RAJA KITA : พระราชดำริ "ในหลวงรัชกาลที่9 " ในการจัดแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย
สำนักข่าวอะลามี่ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์ และทรงห่วงใยบรรดาพสกนิกรชาวไทยมุสลิม ในอันที่จะให้ทุกคนรู้ซาบซึ้งถึงแก่ความหมายแห่งอัลกุรอาน อันเป็นคัมภีร์ฉบับสูงสุดในศาสนาอิสลาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสไว้ว่า “…คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง…”
ท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ ประธานมูลนิธิต่วน สุวรรณศาสน์ เล่าเรื่องนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ให้มีการจัดแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย เนื่องมาจากการเสด็จงานเมาลิดกลางเมื่อ พ.ศ. 2503 ซึ่งในงานเมาลิดกลาง มีการจัดนิทรรศการคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นภาษาต่างๆ มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน
เนื่องจากมีคนที่สนใจทำไว้ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครทำสำเร็จเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่ทำอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับท่านกงสุลซาอุดิอาระเบีย มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และได้ทูลเกล้าถวายคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาอังกฤษ พระองค์มีพระราชดำริ ให้ดำเนินการจัดแปลภาษาไทย
เพื่อให้คนไทยได้รู้ และเข้าใจความหมายในคัมภีร์ฯ โดยมีพระราชประสงค์ให้เยาวชนได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักคำสอนที่มีอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน พระองค์ทรงห่วงสองเรื่อง คือ เรื่องของภาษาไทย กับ เรื่องของการนำความหมายในการนำมาใช้
ภายหลังจากนั้นได้มีพระราชดำรัส ในเรื่องนี้กับท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ว่าควรจะให้มีการแปลคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาอาหรับโดยตรง ไม่ใช่แปลมาจากภาษายาวี หรือภาษาอังกฤษ การที่ต้องแปลจากต้นฉบับนับเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีการค้นคว้าจากพจนานุกรม ศึกษาจากผู้มีความเชี่ยวชาญ และนักวิชาการหลายแขนง
เมื่อท่านจุฬาราชมนตรีฯ เข้าเฝ้า ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี ก็จะทรงย้ำเรื่องนี้อย่างสนพระราชหฤทัย และรับสั่งถามว่า ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ทรงติดตามด้วยความตั้งพระทัยจริงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
สิ่งนี้เป็นแรงผลักดันให้ท่านจุฬาราชมนตรีฯ ได้ดำเนินการจนสำเร็จ ท่านทรงห่วงหลายอย่าง เช่น ถ้าแปลออกมาแล้วอาจเกิดความไม่เข้าใจระหว่างศาสนา ท่านทรงหนักใจ (ตระหนัก) ในเรื่องนี้มาก ท่านทรงรับสั่งว่าต้องหาวิธีการศึกษาให้เข้าใจ ต้องเอาตำรับตำราเปิดดู เพื่อให้เข้าใจความหมายได้ถูกต้องชัดเจนจริงๆ จึงได้รับสั่งให้ ท่านจุฬาราชมนตรีต่วน ลงมือแปล
“…. ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงาน ท่านจุฬาราชมนตรี เขียนด้วยลายมือ ตามความเข้าใจของท่าน ดิฉันพิมพ์เป็นภาษาไทย แล้วให้เจ้าหน้าที่จัดแปลความหมายภาษาไทยเรียบเรียงให้ถูกต้อง เสร็จแล้วดิฉันก็นำไปเสนอท่าน แล้วอ่านให้ฟังทีละประโยค บางประโยคไพเราะเกินไป ท่านก็บอกว่ามันไกลเกินกว่าความเป็นจริง อย่าไปแต่งเติมให้มาก ให้ใช้ภาษาง่ายๆ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสไว้ว่า
“…. เวลาแปลให้ใช้ภาษาง่ายๆ ให้เข้าใจได้ทุกระดับ…” คือต้องมีผู้ชำนาญด้านภาษาไทย และภาษาอาหรับด้วย เวลาแปลออกมาแล้วคำนี้ทำไมท่านจุฬาฯแปลอย่างนี้ ต้องมาดูความถูกต้อง…”
