คิดใหม่!... “ความยั่งยืน” ในมุมมองอิสลาม
ศาสตราจารย์ โอเด รอชีด อัลญะญูซีย์ เขียน
อิมรอน โสะสัน แปล/เรียบเรียง
สำนักข่าวอะลามี่ : เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประเด็นสิ่งแวดล้อม” กลายเป็นลักษณะพิเศษในศตวรรษที่ 21 ที่คอยกำหนดอนาคต วาทกรรม และวาระของโลกตะวันตกที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โลกอิสลาม”
อิสลามได้วางหลักการเกี่ยวกับความยั่งยืนเอาไว้เพื่อสำรวจและอธิบายถึงสาเหตุของวิกฤติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ (climate change) ไวรัสภูมิคุ้มกันเสื่อมในคน (HIV) ความยากจน (poverty) ความมั่นคงของมนุษย์ (human security) ตัวอย่างเช่น มุมมองอิสลามต่อประเด็น climate change อิสลามอธิบายรากเหง้าปัญหาของประเด็นนี้ว่ามาจากการละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ของมนุษย์ (human stewardship) และเป็นสัญญาณบอกถึงความล้มเหลวของระบบตลาดที่เราได้สร้างขึ้นมา
หลุมพรางตัวแบบตะวันตก (pitfalls of the Western model)
ตัวแบบพัฒนาระบบเศรษฐกิจผูกโยงกับระบบตลาดเสรี สถาบันการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบตะวันตกมักก่อให้เกิดผลกระทบโดยไม่จำเป็นและเสียต้นทุนสูงในการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยนามของการพัฒนาในรูปแบบนี้ ชุมชนและคนพื้นเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายถูกกีดกันสิทธิ์ของพวกเขาไปอย่างน่าเศร้า สิทธิ์และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนถูกพรากไปและแทนที่ด้วยคำว่าพัฒนาแบบตะวันตก
“ความยั่งยืน” ในที่นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึง “ผลผลิต” ที่เราพอจะมองเห็นเท่านั้น เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว เกษตรกรรม การค้า หรือ การขยายตัวของสภาพแวดล้อมความเป็นเมือง แต่...มันควรจะมีความหมายครอบคลุมไปถึง “ทัศนคติการมองประเด็นความยั่งยืนของโลก”ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของมนุษย์ เริ่มตั้งแต่ ปริมณฑลทางจิตวิญญาณ บรรทัดฐานสังคม การอุปโภคบริโภค รูปแบบการผลิต ตลอดจนถึงนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค
การคิดเชิงระบบและมุมมองการรับรู้ต่อวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ และนิเวศวิทยาคือพื้นฐานสำคัญของการคิดใหม่ในเรื่องความยั่งยืน ความยั่งยืนต้องถูกผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างใหม่เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาที่เอาใจใส่ต่อมนุษย์อย่างแท้จริง
วิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมารวมทั้ง ความยากจน HIV และ Climate Change ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระตุ้น ผลักดันความต้องการอันแรงกล้าที่จะให้ได้มาซึ่ง “ตัวแบบเศรษฐกิจใหม่” ที่สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอน..มีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์และคิดทบทวนถึงระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีที่มองธรรมชาติมนุษย์และวัฒนธรรมเพียงแค่“สินค้าโภคภัณฑ์” (commodity) เท่านั้น
หลุมพรางหรือกับดักที่แจ่มชัดในตัวแบบตลาดเสรี ได้แก่ การลดทอนความสำคัญของอนาคตลง อัตราดอกเบี้ยทบต้น (compound interest rate) ระบบการธนาคารที่มุ่งให้เกิดการกู้ยืม และการบริโภคเกินตัว (over-consumption)
หากพิจารณาแนวทางการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ และอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ไป (เอาเงินในอนาคตมาใช้) จะทำให้เข้าใจถึงความสมเหตุสมผลที่จะต้องมีแนวทางการป้องกัน กล่าวอีกทางหนึ่ง หากเรายิ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือต้นทุนในอนาคตมากเท่าไร มันก็ยิ่งจะส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจสำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศอย่างแน่นอน
มุมมองอิสลามต่อความยั่งยืน (Islamic perspectives on Sustainability)
เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ต้นแบบเศรษฐกิจตลาดเสรีส่งผลให้เกิดต้นทุนที่สูงและต้นทุนที่ต้องจ่ายแบบไม่คืนกลับ มีข้อโต้แย้งถกเถียงกันในวงกว้างว่า “ตลาดเสรี” กำลังปกปิดความจริงทางนิเวศวิทยาบางอย่าง การเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศและวิกฤติเศรษฐกิจโลก คือหลักฐานความล้มเหลวของระบบตลาดเสรีได้ดีที่สุด
การกำหนดนิยามใหม่ (re-defining)ของเจตนารมณ์พื้นฐานที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่ช่วยสร้างให้เกิดชีวิตที่ดี” “เราจะแสวงหาความสุขได้อย่างไร” ถือว่าท้าทายอย่างยิ่งในการเข้าใจความหมายที่ถ่องแท้ของความยั่งยืนจากมุมมองอิสลาม
“การแสวงหาความสุข” (the pursuit of happiness) จากมุมมองอิสลามย่อมเกี่ยวข้องกับการเพิ่มคุณค่า (value) ให้กับชีวิต ผ่านการปฏิบัติดี (good deed) และการแสวงหาความรู้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทมนุษย์ในการสร้างเอกภพนี้ โดยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผลิตลูกหลานที่ดี ดำรงอยู่บนโลกใบนี้ด้วยความสมถะ ไม่ยึดติด ออกห่างจากความไร้ประโยชน์และห่างไกลจากความสุรุ่ยสุร่าย
“เจตนารมณ์แห่งอิสลาม” ย่อมต่างจากความใฝ่ฝันอันสูงสุดของมนุษย์ที่ต้องการครอบครองทรัพย์สินอย่างไม่จำกัดและต้องการใช้ชีวิตแบบหรูหราเกินความพอดีเฉพาะบนโลกนี้ ในทางกลับกัน อิสลามได้ส่งเสริมให้มนุษย์รู้จักหน้าที่ช่วยกันรักษา “ทุนธรรมชาติ” “ทุนทางสังคม” และ “ทุนมนุษย์” เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นความจำเป็น (necessities) ของมนุษย์ทุกคน
ในการนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเปลี่ยนมุมคิดว่าด้วย “ทัศนคติการมองประเด็นความยั่งยืนของโลก”ครั้งใหญ่ หมายถึง การคิดทบทวนถึงหลักการพื้นฐานที่ต้นแบบเศรษฐกิจตะวันตกได้ผลิตขึ้น เพื่อทำให้มั่นใจว่า “ต้นแบบความยั่งยืนและการให้คุณค่าแก่มนุษย์”ต้องได้รับการยอมรับพร้อมกับวัฒนธรรมของมนุษย์ การประกันไว้ซึ่งหลักดุลยภาพ (mizan) หลักความเสมอภาคทางสังคม (adl) และเคารพการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติ ประชาชน และระบบตลาด
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น ทำให้เราต้องคิดหาวิธีการใหม่ และเป็นวิธีการที่มีชีวิตชีวาในการเข้าถึงหลักคำสอนอิสลามในประเด็นความยั่งยืน อิสลาม...คือแหล่งที่มาการสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) และการฟื้นฟู (restoration) ธรรมชาติของมนุษย์ (the natural state of humans) ซึ่งนำเรากลับไปสู่หลักการพื้นฐานอิสลามที่เรียกว่า “ฟิฏเราะห์” (fitra) อีกครั้ง.....
