The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ภูมิปัญญาจากหนังสือเก่า : สมาน อู่งามสิน

The Golden Legacy:  Brunei Darussalam

มรดกแห่งยุคทอง: บรูไน ดารุซสลาม

 (ตอนที่ 1: ยุคแห่งตำนานและการเข้าสู่ยุคทอง)

 
                " The Golden Legacy: Brunei Darussalam
" มรดกแห่งยุคทอง: บรูไน ดารุซสลาม" เป็นหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างชาติ, วิถีชีวิตอิสลาม, ชุมชนชาวน้ำและสถาบันสุลต่านสมัยใหม่ พิมพ์ที่บรูไนในปี 1994 โดย  Syabas

               หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานการถ่ายภาพของ Ian Lloyd นักถ่ายภาพชาวอเมริกัน และเป็นงานเขียนของนักเขียนมืออาชีพ 3 ท่านคือ Joseph Yingerst, Wendy Moore (Siti Khadijah) และ Sharon Meyers

                Brunei แม้จะเป็นรัฐเล็กๆ ที่ฝังตัวเองอยู่ในหมู่เกาะมลายู แต่ก็มีประวัติการสร้างชาติที่ยาวนานและถือว่าเป็นรัฐสุลต่าน (Sultanate) เพียงรัฐเดียวที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่ชัดแจ้งในเรื่องของการลงหลักปักฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีการค้นพบว่าดินแดนในแถบนี้ ที่ถ้ำ Niah ใน Sarawak เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่เมื่อ 40,000 ปีก่อน มีการค้าขายกับจีน ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 6 ในบันทึกของจีน เรียกดินแดนแถบนี้ว่า 'Poli' หรือ 'Puni'

               ในศตวรรษที่ 10 หมู่เกาะมลายู อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักร Srivijaya ศรีวิชัย (ฮินดู-พุทธ) ซึ่งมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่สุมาตรา Marco Polo เคยบันทึกไว้ว่า การค้าขายระหว่างจีนกับบรูไน เป็นไปอย่างกว้างขวาง จนถึงปลายศตวรรษที่ 14 บรูไน ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักร Majapahit มัฌปาหิต (ฮินดู) ซึ่งมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ชะวา

                 Ibn Batuta นักเดินเรือชาวอาหรับน่าจะเคยมาเยือนดินแดนในแถบนี้ตั้งแต่ตอนต้นศตวรรษท่ี 14 บันทึกของท่านกล่าวถึงเมืองที่ชื่อ'Kailukari' ที่ปกครองโดยเจ้าหญิง Urduja ซึ่ง " กองทัพของพระนางประกอบด้วยสตรีที่เป็นไทแก่ตนเอง, ทาสสตรี และเชลยศึกสตรีซึี่งสามารถทำการสู้รบได้เยี่ยงบุรุษ"

               มีข้อมูลนอกหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับนักเดินเรือจีนมุสลิมท่านหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึง คือ Admiral Zheng He (1371-1433) แม่ทัพเรือเจิ้งเหอ ท่านเดินทางสำรวจทางทะเล 7 ครั้งระหว่างปี 1405-1433 จำนวนเรือที่ใช้สูงสุด 317 ลำ, จำนวนกะลาสีเรือที่ร่วมขบวนสูงสุด 30,000 ชีวิต และมีการแวะเยือนอย่างน้อย 30 นครรัฐ

               เจิ้งเหอ เดินทางมาถึงบรูไนตั้งแต่การออกสำรวจครั้งแรกๆ  ในปี 1408 สุลต่านแห่งบรูไนพร้อมด้วยพระมเหสี เจ้าชาย เจ้าหญิงและข้าราชบริพารจำนวนมากรวม 150 ชีวิต เดินทางสู่จีนในสมัยราชวงศ์ Ming เพื่อเป็นการตอบแทนการเยือนบรูไนของเจิ้งเหอ เดือนตุลาคมของปีเดียวกัน สุลต่านแห่งบรูไน ทรงสวรรคตและพระศพถูกฝังที่ Shizi Mound ตามพระประสงค์ขององค์สุลต่าน

               สถานการณ์ผันแปรไปอย่างรวดเร็วด้วยการแผ่กระจายของอิสลามในหมู่เกาะมลายู ต้นศตวรรษที่ 15 Awang Alak Betatar of Brunei เข้ารับอิสลามด้วยการสมรสกับธิดาองค์หนึ่งของสุลต่านรัฐ Johor ทรงพระนามว่า สุลต่าน มุหัมมัด ต่อมา ธิดาของสุลต่านองค์ที่สอง ก็สมรสกับ Sharif Ali เจ้าชายจากเมือง Taif  ซึ่งปัจจุบันคือเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย ทรงพระนามว่า สุลต่าน Berkat

              พระองค์เป็นผู้สร้างบรูไน ให้เป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลโดยมีเมือง Kota Batu เป็นศูนย์กลาง สุลต่าน Sharif Ali ทำการปฏิวัติปรับเปลี่ยนทุกสิ่งรอบตัวพระองค์ให้รับใช้อิสลามและบรรจงสร้าง Kota Batu ให้เป็นเมืองเล็กๆที่น่าอยู่ เป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาจนถึงทุกวันนี้

               ในช่วงนี้ บรูไน ได้ก้าวเข้าสู่ยุคทองโดยแผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างไกล จาก Borneo สู่เกาะต่างๆในฟิลิปปินส์ซึ่งรวมถึง Sulu, Palawan, Mindoro และอ่าว Manila มีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าร่วมกับจีน, ชะวาและมะละกา พระราชนัดดาของสุลต่าน Sharif Ali ทรงพระนามว่า สุลต่าน Bolkiah (1485-1524) เป็นนักการปกครองที่ปราดเปรื่องและมีเชาวน์ปฏิภาณสูงและพระองค์ทรงชื่นชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจจนได้ฉายานามว่า 'Singing Admiral' ' แม่ทัพเรือนักร้อง'

              พระองค์ทรงขับเคลื่อนยุคทองแห่งบรูไนด้วยกุศโลบายทางการค้าและการทหาร โดยการเดินทางเชิงการทูตออกสำรวจทางทะเลไปยังดินแดนต่างๆรอบหมู่เกาะมลายู เพื่ออวดธงและแสดงถึงความเป็นผู้พิชิตและเป็นสุลต่านที่ยิ่งใหญ่กว่าสุลต่านทั้งหลายในหมู่เกาะมลายู

     
       พระองค์ทรงเป็นสุลต่านที่ให้การต้อนรับชาวยุโรปกลุ่มแรกเข้าสู่หมู่เกาะมลายู นั่นคือกองเรือส่วนที่เหลือของนักเดินเรือชาวโปรตุเกส Ferdinand Magellan โดยมาถึงอ่าวบรูไน เมื่อ 17 กรกฎาคม 1521 กองเรือนี้อยู่ระหว่างการเดินทางกลับมาตุภูมิหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเดินทางรอบโลกทางเรือครั้งแรกในประวัติศาสตร์

            อันที่จริงแล้ว Ferdinand Magellan ได้เสียชีวิตเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อนในระหว่างการสู้รบกับนักรบฟิลิปปินส์ที่ Cebu และพวกกะลาสีเรือสเปนกำลังตกอยู่ในอาการเศร้าโศก แต่ต่างก็พากันดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการต้อนรับอย่างจิตมิตรภาพและยิ่งใหญ่ที่บรูไน

            นักประวัติศาสตร์ประจำเรือ Antonio Pigafetta ได้บันทึกรายละเอียดของการต้อนรับไว้ว่า " สุลต่านของเกาะบรูไน ได้ส่งเรือใบเร็วทรงมลายูที่สวยงามจับตามายังพวกเรา หัวเรือและหางเรือเสริมแต่งด้วยทอง ที่หัวเรือมีธงสีขาวและน้ำเงิน ประดับประดาและประดิดประดอยด้วยขนนกยูง มีบุรุษกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นเครื่องดนตรีและกลอง ....บุรุษสูงวัย 8 ท่าน ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ ขึ้นมาบนเรือของพวกเราและนั่งลงบนพรมที่หางเรือ พวกเขามอบกระปุกบรรจุใบพลู, ผลหมาก, ดอกมะลิและดอกไม้สีส้ม, ผ้าคลุมสีเหลืองทอด้วยไหม, กรง 2 กรงซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ปีก, แพะ1 คู่, ไห 3 ใบบรรจุเครื่องดื่มที่กลั่นจากข้าวและมัดอ้อยอีกจำนวนหนึ่ง"

             พวกกะลาสีเรือสเปนมีความประทับใจเมืองKota Batu ของสุลต่านเป็นอย่างยิ่ง งานรื่นเริงเพื่อต้อนรับการขึ้นฝั่งเป็นไปอย่างอลังการ ด้วยการแห่แหนเหล่ากะลาสีเข้าสู่เมืองบนหลังช้าง ซึ่งตกแต่งด้วยผ้าไหม Pigafetta ยังบันทึกไว้อีกว่า “ เมืองทั้งเมืองถูกสร้างบนน้ำ ยกเว้นพระราชวังและจวนของขุนนางชั้นผู้ใหญ่บางท่าน เขาประมาณว่ามีประชากรราว 125,000 คนจาก 25,000 ครอบครัว ท้องพระโรงสำหรับเข้าเฝ้าถูกประดับประดาและตกแต่งด้วยพรม, เครื่องประดับแบบแขวนซึ่งทอจากไหมและม่านแพรต่วนปักดิ้นเงินดิ้นทองและสุลต่านถูกห้อมล้อมปกป้องด้วยทหารพร้อมดาบข้างกายในสภาพพร้อมรบจำนวน 300 นาย “  

              Pigafetta ยังบรรยายลักษณะของสุลต่าน Bolkiah ไว้อีกว่า เป็นสุลต่านที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ทรงมีอัธยาศัยดีเป็นเลิศในการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนจากแดนไกลอย่างสมเกียรติและเป็นสุลต่านผู้ทรงอำนาจที่เปี่ยมล้นด้วยความเป็นมุสลิมที่ศรัทธาในอิสลาม และเป็นสุลต่านผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในหมู่เกาะมลายู

ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร อะลามี่ ฉบับมกราคม 2559