เปิดผลการวิจัย “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมุสลิม”
: ศึกษากรณีการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ตอน 2)
สำนักข่าวอะลามี่ : ฉบับนี้นำเสนอบทความงานวิจัยต่อเนื่องเป็นตอนที่สอง เปิดผลการวิจัย “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมุสลิม” โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศผสมผสานกับเศรษฐศาสตร์อิสลาม : ศึกษากรณีการฟื้นฟูธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นงานวิจัย ของ นายธงรบ ด่านอำไพ หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 57 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด
ผลการวิจัย
1. บริบททางสังคมมุสลิม
สังคมมุสลิมยังขาดการเอาใจใส่ของภาครัฐ โดยยังไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์จากมุมมองทุกมิติ ต้องเข้าใจปัญหาของชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นจะต้องสร้างความเข้าใจ และเน้นให้ชุมชนมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง การยอมรับในขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจะช่วยให้ลดความแตกแยกในสังคม
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานการศึกษาที่ดี ให้แก่เด็กและเยาวชน และผู้นำชุมชนในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และนำธุรกิจการร่วมลงทุนสู่การปฏิบัติจริง ตามหลักการเงินอิสลามที่ถูกต้องเป็นรูปธรรมที่ชุมชนยอมรับ โดยปฏิรูปธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินกิจการตามหลักการเงินอิสลามอย่างแท้จริง และให้ชุมชนมุสลิมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ทั้งในส่วนของการถือหุ้น และการร่วมลงทุนกับธนาคารในกิจการที่เป็นสินค้า และบริการฮาลาลต่าง ๆ
2. การพัฒนาโดยใช้เครือข่าย
วิถีชีวิตของมุสลิมเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาโดยใช้พลังจากเครือข่าย เนื่องจากมุสลิมมีการรวมกลุ่มและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันเนื่องมาจากยึดมั่นในคำสอนและหลักการแห่งศรัทธาเดียวกันอย่างเคร่งครัด หากแต่ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งในกลุ่มของมุสลิมเองที่มีอยู่สองกลุ่มหลักๆ คือกลุ่มที่อนุลักษณ์นิยมที่ยึดถือในภารดรภาพของชาวมุสลิม ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามวิธีโลกปัจจุบัน และอีกกลุ่มที่มีมุมมองที่รับกับวิถีโลกแนวใหม่
ความแข็งแกร่งของพลังศรัทธาของชุมชนมุสลิมก่อให้เกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และการใช้กิจกรรมในการพัฒนาจะช่วยให้ทุกคนมามีส่วนร่วมมากขึ้น ด้วยการสอนให้มุสลิมทำธุรกิจในชุมชนของตนเอง จากการใช้เทคโนโลยี บริหารข้อมูลประชากรของตนทั้งอุปสงค์และอุปทานเป็นร้านชุมชน และสร้างเครือข่ายประชากรของชุมชนขึ้นเอง และพัฒนาไปสู่เครือข่ายข้ามชุมชน หรือระหว่างชุมชนต่อไป
เครือข่ายชุมชนนี้ต้องนำไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่เป็นฮาลาล และการเข้าถึงแหล่งการเงิน เพื่อการร่วมลงทุนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยผ่านช่องทางการเงิน โดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นผลสำเร็จ
แนวคิดด้านศาสนาอิสลาม
หลักการของศาสนาอิสลาม แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ 2 ส่วน คือ
1. หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับบุคคล (ฟัรดูอัยนฺ) ได้แก่ หลักการพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องรู้ ต้องประพฤติแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1.1 หลักศรัทธา หรือ ความเชื่อในศาสนา เรียกว่า อีมาน
1.2 หลักปฏิบัติ หรือ หน้าที่ในศาสนา เรียกว่า อิบาดะห์
1.3 หลักคุณธรรม หรือ หลักความดี เรียกว่า อิห์ซาน
2. หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับสังคม (ฟัรดูกิฟายะฮ์) ได้แก่ หน้าที่ต่างๆ ทางสังคม ซึ่งนับตั้งแต่สังคมหน่วยเล็กสุด คือ ครอบครัวจนถึงสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศชาติ
โดยหลักการศาสนาอิสลาม จึงมิได้วางบทบัญญัติแต่เฉพาะในด้านการปฏิบัติศาสนาอย่างเดียว แต่ได้วางบทบัญญัติและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศชาติเอาไว้ด้วย ในอิสลามจึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับครอบครัว การค้าขาย การลงทุน การทำธุรกิจ การเงิน การบัญชี การเก็บภาษี ตลอดจนการจัดกำลังกองทัพ การบริหารประเทศ และ การทูต เป็นต้น
แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์อิสลาม
หลักเศรษฐศาสตร์อิสลามนั้นมีการเชื่อมโยงระหว่างหลักการศาสนา และหลักการธุรกิจเข้าด้วยกัน ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากหลักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปที่เน้นเรื่องธุรกิจและการเงินเป็นสำคัญ แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์อิสลามนี้ จะเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด ยึดหลักความเมตตาไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีข้อห้ามเกี่ยวกับระบบดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการร่วมลงทุน และแบ่งปันผลประโยชน์ เป็นการแบ่งทรัพยากร ระบบเศรษฐศาสตร์และการเงินอิสลาม จะเป็นความหวังใหม่ที่เข้ามาแทนที่ระบบทุนนิยมแบบเก่า ซึ่งเกิดปัญหาและอาจจะล่มสลายในที่สุดในอนาคตของระบบเศรษฐกิจโลก
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อิสลาม พึ่งพิงธรรมชาติและคุณธรรม จึงสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่อาศัยความร่วมมือระดับชุมชน และก้าวไปสู่ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของโลกร่วมกันอย่างเป็นธรรมและปลอดภัย และสอดคล้องกับหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นพื้นฐานสังคมและการดำเนินชีวิตบนทางสายกลางพอประมาณและสมเหตุสมผล บนพื้นฐานของข้อมูลและความรู้ที่พอเพียงต่อการตัดสินใจเสมอ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ตามความทันสมัยของโลกอย่างลงตัว
แนวความคิดเกี่ยวกับ Digital Economy
คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ Knowledge Economy หรือ เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้ และ Creative Economy
แผนภูมิ Digital Economy
การทำ Digital Business Transformation หรือการสร้างฐานข้อมูลประชากรขนาดใหญ่ Big Data การแปลงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ไปสู่การเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางการเงิน เพื่อเข้าสู่ชุมชนมุสลิม
++++