“…. ครั้งหนึ่งพระราชดำรัสในงานเมาลิดกลาง เรื่องเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน เพราะปีนั้นเป็นปีที่เกี่ยวกับอัลกุรอาน เมื่อพิมพ์ได้ 7 เล่ม ในตอนนั้นทางภาคใต้มีเหตุการณ์ไม่สงบ ดิฉันจึงคิดเลยว่าทรงแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เนื่องจากสายพระเนตรยาวไกลกว่าเรามาก มีพระราชกระแสผ่านราชเลขาธิการมากกว่า ให้นำคำภีร์อัลกุรอานไปพระราชทานที่ภาคใต้ และพระราชทาน “ผ้าเยียรบับ” ที่สวยๆ มาให้ห่อ เพราะว่า เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนา เป็นคัมภีร์ภาษาอาหรับ ศาสนาอื่นมาจับต้องไม่ได้ และสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามเอง ถ้าจับจะต้องมีน้ำละหมาด เพราะเป็นของที่บริสุทธิ์ รับสั่งว่า “ ให้ห่อให้เรียบร้อย ” แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนของพระองค์ ที่เป็นเรื่องพิเศษมากคือ การพระราชทานคัมภีร์อัลกุรอาน แก่ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส พระราชทานแล้วมีการฉลองทุกปี เพื่อระลึกถึงว่า ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์โดยตรง…”
เมื่อ พ.ศ.2524 เป็นปีที่ท่านจุฬาราชมนตรีต่วนฯ ถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ ได้กล่าวว่า ได้นำเรื่องการจัดแปลคัมภีร์มาไว้ที่มูลนิธิต่วนฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงท่านจุฬาราชมนตรีต่วน ทั้งยังบรรจุไว้ในวัตถุประสงค์ของมูลนิธิด้วยว่า เพื่อเป็นการเผยแผ่ศาสนา
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สอดคล้องกับหลักมุสลิมในเรื่องของ “ ความพอเพียง ” การบริจาคทุนทรัพย์หรือซะกาต โดยเฉพาะเรื่องการแปลคัมภีร์เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
ในส่วนของพระมหาคัมภีร์ในรายละเอียดที่มีพระราชดำริให้แปลเป็นภาษาไทย อาจเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ แล้วได้นำไปใช้พอดี นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนา ความเป็นอยู่ในเรื่องการปฏิบัติตัว ให้เข้าใจเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันนี้สำคัญมาก มุสลิมถือว่าประทับใจ และชื่นชม
พระองค์ท่านจะเสด็จฯ งานเมาลิดกลางทุกปี ในระยะ 4-5 ปีแรก ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในระยะหลังมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์อย่างต่อเนื่องตลอดมา
นายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (อดีตเลขาธิการ กปร. คนแรก) เล่าเรื่องนี้เพิ่มเติมไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2511 เป็นปีครบ 14 ศตวรรษ แห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศ ต่างจัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยถึงจะไม่ใช่ประเทศมุสลิม ก็ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย และได้จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษ แห่งอัลกุรอานว่า
“…คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนรู้จักยกย่อง และได้แปลเป็นภาษาต่างๆ อย่างแพร่หลายแล้วด้วย การที่ท่านทั้งหลายได้ดำเนินการแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยเหลือในอิสลามิกบริษัท ในประเทศที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะในศาสนาได้สะดวกและแพร่หลาย ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไป ได้ศึกษาทำความเข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า “คัมภีร์อัลกุรอาน มีอรรถรสลึกซึ้ง” การที่จะแปลออกเป็นภาษาไทย โดยพยายามรักษาใจความแห่งคัมภีร์เดิมไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลายเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องควรอนุโมทนาสรรเสริญ และร่วมมือสนับสนุนอย่างยิ่ง…”
