ระบบซะกาต : ลดความยากจนของสังคม
เปิดแนวคิด ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กับมุมมอง 4 วาระหลักของสังคมมุสลิม ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนร่วมกับสังคมไทย
สำนักข่าวอะลามี่ : อ่านมุมมองของ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม(CMP) กับบทบาทการทำงานและการขับเคลื่อนขององค์กรมุสลิม ในอดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต เราจะขับเคลื่อนกันอย่างไร โดยมีวาระหลัก 4 เรื่อง ประกอบด้วย การศึกษา ระบบซะกาต การเงินการธนาคารอิสลาม และ อุตสาหกรรมฮาลาล
ตอน 2 : ระบบซะกาต ลดความยากจนของสังคม
ระบบซะกาต คือ การแบ่งปันทางสังคม โดยผู้ที่มีสิทธิรับซะกาต มี 8 กลุ่มตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งเมื่อเทียบกับนิยามความยากจนขององค์กรระหว่างประเทศก็แทบจะครอบคลุมครบทั้ง 8 กลุ่ม ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับซะกาต ทั้งนี้ จากข้อมูลงานวิจัยปัญหาความยากจนในประเทศไทย พบว่าสังคมมุสลิมมีอัตราความยากจนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มศาสนาอื่นๆ ทั้งๆ ที่เรามีระบบซะกาต ซึ่งน่าจะแสดงว่า ระบบซะกาตยังไม่ได้ทำงานตามศักยภาพได้เต็ม100% จากข้อมูลวิจัยพบว่าคนไทยทั่วประเทศโดยเฉลี่ยจำนวน 100 คน จะมีคนจนจำนวน 11 คน แต่ถ้าเป็นกลุ่มประชากรมุสลิมไทยในจำนวน 100 คน จะมีจำนวนคนยากจนถึง 16 คน ซึ่งอัตราความยากจนที่สูงจะอยู่ในพื้นที่ที่มุสลิมกระจุกตัวอยู่หนาแน่น เช่น ภาคใต้ตอนล่าง
คำถามคือ ระบบซะกาตทำงานไม่เต็มที่ หรือไม่…!!!!!
ระบบซะกาต จึงยังมีความจำเป็นต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมา ดร.ปรีดา ประพฤติชอบ ก็ได้ริเริ่มผลักดันและต่อมา ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข, อาจารย์อรุณ บุญชม, อาจารย์ชัช หะซาเล็ม, คุณทวีศักดิ์ หมัดเนาะ และผู้ใหญ่อีกหลายๆท่าน ได้ศึกษาวิจัยเรื่องซะกาต ในสังคมมุสลิมโดยเฉพาะ ซึ่งรายงานวิจัยของท่านเหล่านี้ซึ่งศึกษาจากประเทศต่างๆทั่วโลกแล้วพบว่า ประเทศมุสลิมหรือประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมจะต้องมีองค์กรกลาง ซึ่งองค์กรกลางจะเกิดขึ้นได้ต้องมีรากฐานทางกฎหมายรองรับ จึงจะเกิดความมั่นคง ท่านเหล่านี้จึงยกร่าง พรบ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตขึ้นมา และพยายามผลักดันในเรื่องนี้ เพื่อให้ ระบบซะกาต ช่วยแก้ปัญหามุสลิมที่ตกทุกข์ได้ยาก แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศมุสลิมก็ตาม
ทั้งนี้ตามร่างพรบ.ฉบับนี้ ชุมชนและองค์กรมุสลิม มูลนิธิ สมาคม สามารถจัดตั้งกองทุนซะกาต ขึ้นมาได้ภายใต้แนวคิดว่า “กองทุนชุมชนเก็บซะกาตในชุมชน จ่ายในชุมชน ตามหลักศาสนาอิสลาม” โดยรัฐบาลมีหน้าที่ให้การส่งเสริม โดยมีองค์กรกลางให้การสนับสนุนกองทุนซะกาตย่อยๆ นอกจากนี้ องค์กรกลางยังจะสามารถช่วยเหลือให้บางกองทุนซะกาตย่อยที่มีซะกาตเหลือได้รับรู้และสามารถให้ความช่วยเหลือกองทุนซะกาตที่ขาดแคลนได้ และอาจจะได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรโลกของประเทศมุสลิมที่มีความร่ำรวย
