คอลัมน์ : มองอีสาน
เลียบชายแดนอีสาน – ลาว (ตอนที่1)
ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ
สำนักข่่าวอะลามี่: จังหวัดบึงกาฬ เป็นจังหวัดใหม่ล่าสุดของภาคอีสานและของประเทศไทย โดยแยกออกมาจาก จ.หนองคาย เป็นจังหวัดชายแดนของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งโขง อยู่ตรงข้ามกับนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว
ผมเองในระยะแรกที่มาทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ไม่เคยมาที่หนองคาย แต่หลังจากทำงานได้หลายเดือน มีเวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะออกเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมในจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน รวมทั้งในจังหวัดหนองคายด้วย พบว่าในหนองคาย ก็มีมุสลิมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วย เช่น อำเภอท่าบ่อ และศรีเชียงใหม่
คนไทยที่มาท่องเที่ยวในภาคอีสาน ก็มักจะเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปประเทศลาว เพราะจะได้ชื่อว่าไปต่างประเทศ
ในอดีตการจะข้ามฝั่งไปได้ก็ต้องไปทางเรือ โดยนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าเสด็จของ จ.หนองคาย ผมยังจำได้ว่าการเดินทางไปประเทศลาวในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2516 ก็เดินทางไปทางเรือเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาเมื่อสะพานมิตรภาพที่ จ.หนองคาย ได้สร้างเสร็จโดยความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลียในปี 2537 การเดินทางข้ามไปประเทศ สปป.ลาว ก็สะดวกยิ่งขึ้น
ผมเดินทางไปประเทศลาวครั้งแรกในสมัยที่ผมเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใหม่ๆ ซึ่งในตอนนั้น ผมยังไม่หาญกล้าที่จะข้ามประเทศไปเอง อย่างมากก็เพียงเดินทางจากขอนแก่นไปเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิม จึงได้แต่ไปที่ชายแดนของประเทศที่หนองคาย แวะไปที่ท่าเสด็จ และเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิม ที่ทำมาหากินอยู่ที่ อ.ท่าบ่อและ อ.ศรีเชียงใหม่
จำได้ว่าต่อมาอีกหลายปีเมื่อมีโอกาสผมได้เดินทางข้ามไปฝั่งลาวครั้งแรก โดยแพขนานยนต์ ซึ่งบรรทุกทั้งคนและรถยนต์ ข้ามไปถึงฝั่งลาวครั้งแรกผมถือโอกาสไปเยี่ยมมัสยิดแห่งแรก และแห่งเดียวในนครเวียงจันทน์ ได้ละหมาดที่นั่นแล้วก็เดินทางไปชมเมือง ซึ่งก็ใช้เวลาไม่มากนัก ได้แก่ย่านประตูชัย ซึ่งใช้เดินสวนสนามสมัยที่ลาวได้รับอิสรภาพจากฝรั่งเศส และไปชมตลาดเช้า ที่เป็นย่านการค้าใหญ่ของประชาชนในนครหลวง ชมพระราชวังเดิม หลังจากนั้นก็เดินทางกลับมาลงเรือข้ามฟาก เป็นอันว่าผมได้ข้ามฝั่งมายังประเทศลาวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ไปลาวอีกนานทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นผมก็มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นนักศึกษาจากลาว และมาเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งโดยทุนของรัฐบาลลาว และของรัฐบาลไทยที่สนับสนุนให้มาเรียนต่อในประเทศไทย
โดยนักเรียนรุ่นแรกๆ ก็ประสบความสำเร็จการศึกษากลับไป ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งลูกศิษย์ของผมอีกหลายคน
ต่อมาในปีพ.ศ.2537 ได้มีการสร้างสะพานแห่งแรกขึ้นมาระหว่างไทยกับลาว ซึ่งได้ออกแบบไว้ไม่เฉพาะรถยนต์เท่านั้น แต่ยังได้สำรองไว้สำหรับรถไฟ โดยได้วางรางไว้เรียบร้อยแล้ว คาดว่าสะพานนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-ลาวได้มากยิ่งขึ้น