การจัดทำความหมายภาษาไทย คัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ ทำให้บรรดามุสลิม ได้รู้ความหมายของพระคัมภีร์อัลกุรอาน และได้นำไปปฏิบัติย่างถูกต้อง มิได้เพียงแต่จะพระราชทานพระราชดำรัสอันประทับใจเท่านั้น และทรงได้พระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นปัจจัยในการดำเนินงานอีกด้วย
/////
คำนำบางตอน จาก พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับภาษาไทย โดย ต่วน สุวรรณศาสน์ (ฮัจยีอิสมาแอล บินฮัจยียะห์ยา) จุฬาราชมนตรี
“…..อันที่จริง เรื่อง อัล-กุรอาน นี้ ข้าพเจ้าได้รับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาครั้งหนึ่งนานแล้ว ต่อแต่นั้นมาข้าพเจ้า ก็ตั้งอกตั้งใจโดยสุจริต ในอันที่จะสนองตามที่รับสั่งนั้น และได้เริ่มทำการแปลตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2505 จนจบเล่มบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 รวมเวลาในการแปลทั้งสิ้น 1 ปี 7 เดือน 8 วัน
มีปัญหาว่า ในเมื่อได้แปล อัล-กุรอาน บริบูรณ์แล้ว ไฉนจึงไม่จัดพิมพ์ออกทั้งเล่ม ข้าพเจ้าขอเรียนว่า การจะทำอย่างนั้นย่อมทำได้ แต่เมื่อได้คำนึงถึงผลเสียซึ่งจะเกิดขึ้น เป็นต้นว่า อาจจะมีข้อความที่ขาดตกบกพร่อง จึงไม่กล้าที่ทำงานใหญ่และสำคัญขนาดนี้ลงได้ ในที่สุดก็ระงับความตั้งใจเดิมที่ว่าจะพิมพ์ทั้งเล่มเสียโดยง่าย และนึกขึ้นได้ว่า จะต้องพิมพ์ทยอยที่ละส่วนๆ เรื่อยไป เพื่อว่าจะได้มีโอกาสตรวจชำระอีกทีหนึ่งให้เนื้อความสนิท และผสมผสานกันโดยตลอด
มีอะไรหลายอย่างที่พำให้ข้าพเจ้าเกิดพลังทางใจมากมาย พอที่จะดำเนินงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แม้บางโอกาสจะมีอุปสรรอยู่บ้าง ก็ไม่ทำให้ข้าพเจ้าต้องละมือ และท้อถอย เพราะข้าพเจ้าถือว่า “ คนเรานั้นลองตั้งใจไว้ว่าจะทำการใดแล้ว ถึงจะมีอุปสรรคมาคอยสกัดกั้นไว้ก็เอาเถอะ เขาย่อมทำการนั้นสำเร็จลงได้ ”
ยิ่งปีนี้เป็นปีที่ทั่วโลกได้จัดงานฉลองพระคัมภีร์อัล-กุรอาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ศตวรรษอย่างหนึ่ง ยิ่งข้าพเจ้าเล็งเห็นอานิสงส์ อันมหาศาล ที่เกิดจากการแปลความหมายของ อัล-กุรอาน เป็นภาษาไทย ออกเผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่มวลมุสลิมอย่างอย่าหนึ่ง
และอีกอย่างหนึ่งสำคัญยิ่งก็คือ การที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีคำปรารภแก่ข้าพเจ้าอยู่เสมอๆ ว่า “ อยากจะให้มี อัล-กรุอาน ฉบับภาษาไทยไว้เป็นสมบัติอั้นล้ำค่ำของชาติ ” ก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจทวีมากขึ้น ๆ ถึงกับอยากให้งานชิ้นนี้สำเร็จวันสำเร็จคืน
ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ขอต่อ อัลเลาะห์ องค์พระผู้อภิบาลอยู่เสมอ ขอพระองค์ได้โปรดให้งานชิ้นนี้ สำเร็จลุล่วงไปโดยราบรื่น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เยาชนรุ่นต่อไป
ถ้าเป็นจริงได้อย่างที่ข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าอยากที่จะให้ อัล-กุรอาน ฉบับนี้ ถูกเก็บรักษาไว้ตลอดไปจนจบขวบ 15 ศตวรรษหน้าโน้น เพื่ออนุชนสมัยนั้น จะได้ระลึกว่าบรรพบุรุษของเขาสมัยเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ยังได้เคยจัดงานฉลองพระคัมภีร์อัล-กุรอาน กันอย่างเอิกเกริก
และเพื่อได้คิดว่า บรรพบุรุษของพวกเขาคงจะมีอะไรหลายอย่างเป็นแรงผลักดัน ให้ดำเนินการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างละม่อม แล้วสุดท้ายถ้าพระผู้อภิบาลจะทรงบันดาลให้อนุชนเหล่านั้นในสมัยนั้นแน่วแน่อยู่บนฮิดายะห์แล้ว เขาก็จะคิดได้โดยฉับพลันว่า อานุภาพของอัลเลาะห์ เท่านั้น เป็นแรงผลักดันให้การทุกอย่างสำเร็จลงได้ เมื่อนั้นแหละงานดังที่มุสลิมใน 15 ศตวรรษนี้ จัดขึ้น จะถูกจัดให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน 15 ศตวรรษ …”
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับ50 เดือนธันวาคม 2559