มาตรฐานฮาลาลไทย ก้าวไกลสู่เวทีมาตรฐานโลก
โดย : รศ. ดร.ปกรณ์ ปรียากร
ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย
สำนักข่าวอะลามี่ : ประเทศไทยได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ ให้เข้ารวมเป็นสมาชิกของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (The Standards and Metrology Institute of Islamic Countries) หรือชื่อย่อว่า SMIIC โดยจดหมายเชิญดังกล่าวลงนามโดย “นายเอียะห์ซาน โอวุท” Mr.Ihsan Ovut เลขาธิการ SMIIC ส่งจดหมายเชิญผ่านทางสถาบันมาตรฐานฮาลาล แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของการดำเนินภารกิจด้านฮาลาลของไทย
ความสำเร็จเช่นนี้ ต้องแสดงความชื่นชมในความพยายามอย่างต่อเนื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรศาสนาอิสลามของไทย ที่นับตั้งแต่ ท่านจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และการหนุนช่วยอย่างต่อเนื่องของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านทาง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SMIIC จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยความเห็นชอบร่วมกันของประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ซึ่งมีสมาชิก 57 ประเทศ ในชั้นต้นทำงานในรูปของคณะกรรมาธิการ จนถึงปี พ.ศ. 2553 จึงยกฐานะขึ้นเป็นสถาบัน และมีสถานะเป็นองค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศในสังกัด OIC โดยเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก OIC ให้สอดคล้องต้องกัน รวมทั้งเตรียมจัดทำมาตรฐานใหม่ๆ ที่จะต้องใช้ในอนาคต
โดยจุดมุ่งหมายหลักสำคัญคือจะทำให้มาตรฐานต่างๆ มีรูปแบบเดียวกันทั้งในด้านของมาตรวิทยา (Metrology) การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ และสร้างเกณฑ์ในการตรวจรับรองระบบงาน (Accreditation) อันจะนำไปสู่ความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของประเทศมุสลิมภายใต้ OIC
แน่นอนที่สุดว่ามาตรฐานที่สำคัญที่สุดคือ “ มาตรฐานฮาลาล (HALAL Standards)”เนื่องจาก OIC มีความพยาพยามที่จะยกระดับมาตรฐานฮาลาลระหว่างประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีระบบและกระบวนการดำเนินงาน อันเป็นที่ยอมรับระหว่างกัน (mutual recognition) รวมทั้งการพัฒนามาตรฐานฮาลาลด้านต่างๆ ในอนาคตร่วมกัน
สำนักงานใหญ่ของ SMIIC อยู่ที่กรุงอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี ปัจจุบันประธาน SMIIC คือ นายเซบาอิททิน คอร์คมาซ จากสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งท่านผู้นี้ได้มาร่วมงาน Thailand Halal Assembly 2015 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยคณะที่มาพร้อมกับประธาน SMIIC ประกอบด้วย นายลุตฟี เบนซาอิด รองเลขาธิการ และ นายยาซีน ซุลฟีกาโรกลู ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ
ทั้งนี้ ในวันแรกของงานนี้ (25 ธค. 58) คณะกรรมการจัดงานได้เชิญประธาน SMIIC ขึ้นกล่าวคำปราศรัยพิเศษ ในช่วงก่อนพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยมีท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นประธานฯ
ในส่วนหนึ่งของคำปราศรัยนั้น ประธาน SMIIC อธิบายถึงคำว่า มาตรฐาน มาตรวิทยาและการรับรองระบบงาน เป็นเสาหลักในทางเศรษฐกิจ และความสอดคล้องต้องกันในเชิงวิชาการต่างๆ อันจะช่วยเพิ่มพูนการค้าระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ OIC
นายเซบาอิททิน คอร์คมาศ ระบุว่า “SMIIC มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในกิจกรรมเชิงวิชาการ และสร้างความเข้มแข็ง ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเชิงคุณภาพของประเทศสมาชิกตลอดมา ดังนั้นการเป็นสมาชิกของ SMIIC จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่ประเทศสมาชิกจะมีส่วนร่วมการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในกระบวนการ พัฒนามาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น ”
นอกจากนี้ คณะของ SMIIC ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในการประชุมร่วมขององค์กรตรวจรับรองฮาลาลจำนวน 34 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมในงานนี้ ทั้งในการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับความสำคัญของมาตรฐานฮาลาล รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินภารกิจของประเทศไทย ในการพัฒนากิจการฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับรู้ถึงบทบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการผลักดันยุทธศาสตร์การส่งเสริม รวมถึงพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล ระหว่าง ปี พ.ศ. 2559–2563
ในช่วงสุดท้ายของการประชุมเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2558 ท่านประธาน SMIIC แสดงความขอบคุณและชื่นชมความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการจัดงานThailand Halal Assembly 2015 รวมทั้งให้การต้อนรับผู้เข้าประชุมอย่างดีเยี่ยม
สำหรับจดหมายการเชิญประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ SMIIC นั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ตามข้อกำหนดในธรรมนูญและกฎข้อบังคับที่ว่าด้วยกระบวนการดำเนินงานของ SMIIC ประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของ OIC มีสิทธิ์ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของ SMIIC โดยการเสนอชื่อหน่วยงานทางด้านมาตรฐาน มาตรวิทยา หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการรับรองระบบงานฮาลาล (Accreditation bodies)
ดังนั้นการเป็นสมาชิกของประเทศไทย อาจจะทำได้ด้วยการเสนอชื่อคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในฐานะที่เป็น “หน่วยงานรับรองระบบงานฮาลาลของประเทศ (National Halal Accreditation Bodies)” และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็น “องค์กรมาตรฐานฮาลาลของประเทศ (National halal standardization body)”
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ SMIIC จึงเชิญประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของ SMIIC โดยหน่วยงานที่เหมาะสมทั้งสององค์กรดังกล่าว และร่วมมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมของ SMIIC โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคณะกรรมการวิชาการด้านต่างๆ (Technical Committees) ที่จะทำหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนามาตรฐาน ด้วยการมีฉันทามติร่วมกัน
การเข้าเป็นสมาชิก SMIIC ของประเทศไทย หมายถึง การเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเอกภาพ ระหว่างประเทศภาคีสมาชิกกับประชาคมมุสลิมของประเทศที่มิใช่สมาชิกของ OIC อันจะทำให้ความแข็งแกร่งในเชิงเอกภาพของ SMIIC เพิ่มสูงขึ้นด้วย
จึงนำเรื่องนี้มาชี้แจงให้ผู้สนใจทราบ ส่วนความก้าวหน้าต่างๆ ในเรื่องนี้ จะนำมาเล่าให้ฟังต่อไป
หมายเหตุ:ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับเดือนมีนาคม 2559