เฮดสปีช ในสื่อมุสลิม
“....สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ควรทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้เรื่องอิสลามศึกษาที่ถูกต้อง
ท่ามกลางสังคมที่ไม่รู้จักอิสลาม มากเสียยิ่งกว่าการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้ง
หรือ สร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง (Hate speech) ที่ตอกย้ำความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปอีก
อีกทั้งยิ่งตอกย้ำความเชื่อของคนข้างนอกว่า อิสลามคือศาสนาที่นิยมความรุนแรง.. ”
รับชวนไปร่วมเสวนา เรื่อง “สื่อมุสลิมกับการพัฒนาสังคมไทย” ในงานมหกรรมบางกอกฮาลาล 2559 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันที่สังคมไทยเกือบทั้งระบบ ถูกครอบไว้ด้วยวัฒนธรรมใหม่ในการแสดงความรัก ตามนักบุญวาเลนไทน์แห่งคริสต์ศาสนา
แต่สำหรับสังคมไทยวัฒนธรรรมแบบอิสลามและบทบาทของสื่อมุสลิม ในการสร้างความเข้าใจ และให้ความรู้เรื่องอิสลามศึกษาดูเหมือนยังห่างไกล
เพราะสังคมไทยยังมองอิสลามเป็นเรื่องความรุนแรง และหวาดระแวงมุสลิม ที่หลักปฏิบัติหลายข้อแปลกแยกแตกต่างจากสังคมไทยที่เรื่องของศาสนา เป็นเพียงความเชื่อ และจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้
ถ้าถามเอาคำตอบกันจริงจังสำหรับบทบาทสื่อมุสลิม ผมคิดว่า จะต้องแบ่งบทบาทของสื่อมุสลิมออกเป็น 2 ระดับ
หนึ่ง คือ สื่อมุสลิมในฐานะช่องทางสาร ได้แก่สถานีโทรทัศน์มุสลิมผ่านดาวเทียมทั้งหลาย สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อมุสลิมที่เป็นสิ่งพิมพ์ทั้งในรูปแบบหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
สอง คือ สื่อมุสลิมในบทบาทของตัวบุคคล ที่ต้องย้อนกลับไปถึงยุคของ อัลมัรฮูมอิบรอฮีม อะมัน หรือ อมันตกุล หรือ คุณอิศรา อมันตกุล จนถึงยุคของ อัลมัรฮูมราชันย์ ฮูเซ็น อดีตผอ.อสมท. และนักวิชาการสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง
คุณอิศรา เป็นทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก เป็นสัญลักษณ์แห่งนักสื่อสารมวลชน ที่กลายมาเป็นแบรนด์ต่างๆ ที่ใช้ชื่อของคุณอิศรา เช่น มูลนิธิอิศรา อมันตกุล, สำนักข่าวอิศรา, วารสารวิชาการอิศราปริทัศน์, ห้องประชุมอิศรา, รวมทั้งรางวัลอิศรา ซึ่งถือเป็นรางวัลในการประกวดข่าวของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเทียบเท่ารางวัลพูลิตเซอร์ เลยทีเดียว
อีกท่านหนึ่ง คือ คุณราชันย์ ฮูเซ็น นักสื่อสารมวลชนในแขนงวิทยุและโทรทัศน์ คุณราชันย์ เคยเป็นอดีตหัวหน้าข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์แนวหน้า และข่าวสด อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และอดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “ไทยมุสลิมเน็ตเวิร์ค”
ยังไม่ต้องพูดถึงคุณดำรง พุฒตาล พิธีกรรุ่นใหญ่ในวงการ ที่คนทั้งประเทศรู้จัก
ยังมี บังซัน คุณฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ซีอีโอไทยรัฐทีวี คนสำคัญที่ทำให้ไทยรัฐทีวี ก้าวมาอยู่แถวหน้าของทีวีดิจิตอลในเวลาอันรวดเร็ว
คนเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของสังคมมุสลิมได้ นับรวมทั้ง คุณวุฒินันท์นาฮิม แห่งเนชั่นทีวี คุณธีรวัฒน์ พึ่งทอง ผู้ประกาศข่าวช่อง 9 อสมท. และคุณณัฐพงษ์มูฮัมหมัด ดาวรุ่งแห่งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ที่ร่วมเวทีเดียวกับผมในงานบางกอกฮาลาล
แต่บทบาทของพวกเขาในสื่อกระแสหลัก ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้เปล่งประกายความเป็นสื่อมุสลิมมากนัก ด้วยเงื่อนไขความต่างของวัฒนธรรม ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ อย่างไรก็ตามทั้ง คุณวุฒินันท์ นาฮิม, คุณธีรวัฒน์ พึ่งทอง และคุณณัฐพงษ์ มูฮัมหมัด ก็มีส่วนช่วยในการสื่อสารความเป็นมุสลิม ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ไม่บังคับให้เชื่อ แต่ทำความเข้าใจด้วยเหตุผล
สำหรับมิติของสื่อ โดยเฉพาะช่องทางสารที่มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอย่างน้อย 4 ช่อง สถานีวิทยุหลายสิบสถานี สิ่งที่สะท้อนจากสื่อเหล่านี้ คือ การเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม ที่คนนอกอาจไม่คิดว่าเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร หรือมีสิ่งใดที่เป็นความรู้ใหม่สำหรับอิสลาม ทั้งที่การส่งสัญญาณภาพและเสียงกระจายครอบคลุมสังคมไทยทั้งหมด ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคข่าวสารที่เป็นมุสลิมเท่านั้น
ยกเว้นนโยบายของผู้บริหารที่ต้องการเป็นสื่อเฉพาะกลุ่มมาแต่แรก
สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ควรทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้เรื่องอิสลามศึกษาที่ถูกต้อง ท่ามกลางสังคมที่ไม่รู้จักอิสลาม มากเสียยิ่งกว่าการนำเสนอเรื่องราวความขัดแย้ง หรือ สร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง (Hate speech) ที่ตอกย้ำความขัดแย้งให้ร้าวลึกลงไปอีกอีกทั้งยิ่งตอกย้ำความเชื่อของคนข้างนอกว่า อิสลามคือศาสนาที่นิยมความรุนแรง
เฉพาะผู้บริหารสถานีไม่เพียงต้องคำนึงถึงระดับการรับรู้ และเคารพสติปัญญาของคนดูที่เขาย่อมใช้วิจารณญาณแยกแยะได้เองว่าจะเชื่อ หรือไม่เชื่อ หรือปฏิบัติอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องชี้นำแล้ว แต่จำเป็นต้องทบทวนบทบาทของสื่อที่ทำงานอย่างมืออาชีพ แยกบทบาทส่วนตัวออกจากการทำหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ และเข้าใจถ่องแท้ว่าข่าวสาร ข้อมูลที่ส่งออกไปนั้นคือผู้บริโภคข่าวสารในสังคมไทยทั้งระบบ มิได้แยกแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา
ในฐานะสื่อมุสลิม ที่ยืนอยู่ข้างนอก ผมมองเห็นบทบาทของสื่อมุสลิมที่พยายามยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อให้เสมอกับสื่อมวลชนในระดับชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรชื่นชมและให้กำลังใจกัน
แต่ความพยายามนั้นอาจยังไม่เพียงพอ การกลับสู่ความเป็นอิสลาม ความอ่อนน้อม ถ่อมตัว การแสดงออกซึ่งกลุ่มชนผู้ใฝ่สันติ การตระหนักรู้ถึงบทบาท หน้าที่ของมุสลิมทุกคน ที่จะต้องสร้างความเข้าใจในอิสลามที่ถูกต้อง แท้จริง จะช่วยให้เราเดินได้ตรงทางมากขึ้น
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับมีนาคม 2559