เหยียบแผ่นดินโรฮิงญาอาระกัน (ตอนที่5)
เสียงจากคนพุทธยะไข่
Rakhine Buddhist Voices
โดย ธานินทร์ สลาม
สำนักข่าวอะลามี่ : ช่วงที่อยู่ใน มรัค อู พวกเราได้ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ พยายามพูดคุยกับคนในท้องถิ่น เพื่อจะได้รับฟังข้อมูลอีกด้าน และไม่จำกัดตัวเองอยู่เพียงเรื่องราวจากฝั่งมุสลิมโรฮิงญาฝ่ายเดียว
แต่งานนี้ต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญ เพราะแทบไม่มีคนที่สามารถสื่อสารโต้ตอบด้วยภาษาอังกฤษได้ สุดท้ายจึงต้องลงเอยด้วยการพูดคุยกับไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม และภิกษุรูปหนึ่งแทน เพราะพวกเขามีการศึกษาดีกว่าชาวบ้านทั่วไป และถึงแม้กลุ่มคนที่เราพูดคุยด้วยจะมีจำนวนไม่มากพอ เอ่ยอ้างว่า เป็นตัวแทนชาวยะไข่ส่วนใหญ่ แต่ความคิดเห็นของพวกเขาก็ยังน่าสนใจและสมควรรับฟัง
ข้อมูลจากชาวยะไข่เหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากการสนทนาแบบสัพเพเหระ เพราะเมื่อไรที่เราเอ่ยถึงประเด็นพุทธและมุสลิมขึ้นมา พวกเขาจะระแวงสงสัยทันที เช่น มีครั้งหนึ่งเราถูกถามว่า “ พวกคุณมาจากสำนักข่าวหรือเปล่า? ”
สรุปได้ว่า แม้ความคิดเห็นของคนที่เราพูดคุยด้วยจะค่อนข้างผสมปนเปกัน แต่โดยรวมก็ส่อไปในทางรังเกียจเดียดฉันท์ชาวมุสลิมโรฮิงญา
คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตระหนักดีว่าความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มศาสนาไม่ส่งผลดีต่อธุรกิจ และควรแก้ไขให้ลุล่วง มิฉะนั้นจะเป็นอุปสรรคขวางกั้นทั้งการพัฒนาภูมิภาคโดยรวมและการดึงดูดนักท่องเที่ยว
ผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งใน มรัค อู เคยไปพำนักอยู่ในต่างประเทศ และได้สัมผัสถึงสังคมพหุวัฒนธรรมที่คนต่างชาติพันธุ์และศาสนา อาศัยอยู่ร่วมกันโดยปราศจากปัญหามาแล้ว ยังได้สรุปให้เราฟังว่า ผู้จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างศาสนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ไม่ใช่คนในท้องถิ่น แต่คือรัฐบาลที่หมั่นกระพือข่าว สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับมุสลิมอยู่ตลอดเวลา
“ ส่วนตัวเขาเองนั้นอยากอยู่ร่วมกับมุสลิมและทุกๆ คนโดยสงบ จะได้ร่วมกันนำพาภูมิภาคนี้ให้เดินหน้าต่อไป ”
ถึงกระนั้นก็ตาม ทั้งเขาและชาวพุทธยะไข่คนอื่นๆ ที่เราพูดคุยด้วย ต่างเห็นพ้องกันว่า “มุสลิมโรฮิงญา” คือผู้อพยพจากบังกลาเทศ ที่เข้ามาตั้งรกรากในภูมิภาคนี้ช่วงจักรวรรดิอังกฤษยึดครอง จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนข้อคิดเห็นที่ว่าควรอนุญาตให้พวกเขาอาศัยในยะไข่หรือไม่นั้น ยังผสมก้ำกึ่งกัน
ในขณะที่อีกสามราย รวมถึงพระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งที่เราสนทนาด้วย ก็ล้วนมีทัศนะแง่ลบต่อชาวมุสลิม
พวกเขาเชื่อว่ามุสลิมเป็นคนเลว ฝักใฝ่ความรุนแรง และต้องการขับไล่ชาวพุทธแล้วยึดครองรัฐยะไข่ เห็นได้ชัดว่า สารพัดข่าวและข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับมุสลิมถูกฝังตรึงในหัวของพวกเขา
นอกเหนือจากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี ค.ศ. 2012 แม้แต่วิธีการฆ่าสัตว์ของชาวมุสลิม ก็ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นว่าสะท้อนให้เห็นถึงการนิยมความรุนแรง เมื่อชีวิตประจำวันในปัจจุบันไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ ต่อกัน แนวคิดและเหตุการณ์ภายนอกจึงถูกนำมาสร้างความชอบธรรม ในการตัดสินคนมุสลิม คนพุทธยะไข่ ส่วนใหญ่ใช้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวพันกับมุสลิม เช่น การโจมตีกรุงปารีส ตลอดจนการกระทำของกลุ่มอัลกออิดะห์ และ ISIS มาเป็นตัวบ่งชี้ตัดสินว่า ทั้งตัวศาสนาและคนที่นับถือล้วนนิยมความรุนแรง
เมื่อสอบถามชายหนุ่มยะไข่วัย 20 ปี ผู้หนึ่งว่าทำไมเขาถึงรู้จักแต่ด้านเลวร้ายของมุสลิม แล้วตัวเขาเองเคยมีเพื่อนมุสลิมหรือเคยติดต่อมุสลิมทั่วๆ ไป บ้างหรือไม่? คำตอบคือ..ไม่เคย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทัศนะความเห็นแง่ลบเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากการมีประสบการณ์ตรง แต่ก่อตัวจากคำร่ำลือ และเรื่องราวที่บอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ต่างจากที่รัฐบาลนำมาโหมกระพือ
ภาวะเช่นนี้ยิ่งปล่อยไว้นานจะยิ่งอันตราย เพราะสองฝ่ายจะห่างเหินกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติปรองดองได้ในอนาคต
เหตุผลที่ชาวพุทธยะไข่จำนวนมากคล้อยตามคำยุยงของรัฐบาล ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะพวกเขารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง และไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลและเพื่อนร่วมชาติเป็นทุนเดิม ครั้นเมื่อเริ่มมีประเด็นโรฮิงญาขึ้นมา ก็ยิ่งเหมือนถูกโลกลืม ในขณะที่อีกด้าน ความรู้สึกชาตินิยมก็ยังเต็มเปี่ยมและสืบสานต่อเนื่อง โดยแรงกระตุ้นจากพรรคการเมืองระดับชาติและกองทัพอาระกัน
เมื่อตอนนี้มีกลุ่มคนที่ดูเหมือนจะเป็นผู้อพยพชาวต่างชาติ ที่เมื่อเทียบกับชาวพุทธแล้ว มีจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วมหาศาล เข้ามาอ้างสิทธิ์ความเป็นบ้านเกิดเหนือรัฐยะไข่ พวกเขาจึงรู้สึกเหมือนโดนคุกคาม ทั้งการดำรงชีวิตประจำวัน และด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ จากผู้เล่นเก่าอย่างรัฐบาล และผู้เล่นรายใหม่ไปพร้อมกัน
และความน้อยเนื้อต่ำใจนี้ ส่วนหนึ่งยังถูกทับถมโดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างชาติ ที่ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือแต่เพียงชาวโรฮิงญามุสลิมในพื้นที่ ทั้งๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องอิสรภาพในการเคลื่อนไหวและสิทธิทางการเมืองแล้ว ชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจของชาวพุทธยะไข่ ก็ไม่ได้ดีไปกว่าชาวมุสลิมสักเท่าไร
ชาวยะไข่ส่วนใหญ่ที่เราเสวนาด้วยภูมิใจในการเป็นพลเมืองเมียนมา แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลที่ไม่เพียงทุจริตคอรัปชั่น และไม่ได้ทำคุณประโยชน์ใดต่อชาวยะไข่ หากยังเอาเปรียบไม่เหลียวแลพวกเขา (และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้วย) เมื่อเทียบกับสิ่งที่ชนกลุ่มใหญ่อย่างพม่า (Burman) ได้รับ ชายชาวยะไข่รายหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “ รัฐบาลคงอยากให้ชาวเมียนมาทั้งหมดร่ำไห้ ”.
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2560