RAJA KITA : ในหลวงกับอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
โดย : นิกรากิ๊บ บิน นิกฮัสซัน
สำนักข่าวอะลามี่ : เราอาจไม่ทราบความในใจของในหลวงที่มีต่ออำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถ้านายเดนิส เกรย์ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพี คร่ำหวอดอยู่ในประเทศไทย และภูมิภาคนี้มากว่า ๔๐ ปี ได้สัมภาษณ์ในหลวงและเขียนรายงานลงในนิตยสาร “สวัสดี" ของ "การบินไทย"
โดย นายเด็นนิส เกรย์ ได้กราบทูลถามว่า “ ใต้ฝ่าพระบาท คิดว่าวันที่ทรงมีความสุขที่สุดคือวันไหน? ” พระราชกระแสที่รับสั่งตอบว่า “ บาเจาะ " นั้น ทำเอาทุกคนงุนงง เพราะไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน
เชื่อว่าหลายต่อหลายท่าน ไม่ทราบว่า อำเภอบาเจาะ ซึ่งเป็นอำเภอชื่อแปลก อาจไม่ทราบว่าอำเภอนี้ตั้งอยู่มุมไหนของประเทศไทย สำหรับอำเภอบาเจาะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส ก่อนหน้านี้ทุกปีน้ำจะท่วมอำเภอบาเจาะอย่างหนัก ทำให้ไร่นาเสียหายจำนวนมาก เมื่อครั้งที่ในหลวงได้เสด็จไปอำเภอบาเจาะเป็นครั้งแรกนั้น และได้ทรงชี้แนะให้ขุดคลองเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเล พอถึงเดือนธันวาคม คลองก็เสร็จเรียบร้อย ในเดือนมกราคม ๒๕๑๗
ขณะที่กำลังประทับอยู่ที่เชียงใหม่ ในวันหนึ่งอธิบดีกรมชลประทานซึ่งเคยตามเสด็จลงไปทางใต้ด้วย ได้กระหืดกระหอบเข้ามาเฝ้า ทั้งๆ ที่ตัวกำลังเปียกฝน เขาตะโกนด้วยความดีใจว่า “ได้ผลแล้ว! ได้ผลแล้ว!" รับสั่งถามว่า " ได้ผลอะไร? ” อธิบดีกรมชลประทานกราบทูลว่า " บาเจาะพะย่ะค่ะ! ได้ผลดีมาก ชาวบ้านกำลังดีใจกันยกใหญ่" นั้นเป็นบทความที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อำเภอบาเจาะเป็นอำเภอเล็กๆ เดิมอำเภอบาเจาะนี้ มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่งอำเภอจำปากอ ขึ้นกับอำเภอกลางเมือง จังหวัดสายบุรี โดยจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๒๗ (๒๔๕๑) ต่อมาได้ยกฐานะกิ่งอำเภอจำปากอ เป็นอำเภอจำปากอ เมื่อวันที่ เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๘ (๒๔๕๒) และหลังจากนั้นในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจำปากอ มาเป็นอำเภอบาเระใต้ ต่อมาย้ายตัวอำเภอมาอยู่ที่บ้านแป๊ะบุญ และเปลี่ยนชื่ออำเภอเป็นอำเภอบาเจาะ และหลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสายบุรี เมื่อมีการยุบจังหวัดสายบุรีลง อำเภอบาเจาะจึงถูกโอนมาเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๕
แม้ว่าอำเภอบาเจาะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ในความเล็กๆ นี้ยังซ่อนความยิ่งใหญ่ไว้ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอที่เกิดของ พลเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูล อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ (๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ – ๓๐ กันยายน ๒๕๒๖) เป็นอำเภอของบรรพบุรุษของ เชคอับดุลลอฮ อัลฟาตานี อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ในยุคอดีตกษัตริย์ไฟซอล
นอกจากนั้นอำเภอบาเจาะ ยังมี นางไซนับ อับดุลรอแม แชมป์อ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับนานาชาติที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย แชมป์อ่านอัลกุรอ่านสองสมัย คือแชมป์ประจำปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๙ นอกจากนั้นด้านวรรณกรรมเองอำเภอบาเจาะก็ไม่ด้อยกว่าใคร นั้นคือมี นายซากาเรีย อมาตยา กวีซีไรต์ ประจำปี ๒๕๕๓ และในอนาคตอำเภอบาเจาะ จะเป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์นูซันตาราศึกษา หรือ Nusantara Studies Center องค์กรเล็กๆ ที่มีเครือข่ายใหญ่ๆ ในโลกมลายู
ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ ยังจะมีสถานที่ท่องเที่ยว เช่น มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือ มัสยิด ๓๐๐ ปี บ้านตะโล๊ะมาเนาะ นอกจากนั้นจะมีน้ำตกที่สวยงามชื่อว่าน้ำตกปาโจ และที่น้ำตกปาโจ นี้ ยังเป็นที่เชื้อพระพระวงศ์ได้เสด็จมาเยี่ยม และมีสลักลายพระหัตถ์ของเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่ราชกาลที่ ๗ ในหลวงราชกาลที่ ๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สมเด็จย่า และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ว่าที่ร้อยตรีจิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ กล่าวว่า อำเภอบาเจาะ ได้รับการพัฒนาทางด้านน้ำและดินจากในหลวง จนชาวบ้านส่วนหนึ่งสามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง นายอำเภอบาเจาะ ได้รับการบอกเล่าจาก ว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ ผู้เป็นบิดาว่า เมื่อครั้งต้องการขุดคลองนั้น ปรากฏว่ามีชาวบ้านบางส่วนไม่ยินยอมให้ที่ดินของตัวเอง เพราะตัวเองไม่ได้ทำนาแต่อย่างใด คลองที่จะขุดนั้นตัวเองก็ไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด ในหลวงก็ไม่เคยใช้อำนาจบังคับชาวบ้าน ปล่อยให้ชาวบ้านตัดสินเอง จนในเวลาต่อมา ชาวบ้านจึงยินยอมยกที่ดินให้สำหรับการชลประทาน
สำหรับ ว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ นั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเชื้อพระวงศ์ เดิมชาวบ้านจะเรียกในหลวงว่า “ รายอซีแย ” ซึ่งมีความหมายว่า ราชาสยาม หรือ กษัตริย์สยาม ว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ เป็นคนแรกๆ ที่สามารถทำให้ชาวบ้านเรียกในหลวงว่า “ รายอกีตอ ” หรือ “ กษัตริย์ของเรา ”
กล่าวกันว่าก่อนปี ๒๕๑๗ หรือราว ๔๒ ปีที่แล้ว ผืนดินเกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านที่กว้างใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ ๔ อำเภอของจังหวัดนราธิวาส และปัตตานี ในปัจจุบันนั้น ซึ่งพื้นที่อำเภอบาเจาะ เป็นหนึ่งในพื้นที่ของ ๔ อำเภอข้างต้น เดิมเคยมีสภาพเป็นป่าพรุถูกน้ำท่วมขังยาวนาน ส่งผลให้ผืนดินกว่า ๙ หมื่นไร่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทำกินได้ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เนื่องจากไร้ที่ทำกิน
ต่อมาเมื่อพื้นที่อำเภอบาเจาะ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในโครงการการพัฒนาด้านน้ำและที่ดินตามพระราชดำริเป็นหลัก จึงมีโครงการพัฒนาต่างๆ เช่นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยในหลวงได้ทรงพระราชดำริให้ขุดสร้างคลองระบายน้ำสายสำคัญทั้งหมด ๓ สาย ระยะทางกว่า ๑๓ กิโลเมตร ต่อเชื่อมคลองสาขาต่างๆ ในพื้นที่ป่าพรุ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ตั้งแต่นั้นมา โครงการป่าพรุบาเจาะ-ไม้แก่น อันเนื่องมาจากพระราชดำริก็สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังป่าพรุในอดีตจนสำเร็จ ก่อนที่จะจัดสรรเป็นพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านมากกว่า ๓ หมื่นครัวเรือน
ว่าที่ร้อยตรีจิรัสย์ ศิริวัลลภ นายอำเภอบาเจาะ ยังได้กล่าวว่า ในหลวงได้ทรงพระราชทานโครงการช่วยเหลือชาวบ้านอำเภอบาเจาะ ที่สำคัญคือโครงการเกี่ยวกับเรื่องน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำยะลูตง หมู่ที่ ๕ ตำบลกาเยาะมาตี และโครงการชลประทานต่างๆ นอกจากนั้นป่าพรุที่เต็มไปด้วยน้ำขังในอดีตถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่ทางการเกษตรหลากหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเลือกปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ดีให้กับพวกเขา โดยเฉพาะยางพารา พื้นที่ป่าพรุดั่งเดิม บางส่วนที่ถูกแปรสภาพเป็นทุ่งนาไว้ปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ กระทั่งการปลูกปาล์มน้ำมัน เริ่มได้รับความสนใจจากชาวบ้านแถบนี้ จนปัจจุบันพื้นที่อำเภอบาเจาะ กลายเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดของจังหวัดนราธิวาส
บรรดาโครงการช่วยเหลือชาวอำเภอบาเจาะ ที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงนั้น ทำให้ชาวอำเภอบาเจาะส่วนหนึ่งสามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ สามารถเปลี่ยนสภาพจากอำเภอที่มีพื้นที่น้ำท่วมขังป่าพรุ มาเป็นอำเภอที่แหล่งปลูกพืชทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากพระราชดำริของในหลวงราชกาลที่ ๙ ได้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ50 เดือนธันวาคม 2559