วาทกรรมในซุนนะห์
โดย : บันฑิตย์ สะมะอุน
คำว่าซุนนะห์ หมายความว่า ”ความชัดเจน” ที่ถูกเรียกอย่างนี้เพราะซุนนะห์เป็นการสร้างความชัดเจนแก่อัลกุรอาน
ความจริงซุนนะห์ ไม่เคยถูกบันทึกในยุคของท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล)เพราะเกรงว่าจะไปปะปนกับอัล-กุรอาน จนถึงสมัย อุมัร บิน อับดุลอะซีส คอลีฟะห์ท่านที่8 แห่งราชวงศ์อุมัยยะห์ในซีเรีย ท่านเป็นผู้ปกครองท่านแรกที่ใช้ให้ทำการบันทึกซุนนะห์ ด้วยสาเหตุที่มี การเติมแต่ง/ตัดต่อมากมายเกิดขึ้น นับเป็นการสุดสิ้นความขัดแย้งระหว่างอาลีและมุอาวียะห์
มีการบันทึกว่า ท่านอิบนุชิฮาบอัลซุฮรี เป็นท่านแรกที่ทำการบันทึกซุนนะห์ ภายหลังจากนั้น ท่านอิบนุญะรีฮ ทำการบันทึกในมักกะห์ และท่านอิหม่ามมาลิก ทำการบันทึกในมะดีนะห์ ท่านซุฟยานอัลเซารี ทำการบันทึกในกูฟะห์ และท่านเอาซาอี ทำการบันทึกในชาม
และพวกเขายังได้ทำการวางกฎเกณฑ์ที่บรรดาอุลามาอฺ เรียกว่า”มุสฎอละหุลหะดีษ” ซึ่งถือเป็นตัวบทอ้างอิงทางชารีอะห์รองจากอัล-กุรอาน เกิดการเรียนรู้พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องซุนนะห์จนเป็นระบบมาตรฐานที่สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและสืบค้น
โดยซุนนะห์บางอย่างเข้าไปร่วมเป็นส่วนของชารีอะห์ และบางส่วนไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเฉพาะ(ชัคซียะห์)ของท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล)
อัล-กุรอาน ได้กล่าวถึงหน้าที่สำคัญของศาสดา(ซ.ล)ไว้ในอัลกุรอานว่า “และเรา(อัลลอฮ)ไม่ได้ส่งเจ้า(มุฮำหมัด)มาเพื่อสิ่งใด ยกเว้นเพื่อให้เป็นความเมตตาต่อโลกทั้งหลาย” : (ซูเราะห์อัลอัมบียาอฺ/107) หน้าที่สำคัญของท่านศาสดา(ซ.ล)ตามบทบัญญัตินี้คือการบอกกล่าวเผยแพร่ความเมตตาให้กับสากลโลก
ซุนนะห์ ของท่านศาสดาจะยิ่งใหญ่หรือไร้ค่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพในการตีความ คำว่า ซุนนะห์ คงไม่ใช่เพียงการเลียนแบบหรือลอกแบบดั่งภาพเหมือน แต่น่าจะคือ การสร้างสรรค์ขึ้นบนพื้นฐาน /ฐานคิดจากซุนนะห์และอัล-กุรอาน ที่สนับสนุนให้มนุษย์ใช้ความคิดสร้างสรรค์งานหรือผลิตเครื่องมือใหม่ๆขึ้นแก่วิถีชีวิตด้านปัจเจกและสังคม
การยึดถือซุนนะห์ คือ การไม่นำเอาซุนนะห์ ที่มีแตกต่างหลากหลายมาแบ่งแยกคนออกจากกลุ่ม ออกจากสังคม ซึ่งในปัจจุบันซุนนะห์ คล้ายกับเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยอาศัยแนวคิดทางศาสนา เพื่อต้องการสร้างกลุ่มขึ้นเพื่อตอบโต้กับกลุ่มที่มีแนวคิดซุนนะห์แตกต่าง หรือเพื่อต้องการสร้างมวลชนของกลุ่มด้วยการคัดกรองกลุ่มที่มีความคิดเหมือนกันในเรื่องซุนนะห์
วาทกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยได้ดี กับการนำคำทางศาสนามาสร้างเป็นวาทกรรม คำว่า ชาฮีด คำว่า ญีฮาด คำว่า ซุนนะห์ คำว่า ชีอะห์ ฯลฯ คำเหล่านี้กลายเป็นวาทกรรมที่เคยถูกสร้างขึ้นมาให้เห็นแล้วในอดีต
จึงน่าจะมีการตรวจสอบวาทกรรมที่ซ่อนมาในรูปแบบต่างๆของซุนนะห์ให้ชัดเจน
การสร้างวาทกรรมที่เกิดจากผลของการขับเคี่ยวทางเมืองการปกครอง(อำนาจ)ในอดีตซึ่งเคยทำลายเอกภาพของสังคมมุสลิมด้วยวาทกรรมมามากมาย
เราคงต้องพัฒนาซุนนะห์ ผลิตสร้างสรรค์ซุนนะห์คิดนวตกรรมใหม่ๆที่มีรูปแบบจากซุนนะห์ ให้ซุนนะห์ มีคุณค่าแก่การเติมเต็มความสวยงามแก่สังคม และอย่าให้ซุนนะห์ กลายเป็นเพียงเหยื่อล่อปัญหาความขัดแย้งและปัญหาความมั่นคงสู่สังคม
....................
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับมีนาคม 2559