สกุลมุสลิมในราชวงศ์จักรี
ตอนที่ 1: สุลต่านสุลัยมาน ปฐมสุลต่านแห่งเมืองพัทลุง
สำนักข่าวอะลามี่ : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 8 ฉบับที่ 7: พฤษภาคม 2530 เสนอบทความชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและยาวนานระหว่างสถาบันกษัตริย์กับมุสลิมในประเทศไทย เรื่อง "ประวัติสกุลมุสลิม 'สุนนี' กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลในราชวงศ์จักรี" รวบรวมโดยเกษม ท้วมประถม, สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุงและประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ
ทั้งสามท่านซึ่งประกอบด้วยมุสลิม 2 พุทธศาสนิกชน 1 ล้วนสืบสายธารมาจากสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งเราต้องย้อนอุโมงค์เวลาประวัติศาสตร์กลับไปสำรวจความเป็นมาและเป็นไปเมื่อประมาณ 215 ปีก่อน
"ในปลายสมัยแผ่นดินพระเอกาทศรถ ท่านสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งเป็นบุตรของท่านโมกุล เชื้อสายอาหรับซึ่งตั้งตัวเป็นสุลต่านแห่งเมืองสุลัย ในชวาภาคกลาง ใกล้กับกรุงโยกยาการตา ได้เกิดพิพาทกับพวกเดินเรือโปรตุเกส ซึ่งเข้าไปบังคับซื้อสินค้าพื้นเมืองตามเมืองต่างๆในชวา และได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น ท่านสุลัยมานพ่ายแพ้ จึงพาครอบครัวและบริวารหลบหนี แล่นเรือเข้าสู่อ่าวไทยราวพ.ศ. 2145 และได้มาขึ้นบกที่แถบอำเภอสทิงพระ (เขตจังหวัดสงขลาปัจจุบัน) จัดตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนั้นซึ่งเคยเป็นเมืองพัทลุงเก่าอยู่ก่อน"
เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ทศวรรษในระยะแรก ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับสุลต่านสุลัยมานเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก นับจาก พ.ศ. 2163 กรุงศรีอยุธยา ยอมรับความเป็นเจ้าเมืองพัทลุงของสุลต่านสุลัยมานซึ่งมีอำนาจปกครองกว้างขวางตลอดฝั่งทะเลสองด้าน อ่าวไทยและอันดามัน ด้านใต้จรดเขตปัตตานีและไทรบุรี ด้านเหนือติดต่อกับเขตเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมาในพ.ศ. 2185 เมื่อพระเจ้าปราสาททอง โปรดเกล้าให้ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สุลต่านสุลัยมาน จึงประกาศแข็งเมือง สืบเนื่องจากความไม่พอใจการปราบดาภิเษกของพระเจ้าปราสาททอง เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมาผสมโรงกับการอวดอำนาจของยามาดา
ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลเดียวกันกับเมืองพัทลุง เมืองปัตตานีประกาศแข็งเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2173 และ อีกสองปีต่อมา พ.ศ. 2175 เมืองนครศรีธรรมราช ก็เจริญรอยตาม
กรุงศรีอยุธยาได้มีคำสั่งให้หัวเมืองภาคใต้ร่วมกันยกทัพมาตีสุลต่านสุลัยมาน สองครั้ง พ.ศ. 2191 และ 2198 แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2211 สุลต่านสุลัยมาน ถึงแก่อสัญกรรมหลังจากครองเมืองพัทลุงมายาวนานถึง 46 ปี
ในปี พ.ศ. 2223 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สามารถยึดเมืองพัทลุงได้สำเร็จโดยสุลต่านมุสตาฟา บุตรชายคนโตของสุลต่านสุลัยมาน ยอมสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าให้ครอบครัวทั้งหมดของสุลต่านมุสตาฟา เข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ยกเว้น สุลต่านมุสตาฟา ท่านเดียว ทรงโปรดเกล้าให้เป็นพระยาไชยา
...นี่คือจุดกำเนิดของความสัมพันธ์ใหม่ในประวัติศาสตร์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับลูกหลานสุลต่านสุลัยมาน ที่จะก่อเกิดความเกี่ยวดองกันทางเครือญาติในอนาคต
ลูกหลานของสุลต่านสุลัยมาน ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญหลายท่านและได้สร้างเกียรติประวัติไว้หลายครั้ง อย่างน้อยมีสองเหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึง กรณีแรกคือเรื่องของ 'ฮัซซัน' บุตรชายคนเล็กของสุลต่านสุลัยมาน น้องชายสุลต่านมุสตาฟา ได้รับแต่งตั้งเป็น 'พระยาราชบังสัน' แม่ทัพเรือ ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่เคยมีในกรุงศรีอยุธยามาก่อน ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
หลังจากพระองค์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระยารามเดโช ซึ่งเป็นมุสลิมและมีความสัมพันธ์สนิทสนมช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากับลูกหลานสุลต่านสุลัยมานไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระเพทราชาโปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นแม่ทัพหลวง ยกกำลังทางบกไปปราบและให้พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เป็นแม่ทัพเรือไปล้อมเมืองนครศรีธรรมราช
แต่ พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากของอาณาประชาราษฎร์ทั้งสองฝ่ายที่ต้องมาบาดเจ็บล้มตายและตรากตรำกับสภาพสงครามเป็นเวลานานหลายเดือน หรือ ถ้าจะพูดภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “ พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เลือกที่จะใช้ 'สันติวิธี' ในการจัดการปัญหา แทนการใช้ความรุนแรงอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติกันในสมัยนั้น “
ท่านช่วยให้พระยารามเดโช หลบหนีไปได้ด้วยการจัดหาเรือให้ แลกกับการที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาสามารถเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชได้โดยไม่เสียเลือดเนื้อ
วันนั้นจะมีสักกี่คนที่เข้าใจเจตนาอันพิศุทธิ์ของพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความสูญเสียและสร้างสันติภาพ
อย่างไรก็ตาม พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ก็รู้เป็นอย่างดีว่าชะตากรรมของท่านจะเป็นอย่างไรตามพระราชประเพณี เป็นการเสียสละชีวิตตนเองด้วยความเต็มใจเพื่อความผาสุกของไพร่ฟ้าประชาชี
ซึ่งผลที่ตามมาก็ไม่ผิดคาด ....พระเพทราชา ทรงกริ้วมาก จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เสียที่เมืองนครศรีธรรมราช ศพของพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ถูกนำมาฝังเคียงข้างศพสุลต่านสุลัยมาน ผู้เป็นบิดาที่หัวเขาแดง สงขลา
เหตุการณ์ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นกรณีศึกษาบทหนึ่งสำหรับนักสันติวิธียุคปัจจุบันที่กำลังควานหาถนนสายที่จะนำไปสู่สันติสุข
.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับเมษายน2559