The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   เปิดแนวคิด ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์

เปิดแนวคิด "ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ "

กับมุมมอง 4 วาระหลักของสังคมมุสลิม 

โดย เอกราช มูเก็ม

           สำนักข่าวอะลามี่ : อ่านมุมมองของ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้จัดการแผนงานสร้างสุขมุสลิมไทยกับบทบาทการทำงานและการขับเคลื่อนขององค์กรมุสลิม ในอดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต เราจะขับเคลื่อนกันอย่างไร โดยมีวาระหลัก 4 เรื่อง ประกอบด้วย มิติระบบการศึกษา ระบบซากาต  ระบบอุตสาหกรรมฮาลาล และ เรื่องการเงินการธนาคารอิสลาม



         ตอนที่ 1 : ระบบการศึกษาอิสลามบูรณาการ

        ฉบับนี้เราเริ่มต้น จากมุมมองและแนวคิดในระบบการศึกษา ศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า แนวคิดนี้  สสม. (แผนงานสร้างสุขมุสลิมไทย) เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีเป้าหมายโดยให้หลักการของอิสลามไปปรากฏอยู่ในตำรา สุขศึกษา และพละศึกษาใน 12 ชั้นปี โดยเฉพาะเยาวชนมุสลิมต้องเรียน หลังจากนั้นเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็เกิดแนวคิดขึ้นมาเพิ่มเติม โดยเพิ่มวิชาของอิสลามศึกษาไปไว้ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

         “ วันนี้เราเริ่มผลิตตำราเรียน ตามหลักสูตรของประเทศ โดยไม่ต้องเปลี่ยนหลักสูตร ใช้หลักตำราเรียนสอดแทรกเข้าไปในตำราเรียนครบ12 ชั้นปี ตำราเรียนชุดนี้บางส่วนภาคเอกชนขอลิขสิทธิ์จากเราไปจัดพิมพ์เพื่อใช้ในบางพื้นที่ในภาคใต้ และบางโรงเรียนในกรุงเทพฯ รวมทั้งกระบวนการต่อไปคือการจัดอบรมครู เพื่อให้ใช้ตำรานี้ และสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเด็ก ซึ่งนำไปต่อยอดให้ได้อย่างจริงจัง”

         ในอดีตวิชาศีลธรรม เราต้องเรียนกับครูสอนซึ่งเป็นพระ สำหรับเยาวชนมุสลิมถ้าจะเรียนศาสนาต้องเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาของชีวิตถูกแบ่งไปจากการทำกิจกรรม และสังสรรค์เพื่อนฝูงรวมทั้งการเล่นกีฬา ทำให้เวลาที่เหลือในการดำเนินชีวิตลดน้อยลง

         รูปแบบใหม่จะเป็นการเติมตำราเรียนลงไปในวิชาสุขศึกษา และพละศึกษา ตำราวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นการรวบรวมตำราเรียนทั้งในวิชาสามัญ และสามารถเรียนรู้เรื่องการดำรงชีวิตตามหลักการของศาสนา ที่กลมกลืนกับการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งที่เรียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความรู้ที่ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้


          ศ.ดร.อิศรา กล่าวว่า สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะสนใจเรื่องของการเรียนมากขึ้น  เนื่องจากศาสนาอิสลามเป็นวิถีชีวิต และอยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน ในตำราเราพูดถึงเรื่องความสะอาด เราพูดถึงการอาบน้ำละหมาด เรื่องคุณภาพชีวิตของสารอาหาร เราพูดถึงอาหารที่ฮาลาล และหลักการฮาลาลเป็นอย่างไร สำหรับตำราเรียนในวิชาพละศึกษา พูดถึงคำสอนอิสลามในการออกกำลังกาย สิ่งที่เราจะสอดแทรกไป รวมถึงการแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการในขณะเล่นกีฬาด้วย

          “ ผมเดินทางไปประเทศตุรกี ประทับใจมากโดยเฉพาะเรื่องของวิทยาศาสตร์ ที่ระบุว่าการศึกษาเริ่มต้นจากคัมภีร์อัลกุรอาน อันไหนที่อัลกุรอ่านบอกไม่ได้ก็ไม่ต้องศึกษา ถ้าสิ่งไหนได้ ก็จะศึกษาแล้วจะทำให้พบคำตอบ

            สำหรับตำราคณิตศาสตร์ เราวิเคราะห์ตำราเรียน เราเปลี่ยนโครงสร้างคณิตศาสตร์ สอนหลักการออม สอนให้เด็กรู้จักคิด รวมถึงเป็นวิธีคิด ส่วนตำราวิชาวิทยาศาสตร์ พูดถึงเรื่องความเป็นจริงของโลกพูดเรื่องดาราศาสตร์  ส่วนพลศึกษา การออกกำลังกาย รวมถึงการแต่งกายในชุดกีฬาให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนา นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่      

            เด็กที่เรียนตำราเรียนของเรา จะถูกสอนวิธีการคิด โดยการซึมซับเข้าไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การรู้จักออมและรูจักให้ นอกจากนั้นจะทำให้รู้จักการลงทุน” รู้จักคิด การเอาระบบชีวิตเข้าไปในระบบการศึกษา เปลี่ยนเด็กให้คิดใหม่เป็นการปลูกฝังเรื่องของการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นการเปลี่ยนแนวคิด วิธีคิด รู้จักออม รู้จักให้ รวมถึงสอนให้เด็กคิดเป็นผู้ประกอบการ (เจ้าของธุรกิจ)

            ซึ่งตำราเรียนนี้สามารถนำไปใช้แทนตำราเดิมได้ เพียงแค่เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แต่ยังอยู่ในหลักสูตรของรัฐบาลเหมือนเดิม

            ทั้งนี้เป้าหมายหลักในการสอดแทรกตำราเรียนใหม่ สำคัญมากที่สุดเพราะอัลกุรอาน ระบุว่า  “ มุสลิมคือประชาชาติตัวอย่าง ”  เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างเยาวชนมุสลิมไทยให้เข้มแข็งและเป็นผู้ประกอบการ เป็นนักลงทุนที่ความรู้และมีจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวม แต่อยู่ในหลักการศาสนา ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม


ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร อะลามี่ ฉบับ 41 (มกรา-กุมภาพันธ์2559)