RAJA KITA : พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับชาวไทยมุสลิมในมิติสำคัญ
สำนักข่าวอะลามี่ : เมื่อกล่าวถึงมุสลิมในแผ่นดินไทย มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มักจะนึกถึงพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีสัดส่วนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามสูงกว่าประชากรที่นับถือศาสนาอื่นๆ
อย่างไรก็ดี โดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม นั้นมีอยู่เกือบ 4 ล้านคน โดยกระจาอยู่ทั่วประเทศ
ในบางจังหวัด เช่น พัทลุง กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือแม้แต่ กรุงเทพมหานคร หากจะสำรวจข้อมูลกันจริงๆ แล้ว จะพบว่า มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งชาวไทยมุสลิมเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร เชื้อสายปาทาน เชื้อสายอาหรับ และอื่นๆ ซึ่งอยู่ร่วมกับพี่น้องชาวไทยต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม อย่างปรองดอง สมานฉันท์ และสันติสุข โดยมี “ จุดร่วม ” คือการเป็น “ พลเมืองไทย” เช่นเดียวกันและเท่าเทียมกัน
ศาสนาอิสลาม ได้เผยแพร่มาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย โดยชาวมุสลิมที่มากับเรือสินค้า จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศมุสลิม คือ อิหร่านหรือเปอร์เซีย และยังได้มีการส่งคณะราชทูตไปอีกหลายครั้ง
ชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง จึงได้เดินทางค้าขายและตั้งบ้านเรือนผสมผสานกับพี่น้องชาวไทยทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ชาวมุสลิมหลายท่าน มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาอธิปไตยของชาติ ชาวมุสลิมได้ร่วมต่อสู้ป้องกันพระนคร ให้รอดพ้นจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู และได้ร่วมเสียสละเลือดเนื้อเพี่อประเทศชาติด้วยจิตใจที่รักและหวงแทนชาติบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์และจริงใจ
กล่าวได้ว่า ผู้นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อรักษา ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ อยู่เสมอ
บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็น “ องค์อัครศาสนูปภัม์”
โดยนัยยะแห่งบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยอันไพศาลของพระมหากษัตริย์ไทยทุกรัชสมัย ที่ทรงมีต่อผู้นับถือศาสนาต่างๆ กัน แสดงให้เห็นว่า คนไทยเป็นคนที่น้ำใจกว้างขวาง จึงเขียนรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยคุณประโยชน์แก่ศาสนาผู้นับถือศาสนาต่างๆ ไว้อย่างสมบูรณ์
คนไทยทุกๆคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ก็มีความรู้สึกเป็นคนไทย ที่อยู่ภายใต้ พระบรมราชูปถัมภ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีใครรู้สึกแตกต่าง รู้สึกผิดแผก รู้สึกว่าเป็นผู้อาศัยแผ่นดินหรือเป็นพสกนิกรขั้นสอง และ ทุกคนไม่รู้รังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน
การนับถือศาสนาต่างกัน ก็ไม่ได้ทำให้ศาสนาความเป็นไทยลดน้อยลง หรือบกพร่องลง และยังไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ว่า คนไทยจะขัดแย้งทางศาสนาถึงขั้นรุนแรง นอกจากความไม่เข้าใจบ้าง ก็เพียงเล็กน้อย
สิ่งที่สำคัญที่สมควรจะกล่าวไว้ในเบื้องต้น ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยศาสนาอิสลาม และเข้าพระทัยศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง
รูปแบบการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของพี่น้องชาวมุสลิม อาจแตกต่างกับพี่น้องคนไทยที่นับถือศาสนาอื่นอยู่บ้าง เพราะศาสนาอิสลาม ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน ซึ่งมุสลิมจะปฏิบัติผิดไปจากนั้นไม่ได้ พระองค์ทรงทราบความนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น เมื่อพสกนิกรมุสลิมเข้าเฝ้าฯ ก็พระราชทานบรมอนุญาตให้ ปฏิบัติตนตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับพสกนิกรมุสลิม
พระราชจริยวัตรเรื่องนี้ คงจะได้ถ่ายทอดผ่านมายังสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรส และ พระราชธิดาทุกพระองค์
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับที่50 เดือนธันวาคม 2559