จุดยืนของอิสลามต่อสามเสาหลักความยั่งยืน (three pillars of sustainability) อันประกอบด้วย เสาหลักด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ มีดังต่อไปนี้
เสาหลักที่หนึ่ง มิติด้านสิ่งแวดล้อม (และจิตวิญญาณ) (Environment & Spirituality)
โลกทัศน์อิสลามมีลักษณะเด่นอันสำคัญว่าด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ อิสลามได้นำเสนอมุมมองเชิงบูรณาการและเป็นที่ดึงดูดความสนใจต่อความเข้าใจร่วมสมัยเกี่ยวกับแนวคิด “ผลประโยชน์สาธารณะ” (notion of maslaha-public interest) ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจเชิงหลักการของความยั่งยืนในนิยามที่กว้างขึ้น
อิสลามได้ฉายภาพความเป็นธรรมชาติของมนุษย์หรือเนื้อแท้ของความดีงาม (คุณธรรม) ไว้อย่างน่าสนใจ ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์มีนัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตโดยไม่คิดเบียดเบียนธรรมชาติรอบตัว เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกและตระหนักโดยสมบูรณ์ต่อบทบาทที่มนุษย์ได้รับในฐานะ “ผู้พิทักษ์” (trustee) และ “พยาน” (witness) ต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย ในฐานะผู้พิทักษ์ (kholifa) มนุษย์ต้องทำหน้าที่สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่า ทรัพยากรทุกชนิดบนโลกใบนี้จะต้องถูกใช้ไปในวิถีทางอันยั่งยืน (sustainable manner) เท่านั้น
อิสลามยอมรับว่า อันตรายอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ (potential risks) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ เนื่องมาจากปัญหาการละทิ้งหน้าที่ผู้พิทักษ์ดูแลเอาใจใส่โลกใบนี้ของมนุษย์ มนุษย์ได้กลายเป็นผู้บ่นทำลาย(as mischief-fasad) ด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง
นอกจากนั้น อิสลามยังพิจารณาสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ (species) ในฐานะ “ประชาชาติ” (nations) เฉกเช่นเดียวกับประชาชาติมนุษย์ คำสอนแห่งอัลกุรอานได้ย้ำเตือนความรู้สึกนึกคิด (mind) และจิตวิญญาณ (soul)ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า ทุนธรรมชาติและทุนทางสังคมที่เรามีอยู่นั้น ต้องเชื่อมร้อยเป็นหนึ่งเดียว(interconnected) และต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย (interdependent) ซึ่งกันและกัน
อิสลามสอนว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย รวมทั้ง พืช (plants) สัตว์ป่า (wildlife )ต่างก็ทำหน้าที่แซ่ซ้องสรรเสริญ (state of prayer-tasbeeh) พระผู้เป็นเจ้าของพวกมันเหมือนกัน ดังนั้น การสร้างความเสียหาย การทำร้ายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ย่อมหมายถึง การขัดขวางการสดุดีและแสดงความภักดีต่อผู้สร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเช่นกัน
“อัลกุรอาน” ไม่ได้ปฏิเสธมนุษย์ที่จะใช้สติปัญญาอันงดงามที่ถูกสร้างขึ้นในการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว เช่น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Bio-mimicry ซึ่งหมายถึง นวัตกรรมการเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ เป็นต้น ทั้งอัลกุรอานและธรรมชาติได้บรรจุสัญญาณต่างๆมากมาย (signs-ayat)ให้เรียนรู้ สัญญาณเหล่านี้ได้อธิบายและนำเสนอเชาว์ปัญญา คำแนะนำต่างๆในการดูแลเอาใจใส่ต่อสติปัญญาให้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง (naturalistic intelligence) นวัตกรรม (innovation) และการเรียนรู้ (learning) ของมนุษย์
นอกจากนี้ อิสลามมีหลักการที่เรียกว่า “อัลเอี๊ยะห์ซาน” (Ihsan) คือ การพยายามบรรลุเป้าหมายความเป็นเลิศ (excellence) และความสมบูรณ์ (perfection) ในการทำความดีทั้งหลาย ประหนึ่งว่าเราแลเห็นพระผู้เป็นเจ้า ทั้งๆที่เราไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์กำลังจ้องมองดูการกระทำของเราตลอดเวลา หลักการข้อนี้เปรียบเสมือน “ตัวขับ” หรือ “เชื้อเพลิง” คอยหล่อเลี้ยงการดูแลเอาใจใส่ ความรับผิดชอบ และความเป็นเลิศของมนุษย์ตลอดเวลา
