มาทำความรู้จัก ACD : Asia Cooperation Dialogue
โดย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากรณ์
สำนักข่าวอะลามี่ : เนื่องจากระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมาไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีความสำคัญมาก
มีเพื่อนรุ่นเดียวกันถามมาว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร คนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องกันเลย เพราะมีการชี้แจงแถลงไขให้ประชาชนทราบน้อยมาก
วันนี้จึงขอนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังในเบื้องต้น ส่วนผลการประชุมในรายละเอียดค่อยว่ากันต่อไป
1. แนวคิด ACD ( Asia Cooperation Dialogue ) ริเริ่มเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก
2. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ACD มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ โดย ACD ได้ขยายสมาชิกภาพจาก 18 ประเทศก่อตั้ง เป็น 31 ประเทศ จากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย ( ได้แก่ บาห์เรน บังกลาเทศ ภูฏาน บรูไนฯ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เกาหลีใต้ คูเวต คีร์กิซสถาน ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ทาจิกิสถาน ไทย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อุซเบกิสถาน)
3. มีการขยายกรอบสาขาโครงการซึ่งประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน/ร่วม ขับเคลื่อน (Prime/Co-Prime Mover) ใน 20 สาขาได้แก่ พลังงาน การเกษตร การแก้ไขปัญหาความยากจน การเงินการคลัง การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อมศึกษา การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันด้านการจัดมาตรฐานเอเชีย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้านกฎหมาย ความปลอดภัยบนท้องถนน การป้องกันภัยธรรมชาติและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม