Turkey in Search of Identity : ตุรกีท่ามกลางการค้นหาอัตลักษณ์
โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"...... แต่ลึกๆ แล้ว มันเป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างแนวทางโลกวิสัยนิยม (ซึ่งถือเป็นอำนาจเก่า) กับ ฝ่ายนิยมแนวทางอิสลาม (ซึ่งครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน) เป็นการต่อสู้เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของตุรกียุคใหม่ว่า ...ตุรกีต่อจากนี้จะเป็นอะไร ? จะเป็นอิสลามหรือโลกวิสัยนิยม จะเป็นตะวันตกหรือคนเอเชีย หรือ หากจะผสมผสานกัน ...จะผสมผสานให้เกิดความสมดุลอย่างไร ?..."
สำนักข่าวอะลามี่ : ความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารที่ประเทศตุรกี เมื่อกลางดึกของวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีการอธิบายตีความกันหลากหลาย
บางคนชื่นชมพลังมวลชนของตุรกี ที่ถูกฉายภาพให้เป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย จากความกล้าหาญที่ออกมาสกัดกั้น “รถถัง” จนประสบความสำเร็จ
แต่บางคนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตุรกีปัจจุบัน ว่ามีปัญหาคอรัปชั่น และการใช้อำนาจแบบเผด็จการ จนมีการตั้งคำถามว่า ระหว่างรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจกับรัฐบาล ที่ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นเผด็จการ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ?
หลายภาคส่วนของโลกมุสลิม ก็ออกมาแสดงความปิติยินดี ต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของรัฐบาลตุรกี ในฐานะกลุ่มการเมืองนิยมแนวทางอิสลาม ที่ประสบความสำเร็จ
แต่ไม่ว่าจะมีการอธิบายตีความกันแบบไหน สิ่งสำคัญลำดับแรกคือ การทำความเข้าใจภาพรวม ของปัญหาความขัดแย้งในประเทศ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจของโลกมุสลิม ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน ที่เคยปกครองดินแดนค่อนโลก จากกรุงเวียนนาถึงกรุงเอเดน จากทะเลแคสเปียนถึงกรุงอัลเจียร์ และ จากทะเลดำสู่ทะเลแดง มานานกว่า 400 ปี
หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือในปี 1923 นายทหารหนุ่มที่ชื่อ มุสตอฟา กามาล อะตาเติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ได้นำกองทัพปลดแอกของตุรกีต่อสู้กับภัยคุกคามรอบด้านทั้งศึกภายใน และอิทธิพลของมหาอำนาจภายนอก จนได้รับชัยชนะ อันนำไปสู่การก่อตั้งตุรกีเป็นสาธารณรัฐ พร้อมทั้งยกเลิกตำแหน่งสุลต่าน ยกเลิกตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำอิสลาม และละเมิดหลักการศาสนาหลายประการด้วยกัน เขาพยายามทำประเทศให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับชาติตะวันตก โดยการแยกศาสนาออกจากการเมือง
ปัจจุบัน ตุรกีเปรียบเสมือนประเทศที่มีเมืองหลวงคู่ ด้านหนึ่ง คอพื้นที่แถบทะเลมาร์มารา ซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ ทว่าเป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์คั่นกลางระหว่างทะเลดำและทะเลอีเจียน ประชากรในพื้นที่บริเวณนี้มีความสัมพันธ์ และมีการติดต่อค้าขายมายาวนานกับชาวยุโรป พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของ “อิสตันบูล” ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของตุรกี
ในขณะที่ลึกไปในพื้นทวีปแถบเอเชียกลาง หรือที่เรียกกันว่าบริเวณที่ราบสูงอนาโตเลีย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ใหญ่โต แต่แห้งแล้งกว่าบริเวณมาร์มารา เป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของ อังการ่า ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศตุรกี ปัจจุบัน ประชากรในเขตอนาโตเลีย มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจน้อยกว่าแถบมาร์มารา และมีความใกล้ชิดกับชาวอาหรับมุสลิม ที่อยู่ในตะวันออกกลางมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ การเมืองของตุรกี จึงมีความเป็นพลวัตจากทั้งความเคลื่อนไหวที่ออกไปในทางเสรีนิยม ซึ่งเป็นอิทธิพลจากฝั่งมาร์มารา และการเคลื่อนไหวที่เน้นแนวทางศาสนาจากฝั่งอนาโตเลียควบคู่กันไป ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองตุรกี ก็จำต้องพยายามหาความสมดุลระหว่างแนวทางของสองกระแสนี้
ปัจจุบัน ตุรกี อยู่ภายใต้การนำของพรรค “ยุติธรรมและการพัฒนา” (Justice and Development Party: AKP) ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองนิยมแนวทางอิสลาม ที่มีรากฐานมาจากฝั่งอนาโตเลีย และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ติดต่อกันถึง 4 สมัย (2003-ปัจจุบัน)
แม้ว่าพรรค AKP จะนิยมแนวทางอิสลาม แต่ตลอดช่วงเวลาของการบริหารประเทศกว่า 14 ปี พวกเขาก็ยังรักษาการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ สะสมความนิยมจากการฉายภาพให้ประชาชนชาวตุรกีเชื่อว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของตุรกีในปัจจุบัน มาจากการบริหารงานของพรรค AKP ตั้งแต่ปี 2003
นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลชุดนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมความเป็นอิสลาม เพื่อสร้างความสมดุล หลังจากที่ประเทศตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำ ของแนวคิดโลกวิสัยนิยมมายาวนาน เช่น นโยบายเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของพนักงานต้อนรับบนสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ ให้อยู่ภายใต้กรอบอิสลามมากขึ้น การปลุกกระแสภาพยนตร์เชิดชูอิสลามยุคจักรวรรดิออตโตมัน การออกกฎหมายจำกัดการขายสุรา ห้ามขายใกล้เขตมัสยิด ยกเลิกกฎหมายการห้ามคลุมฮิญาบ ฯลฯ ซึ่งฝ่ายโลกวิสัยนิยมมองว่า เป็นการสอดแทรกอิทธิพลอิสลามของรัฐบาล ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบางส่วน
ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ของการก่อรัฐประหารในตุรกีหลายๆ ครั้งจึงมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของรัฐบาลพลเรือน ที่จะนำอิสลามกลับมาใช้ในพื้นที่สาธารณะอีกครั้ง ยังความไม่พอใจต่อผู้นำกองทัพ ซึ่งเป็นเสมือนผู้พิทักษ์แนวคิดโลกวิสัยนิยม ตามแนวทางของมุสตอฟา กาม้าล บิดาผู้ก่อตั้งตุรกีสมัยใหม่
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามในการก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในตุรกี จึงมิใช่เป็นเพียงวาทกรรม เรื่อง ประชาธิปไตยหรือความเป็นเผด็จการเท่านั้น
แต่ลึกๆ แล้ว มันเป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างแนวทางโลกวิสัยนิยม (ซึ่งถือเป็นอำนาจเก่า) กับ ฝ่ายนิยมแนวทางอิสลาม (ซึ่งครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน) เป็นการต่อสู้เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของตุรกียุคใหม่ว่า ...ตุรกีต่อจากนี้จะเป็นอะไร ? จะเป็นอิสลามหรือโลกวิสัยนิยม จะเป็นตะวันตกหรือคนเอเชีย หรือ หากจะผสมผสานกัน ...จะผสมผสานให้เกิดความสมดุลอย่างไร ?
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสารอะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2559