คําสั่ง คสช. ที่ 17/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ได้กำหนดแนวเขตที่ดินที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิกถอนเขตที่ดินสาธารณะสมบัติอันประชาชนใช้ร่วมกัน เขตปฏิรูปที่ดิน แนวเขตป่าสงวน และเขตป่าไม้ถาวรที่เสื่อมสภาพทรุดโทรม กลายเป็นทุ่งนาและชุมชนมาก่อนแล้ว ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และหนองคาย ให้เป็นที่ราชพัสดุ
ซึ่งจะได้ทำให้แนวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในเขตจังหวัดหนองคาย อันเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ มีพื้นที่ติดกับเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเป็นแนวทางผ่านไปยังประเทศจีน ตามประกาศ คสช. ได้กำหนดพื้นที่ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ตามแนวทางรถไฟ พื้นที่พัฒนา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
เท่าที่ทราบ ได้มีการนิยาม “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ไว้ว่า “เป็นเขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีหลายประเภท เช่น เขตการค้าเสรี เขตอุตสาหกรรมเสรี เขตปลอดภาษี เขตการค้าชายแดนเสรี และเขตพัฒนาการส่งออก (แปรรูป) เป็นต้น”
ในขณะนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษแบ่งออกเป็นสองระยะ 10 จังหวัด ระยะที่หนึ่ง 5 จังหวัดได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา ระยะที่สอง 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เชียงราย กาณจนบุรี นครพนม และนราธิวาส รวม 23 อำเภอ 90 ตำบล ถือเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และครอบคลุมเขตชายแดนทุกด้านของไทย โดยพื้นฐาน
จังหวัดเหล่านี้มีศักยภาพของการเป็นประตูการค้า (gate way) รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออก และแนวเหนือ-ใต้ ถือเป็นจุดแข็งของประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย
ผมติดตามการเตรียมความพร้อมทั้งภาครัฐ เอกชน และในส่วนของประชาชนทั่วไปว่าตื่นตัวกับนโยบายนี้มากน้อยขนาดไหน พบว่า ภาครัฐได้ขยับเรื่องนี้ตามนโยบายทุกระดับ ภาคเอกชนบางกลุ่มก็ให้ความสนใจไม่น้อย ส่วนภาคประชาสังคมอาจมีความตื่นตัวน้อยมาก อาจมาจากการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ที่ยังไม่กว้างขวางเข้าถึงทุกกลุ่ม หรือทำให้ประชาชนทั่วไปสนใจกับการมีเขตเศรฐษกิจพิเศษยังน้อยไปนิด
เท่าที่รู้ ตอนนี้มีการขยับราคาที่ดินขึ้นหลายเท่าตัว นั่นคือ ข้อมูลบางส่วนที่ผมได้จากการลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย
นอกจากนี้ ข้อมูลบางอย่างเผยว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ภาคส่วนอื่นๆต้องการความชัดเจนและต้องการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐได้จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบ้างก็จริง แต่กระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ (participatory process on policy decision making) ยังขาดความชัดเจน
มีคำถามต่างๆเกิดขึ้นมากมายที่รัฐบาลเองต้องเอาใจใส่และตอบสนอง เช่น ถ้าโรงงานใหญ่เกิดขึ้นจะกระทบสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ? ร้านค้าหรือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยจะได้รับประโยชน์อย่างไรหรืออาจสูญพันธุ์เมื่อทุนใหญ่เข้ามา ? จะส่งผลอย่างไรต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ( ecotourism)
เพราะสิ่งนี้คือจุดขายของจังหวัดหนองคาย ? จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต/วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นอย่างไร? การบริหารจัดการที่ดินของจังหวัดจะเป็นอย่างไร? และ ผลกระทบทางลบอื่นที่จะตามมา เป็นต้น
คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้น ทุกครั้งเมื่อรัฐบาลมุ่งหน้าพัฒนาประเทศโดยเอาเศรษฐกิจเป็นตัวนำ ในทางหนึ่ง ลักษณะการเปิดพื้นที่แบบนี้อาจหมายถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับการกระจายความเจริญสู่ภาคส่วนต่างๆของประเทศ มากกว่ามากระจุกตัวเฉพาะเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ที่ไม่ติดชายแดน
แนวคิดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่รับได้หรือเป็นความต้องการของประชาชนด้วย ข้อเท็จจริงคือ ถ้ามันส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม (inclusive growth) แต่ทำไมโครงการขนาดใหญ่อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่มันคือการนำการพัฒนาสู่ภูมิภาคและการขยายการค้าการลงทุนสู่ชายแดนของไทยอย่างแท้จริง
ผมทราบมาว่า เหตุผลหนึ่งที่การผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษยังติดๆขัดๆเป็นเพราะข้อมูลของหน่วยงานรัฐในระดับปฏิบัติการยังไม่มีความชัดเจน (ในระดับนโยบายชาติก็อาจจะไม่นิ่งด้วย) ที่สำคัญบุคลากรที่เข้ามารับผิดชอบกับเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจ (trust building) กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพ (professionalism) เพียงพอ ต้องไม่ลืมว่า การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนย่อมไม่ง่ายต่อการบริหารจัดการ
ดังนั้น ผู้รับผิดชอบต้องมีความพร้อม (ready to work) และมีศักยภาพมากที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน อันนี้ไม่นับรวมปัจจัยภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ง่ายนัก เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอาจไม่ได้สนใจต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างที่ฝั่งไทยเข้าใจ พวกเขาอาจมีความสนใจหรือปัจจัยอื่นๆที่ไม่คิดจะร่วมลงทุนหรือเป็นหุ้นส่วนต่อการพัฒนา ซึ่งถ้าปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อและแรงดึงดูดการค้าการลงทุนชายแดนไม่น้อย
ผมอยากจะปักหมุดความคิดสักเรื่องไว้ว่า “ความคุ้มค่าต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน” (sustainable development) คือ ปัจจัยหลักอีกอย่างที่สำคัญมากๆต่อการพัฒนาในโลกยุคใหม่ เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องมองเรื่องนี้ให้ทะลุ เพราะเรื่องนี้คือ ประเด็นหลักต่อการพัฒนาทุกรูปแบบ มันเป็นวาระของโลก (global agenda)
“ ถ้าประเทศไทยสนใจแต่จะพัฒนาระบบเศรษฐกิจจนลืมมิตินี้หรือให้ความใส่ใจน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น การพัฒนาพื้นที่ภูมิภาคย่อมถูกติดตาม ตรวจสอบจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิดและหลีกเหลี่ยงไม่ได้ “
ต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาประเทศใดๆก็ตามในสังคมสมัยใหม่ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตบนโลกนี้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยต้องตระหนักต่อเรื่องนี้ให้หนัก ถึงแม้ว่าความเป็นจริงทุกประเทศย่อมมีสิทธิในการพัฒนา (the right to development) แต่การพัฒนาย่อมมีเงื่อนไขมากมายต่อการดูแลและห้ามละเมิดสิทธิประชาชนทุกกลุ่มและการรักษาโลกอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
ประเทศไทยมีประสบการณ์การพัฒนา การลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่มามากนับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่น้อยกว่า 5 ทศวรรษ ผ่านร้อนผ่านหนาวต่อการทำงานร่วมระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาชนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งหมดคงเพียงพอต่อการถอดบทเรียนของประเทศว่า จะบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่อย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและประชาชนได้ประโยชน์ในระยะยาว? แต่ถ้าไม่สนใจเพียงแค่คิดถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ประเทศก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆที่จะต้องเผชิญ จนในที่สุดประเทศก็ขยับไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่เรามีสิทธิในการพัฒนาประเทศของเราแบบยั่งยืนและมีสิทธิที่จะเป็นประเทศแห่งความหวังและโอกาสสำหรับทุกคน (Thailand is supposed to be a country of Hope and Opportunity)
. ..ถ้าเป็นไม่ได้ ก็ไม่ควรจะหันไปตำหนิใคร บางทีระบบ กลไกภายในของเราเองที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นต่อศักยภาพของประเทศเราที่จะไปถึง.....