นอกจากนี้ คำว่า Zohd ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง สมถะ (ไม่ได้แปลความว่าจะทิ้งโลกนี้ แต่ต้องอยู่แบบเข้าใจและไม่หลงใหลไปกับโลกนี้-ดูอัลกุรอานเพิ่มเติมซูเราะฮ์ อัน-นิซาอ์โองการ 77-ผู้แปล) ถือว่าเป็นแนวคิดในหลักการอิสลามที่ส่งเสริมในเรื่องของการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบสมเหตุสมผล ส่วนแนวคิดเรื่อง “วะกัฟ”(Waqf) ได้แก่ การบริจาคทรัพย์ในวิถีทางศาสนบัญญัติ(endowment) ส่วนมากจะปฏิบัติกันในภาคประชาสังคม ภาคเอกชน แนวคิดนี้ช่วยให้เกิดเครื่องมือทางเศรษฐกิจ (economic tool) อันสำคัญในการพยุงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคม และความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น “วะกัฟ” ได้ชื่อว่า เป็น “พาหนะ” (vehicle) ที่จะนำเราไปสู่การสร้างให้เกิดบริบทความเข้าใจแนวคิดที่เรียกว่า “Corporate Social Responsibility” (CSR) ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่ดำเนินกิจการภายใต้หลักคุณธรรมและธรรมาภิบาลอันนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเข้าใจต่อหลักการองค์กรที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยคุณค่าทางสังคม (value-based organisation) มากขึ้น
เสาหลักที่สอง มิติด้านสังคม (Social dimension)
ในมิติคำสอนอิสลาม การสิ้นหวังต่อการกำหนดทิศทางทางสังคมย่อมหมายถึง สังคมนั้นๆอ่อนแอเกินกว่าที่จะนำคำสอนอิสลามไปสร้างให้เป็นบรรทัดฐานของสังคมได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศวิทยา (ecological degradation) และความผิดปกติในสังคม (social alienation) เสาหลักอันที่สองที่กล่าวมานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจหลักการของแนวคิดสำคัญๆที่เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ เรื่องความเสมอภาค (equity) ความยุติธรรมทางสังคม (social justice) การมีส่วนรวมของประชาชน (public participation-shura) และความห่วงใยต่ออนาคตที่มีต่อคนรุ่นใหม่ (the deep concern for future generation) แนวคิดเหล่านี้ อิสลามยอมรับว่า เป็นหลักพื้นฐานสำคัญ (cornerstones)ในมิติทางสังคมต่อความยั่งยืนที่ขาดไม่ได้ ดังนั้น บทบาทหน้าที่ของประชาคมมุสลิม ในฐานะประชาคมแห่งการปฏิบัติ (community of practice) นั่นคือ การผลักดันมาตรฐานกฎเกณฑ์ทางจริยธรรม (ethical code of conduct) และต้องเร่งสร้างความรู้ใหม่ๆบนฐานคุณค่าและผลประโยชน์สาธารณะให้ปรากฏขึ้นในสังคม
หากพิจารณากรอบคิดสำหรับการพัฒนาในแนวทางอิสลาม (Islamic way of development) อิสลามถือว่ามิติเชิงกายภาพ เช่น วัตถุ สิ่งของ (material) และจิตวิญญาณ ( spiritual) เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน (complementary) ด้วยเหตุนี้ การมีชีวิตที่ดีที่จะอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้าได้นั้น เราต้องฉลาดในการเลือกใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเชิงกายภาพให้ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในทางเดียวกัน การกล่าวถึงการพัฒนาแต่ละเลยที่จะทำความเข้าใจมิติด้านจิตวิญญาณไป การพัฒนาก็ไร้ความหมาย เนื่องจากว่า “หัวใจสำคัญของการพัฒนาคือการปกป้องการธำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในที่สุด”
ท่ามกลางพลวัตเชิงหลักการทางสังคมที่เกิดขึ้น อิสลามได้ตอกย้ำถึงประเด็นนี้ไว้สองประการด้วยกัน ประการแรก พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ประทานทรัพยากรต่างๆให้แก่มนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไปในทางที่เหมาะสม ประการที่สอง ต้องมีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่เสมอภาคโดยคำนึงถึงสิทธิ์และความเป็นธรรมของทุกฝ่าย ต้องช่วยกันส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสังคมมนุษย์ด้วยกัน ต้องให้ความห่วงใยต่อผู้อ่อนแอ คนยากจน และคนชายขอบอย่างถึงที่สุด ต้องแบ่งปันทรัพยากรไปยังพวกเขาด้วยความเป็นธรรม
