The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา “เทพาโมเดล” แนวทางการพัฒนาชุมชน

“เทพาโมเดล” แนวทางการพัฒนาชุมชน

ควบคู่กับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

                 สำนักข่าวอะลามี่ : หนึ่งในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เมกะโปรเจค มูลค่านับแสนล้านบาท  ซึ่งจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนของโรงไฟฟ้า นั่นคือ “เทพาโมเดล ”


                นายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ดูแลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา กล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรองในพื้นที่ภาคใต้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่มาตลอด จนกระทั่งในปี 2557 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในพื้นที่ภาคใต้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว  ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่อีกต่อไป

             นอกจากนี้ แหล่งผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก พึ่งพิงก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแหล่งเชื้อเพลิงดังกล่าว มีความจำเป็นต้องหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ เพื่อซ่อมบำรุงในทุกๆ  ปี ส่งผลให้ต้องส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางมาช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคใต้

            ดังนั้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงานและการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน “ภาคใต้” จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความสมดุลทางพลังงาน โดยการใช้พลังงานชนิดอื่นทดแทนการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และต้องแก้ปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่เพียงพอ  โดยการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ “โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา” จึงเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวของภาคใต้และประเทศไทย

            โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ประกอบด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้าจำนวนสองเครื่อง กำลังผลิตติดตั้งเครื่องละ 1,100 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,200 เมกะวัตต์ ใช้หม้อไอน้ำซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง และมีอัตราการปล่อยมลสารน้อย และใช้ถ่านหินคุณภาพสูง ประเภทซับบิทูมินัสหรือบิทูมินัส จากต่างประเทศเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

            ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่อำเภอเทพาให้เข้าใจถึง “กระบวนการการจัดการอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนของโรงไฟฟ้า” โดยชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบการดำเนินงานตามกฎหมายของ กฟผ. ได้ทุกขั้นตอน ไม่เพียงเท่านั้น กฟผ. ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้จากภาษีโรงเรือน ซึ่งสามารถนำไปหมุนเวียนพัฒนาท้องถิ่นได้

            สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณาความถูกต้องและครบถ้วนของรายงาน โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติโครงการฯ ประมาณปลายปี 2559 และเริ่มดำเนินก่อสร้างได้ประมาณเดือนเมษายน 2560  โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่

            ทั้งนี้ ตามแผนกลยุทธ์ (Road Map) โรงไฟฟ้าเทพา เครื่องที่ 1 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบได้ในปี 2564 จากนั้นในปี 2567 จะเริ่มใช้งานเครื่องที่ 2 ได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดมลสาร รวมทั้งโครงการคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 134,660 ล้านบาท

            นายพล กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ เราคิดถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชน เราคุยถึงเรื่องการพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน รวมถึงการพัฒนาชุมชนว่าจะได้ประโยชน์ นี่คือส่วนหนึ่งโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เราเรียกว่า“เทพาโมเดล”

            “ เทพาโมเดล คือ กระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ จนกลายเป็นความต้องการและการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม นำไปสู่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา โดยชุมชนและเพื่อชุมชน”

            นายพล กล่าวถึงกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนว่า เราได้พยายามค้นหาและรวบรวมนักพัฒนาชุมชน กลุ่มมัคคุเทศก์พลังงาน (กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 15-20 คน) และกลุ่มผู้นำชุมชน ร่วมศึกษาข้อมูลทางวิชาการจากสถาบันการศึกษา กฟผ. โรงไฟฟ้าเอกชนและต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มคัดค้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพูดคุยถึงการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง  ทั้งศักยภาพ ทรัพยากร และขีดความสามารถของชุมชน

            โดยกลุ่มมัคคุเทศก์พลังงาน และผู้นำชุมชน จะจัดทำแผนงานและลงพื้นที่ ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นและตัวแปรสำคัญ ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาโครงการเทพา ได้แก่ ตำแหน่งพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าต้องอยู่ห่างชุมชน มีชุมชนอาศัยอยู่เบาบาง ชายฝั่งมีน้ำลึก ไม่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจของชุมชน ถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ทั้งขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยมีพนักงาน กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา อำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูล และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์

             นอกจากนี้ กลุ่มมัคคุเทศก์พลังงาน ผู้นำชุมชน และบริษัทที่ปรึกษา ยังได้ร่วมกันจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามขั้นตอนกฎหมายทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อนำความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการจัดทำ EHIA ให้สมบูรณ์ตอบโจทย์ข้อวิตกกังวลของประชาชนมากที่สุด

            สำหรับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของของประชาชน กฟผ. กำลังริเริ่มและร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ พัฒนาฝีมือแรงงานประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มเพาะพันธุ์ปลากะพง เพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืนแก่ชุมชนต่อไปในอนาคต

          สำหรับด้านการท่องเที่ยว นายพล  กล่าวว่า มีแผนจะทำถนนเลียบชายหาดให้ไปเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ กฟผ. เตรียมไว้ให้กับเกาะแลหนัง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยชุมชนต้องการจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (สร้างโฮมสเตย์) และตอนนี้เริ่มดำเนินการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศร่วมกับชุมชน พร้อมวางแนวปะการังเทียม จากลูกถ้วยไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งาน บริเวณเกาะแลหนัง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมคิดร่วมดำเนินการ                    

         นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “ เทพาโมเดล ” ที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้ามาของโรงไฟฟ้า

++++++