามประจำจังหวัด(ประธานฯ) 1,350 บาท/ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดการประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศปีละครั้ง เพื่อให้กรรมการอิสลามทั่วประเทศได้พบปะกัน และการสนับสนุนการกำหนดดูดวงจันทร์
นอกจากนี้ ดำเนินการครอบคลุมไปยังเด็กและเยาวชน ด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบทุนปีละ 44 ทุน เพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ 9 แห่ง หลังเรียนจบมา เรายังมีโควตาเพื่อรับราชการ และยังร่วมกับโรงเรียนการไปรษณีย์แห่งประเทศไทย เข้าเรียนโรงเรียนไปรษณีย์ 4 ทุน/ปี จบแล้วสามารถทำงานที่ไปรษณีย์ได้ทันที
และภารกิจล่าสุด ที่เพิ่งได้รับการโอนย้าย คือ การส่งเสริมกิจการฮัจย์ ตาม พรบ. ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 โดยมี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
ทั้งนี้จะมีการพิจารณาในส่วนของการเพิ่มค่าตอบแทน กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด แต่จะต้องมีผลงานมาแลก ซึ่งจะมีการลงไปประเมินผลการทำงาน อีกทั้งคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นผู้มีผลงานดีเด่น เพื่อเข้ารับโล่พระราชทาน และเงินรางวัลเป็นประจำทุกปี