ด้วยเหตุนี้ หากเราต้องการให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน การสนับสนุนทางการเงินในอิสลามที่เรียกว่า “ระบบซะกาต” และ “วะกัฟ”นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริงผ่านนวัตกรรมเชิงสถาบัน (institutional innovation) และ การปฏิรูป (reform) ระบบการบริหารจัดการที่โปร่งใส
เสาหลักที่สาม มิติด้านเศรษฐกิจ (Economic dimension)
ถึงแม้ว่า ระบบดอกเบี้ยจะเป็นแนวคิดพื้นฐานของระบบธนาคารแบบตะวันตกที่นิยมโดยทั่วไปก็ตาม แต่วิชาเศรษฐศาสตร์อิสลาม (Islamic economics) ได้ห้ามเรื่องระบบดอกเบี้ยอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม อิสลามได้วางกรอบควบคุมให้เป็นที่แน่ใจว่า “การพัฒนาทั้งหลาย” ต้องนำมาซึ่ง “ประโยชน์สูงสุด”สำหรับชุมชน (ประชาชาติ) ทั้งหมด ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อิสลามได้ยกระดับความสำคัญของ “ความใส่ใจ” และ “คุณค่า” เผื่อแผ่ครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทรัพยากรธรรมชาติ และคนรุ่นหลังด้วยเช่นกัน
การที่อิสลามได้สั่งห้ามการให้กู้เงินโดยคิดดอกเบี้ย (riba) และห้ามปล้นชิง “อนาคต” มาใช้ในปัจจุบัน อิสลามกำลังบอกเป็นนัยว่า น้ำมันเชื้อเพลิงที่เราใช้ในปัจจุบันนั้น ต้องไม่ส่ง “ผลกระทบต่ออนาคตของมนุษยชาติ” ดังนั้น เราต้องรู้จักการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (พลังงานสิ้นเปลือง เช่น น้ำมัน ถ่ายหิน และ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น) ในปริมาณที่จำกัด พอดี และต้องคำนึงถึงการจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emission) สาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ
โดยทั่วไป ระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย มักนิยมให้มีการปล่อยกู้และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (mega-projects) ที่มักเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติอยู่เนืองๆ ในทางกลับกัน หลักการอิสลามกลับเห็นว่า ต้องส่งเสริมการพัฒนาที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) และเอาใจใส่ในประเด็นการวัดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ที่เรียกว่า “รอยเท้านิเวศ” (ecological footprint-EF) ในภาคการผลิตทุกรูปแบบ
“วิชาเศรษฐศาสตร์อิสลาม”ให้ความสำคัญกับหลักการช่วยเหลือ ร่วมแบ่งปัน และห่างจากดอกเบี้ยอันเป็นการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์ อีกทั้งได้จัดวางข้อจำกัดที่เป็นคุณเพื่อป้องกันผู้กู้ยืมให้มีโอกาสจ่ายหนี้สินได้ตามข้อตกลง ในขณะเดียวกัน สนับสนุนการจัดสรร “ความมั่งคั่ง” ในสังคมให้เท่าเทียม
กล่าวโดยสรุปแล้ว เนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นอาจช่วยส่งเสริมให้สังคมของเราเกิด“ระบบเศรษฐกิจสีเขียว” (green economy) อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ เพิ่มความเป็นธรรมทางสังคม และสามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรในอนาคตได้ โดยทั้งนี้ ต้องอาศัยหลักการอิสลามสำหรับการปฏิรูปอย่างจริงจัง
(วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะห์กัม)
(หมายเหตุ...แปลและเรียบเรียงจาก บทความเรื่อง “Rethinking Sustainability: Islamic Perspectives” เขียนโดย Professor Odeh Rashed Al-Jayyousi ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกมุสลิม เจ้าของหนังสืออันเลื่องชื่อ “Islam and Sustainable Development: New Worldviews” บทความนี้ท่านเขียนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2015 ค้นจาก http://www.ecomena.org/sustainability-islamic-perspectives/)