“ จากงานวิจัยพบว่า การเกิดขึ้นของกองทุนซะกาตที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดอัตราความยากจน ของประชากรมุสลิมในประเทศไทย ได้อย่างน้อย 1 ใน 4 หรือ จาก 16% ให้เหลือเพียง 12% ซึ่งคิดจากฐานประชากรมุสลิมจาก 5 ล้านคน นั่นหมายถึงคนจำนวน 200,000 คน จะพ้นจากความยากจน”
ทั้งนี้ ระบบซะกาตยังมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนสังคม จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ ส่งเสริมการศึกษาและสร้างอาชีพของประชากรมุสลิม รวมถึงการแก้ปัญหา และจะเป็นอีกทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนในชุมชน เป็นการลดความยากจนได้ในระดับหนึ่ง
“ที่ผ่านมาประมาณ พ.ศ.2549 ในยุครัฐบาล พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เห็นประโยชน์จึงได้ให้ไฟเขียวและผ่านกระบวนการพิเศษ ตอนนั้นเราทำไปถึงกฤษฎีกา สมมติรัฐบาลให้การสนับสนุนเบื้องต้นกองทุนละ 50,000 แก่ชุมชนมุสลิม 3,500 ชุมชน รวมเป็นเงินไม่กี่ร้อยล้านบาท กองทุนซะกาตที่เกิดขึ้นสามารถให้ความช่วยเหลือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้ทุนการศึกษา แต่สุดท้ายไปสะดุดที่กฤษฎีกา”
“ ในยุคนั้น สนช.รับร่างพรบ.นี้เข้าไปพิจารณาไม่ทัน จึงต้องหยุดไว้ก่อน ในยุครัฐบาลคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่านเข้าวาระที่ 1 แต่ในยุครัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้ยืนยัน ร่าง พรบ.จึงตกไปและกลับไปอยู่ที่กฤษฎีกาใหม่ พอมาถึงยุคนี้ด้วยความไม่เข้าใจ และการปฏิรูประบบราชการ ร่างพรบ.ซะกาต จึงหลุดจากกฤษฎีกา ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ “ศ.ดร.อิศรา กล่าวและว่า
กระนั้นเราก็พยายามเสนอเข้า สปช. แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น มีการปลุกม็อบ ผู้เสนอต้องขอถอนเรื่องนี้ออกไป ซึ่งผมกำลังพยายามผลักดันแนวคิดของระบบซะกาตในสังคมไทยและร่าง พรบ. นี้ อีกครั้ง
“พรบ.ซะกาต นอกจากจะนำมาใช้ได้กับสังคมมุสลิม แล้วยังสามารถนำมาใช้กับสังคมโดยรวมทั่วไปได้อีกด้วย หลักการดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐ เบาแรงขึ้น ชี้เป้าหมายความยากจน (Poverty Targeting) ได้ดีขึ้น เพราะสามารถดูแลปัญหาความยากจนของคนในประเทศไทยกว่า 68 ล้านคน ซึ่งมีคนจนอยู่ประมาณ 7 ล้านกว่าคนได้”
มีงานวิจัยจากทางโลกตะวันตก ชี้ให้เห็นว่า “ ถ้าคนในสังคมมีความเชื่อในโลกหน้า สังคมนี้จะเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าสังคมประเภทเดียวกัน แต่คนในสังคมไม่เชื่อในโลกหน้า”
ทั้งนี้ คนที่เชื่อในโลกหน้า เช่น มุสลิม คือคนที่จะให้กับสังคม ซึ่งจากการวิจัยดังกล่าวสามารถเป็นตัวยืนยันได้ว่า ถ้าระบบซะกาต สามารถทำงานได้เต็มที่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาของสังคมแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตด้วยและเร็วกว่าปกติ
ตีพิพม์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับ มีนาคม 2559