จากซาอุดิอาระเบีย-อิหร่าน ถึง “ชีอะห์-ซุนนีย์”
โดย บันฑิตย์ สะมะอุน
สำนักข่าวอะลามี่ : จากเหตุการณ์ที่ซาอุดิอาระเบียสั่งประหารนักการศาสนาชีอะห์ “ ชีคนัมร์อัล-นิมร์ ” ที่ทางซาอุดิอาระเบีย เชื่อว่า อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลของตนเมื่อปี พ.ศ. 2554 จนเป็นเหตุบานปลายถึงขั้นบุกเผาสถานทูตและตัดสัมพันธ์ทางการทูต ดูเหมือนจัดวางไว้เพื่อขยายบาดแผลแห่งความขัดแย้งระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ ด้วยการจับคู่ขัดแย้ง เพื่อสร้างสงครามตัวแทน ด้วยพยายามปลุกเร้ากระแสความขัดแย้งแนวคิดทางศาสนา
ตั้งแต่นโยบายแบ่งแยกและปกครอง ที่มหาอำนาจอย่างอังกฤษเคยนำมาใช้กับประเทศที่ถูกยึดครอง ด้วยการแบ่งเขตปกครองโดยใช้ศาสนา/วัฒนธรรม เป็นเส้นแบ่งคนในประเทศที่ถูกยึดครอง เช่น อินเดียกับการแบ่งชาวฮินดูออกจากชาวมุสลิม จนเป็นเหตุให้ประเทศอินเดียเป็นประเทศสำหรับชาวฮินดู และปากีสถาน เป็นประเทศสำหรับชาวมุสลิม หรือแม้แต่กรณีการแบ่งแยกระหว่างสยามกับมาเลเซีย ให้แยกออกจากกันด้วยความเป็นมลายูมุสลิม และไทยพุทธ เป็นต้น
ทฤษฎีแบ่งแยกและปกครอง ดูเหมือนกำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศผู้ถูกปกครอง ทำให้เกิดสภาวะการถ่วงดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจ ผู้ปกครองกับประเทศที่เป็นผู้ถูกปกครองมากขึ้นๆ หลายประเทศได้รับประโยชน์จากการถูกปกครอง และสามารถปรับตัวเรียนรู้ จากประสบการณ์ของความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ผลของความอ่อนแอและความพ่ายแพ้ กลับมาปลุกเร้าให้ประเทศที่ถูกปกครองต้องลุกขึ้นพัฒนาและปรับตัว
ทฤษฎีนี้จึงไม่สามารถตอบโจทย์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองได้ตลอดไป ซึ่งในปัจจุบันประเทศที่เคยถูกปกครองพยายามสร้างแรงกดดันจากมหาอำนาจผู้ปกครอง ด้วยการรวมกลุ่มกัน จนสร้างความรู้สึกถูกท้าทาย และถูกกดดันกับมหาอำนาจมากขึ้นๆ ในปัจจุบัน
แต่ทว่าสำหรับกรณีปัญหาของชีอะห์-ซุนนีย์ ซึ่งมีความลึกซึ้งตรงที่การสร้างความขัดแย้ง จากคนในศาสนาเดียวกัน คือ มุสลิม และแบ่งแยกความเป็นมุสลิมแยกออกจากกัน ไม่ใช่เป็นการแยกรัฐชาติ แต่เป็นการแยกศาสนา/วัฒนธรรม ของคนในรัฐให้เกิดเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง หรือความแตกแยกกันภายใน
กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ น่าจะเป็นเพียงเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐ/ประเทศซาอุดิอาระเบียกับประเทศอิหร่านมากกว่า ที่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
เพราะที่สุดของสถานการณ์แล้ว ทั้งซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ก็ล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากผลผลิตของมหาอำนาจ ที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซาอุดิอาระเบียซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง และอิหร่านที่มีรัสเซียหนุนหลัง ที่คอยแทรกแซงและสร้างเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง เพื่อสร้างคู่สงครามตัวแทนอยู่ตลอดเวลา
แปลกก็ตรงที่ว่า มุสลิมหรือประเทศมุสลิมยังลุ่มหลงกับวาทกรรม ที่ถูกปลุกกระแสขึ้น ทั้งๆ ที่รู้ว่ากรณีความขัดแย้งของซาอุดิอาระเบียและอิหร่านนั้น มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังก็ตาม
การส่งออกแนวคิดอุดมการณ์เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นชีอะห์หรือซุนนีย์ ที่ต้องการให้แนวคิด/อุดมการณ์ของตนขยายออกไปยังภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและน่าส่งเสริม
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้ คือ การโจมตี/การกล่าวหาอุดมการณ์ของกันและกันระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ ภายใต้บรรยากาศของความรู้สึกชาตินิยม ที่ติดตัวมาจากประเทศที่บ่มเพาะอุดมการณ์โดยนักศึกษา/ผู้รู้ คือผู้ส่งออกอุดมการณ์สำคัญต่างๆ นี้ นักศึกษาที่จบมาจากซาอุดิอาระเบีย(ซุนนีย์) ก็มักกล่าวร้ายกับประเทศอิหร่าน(ชีอะห์) และนักศึกษาที่จบมาจากอิหร่าน(ชีอะห์) ก็มักกล่าวร้ายกับประเทศซาอุดิอาระเบีย(ซุนนีย์)
..... นี่เป็นภาพสะท้อนความจริงบางส่วนที่เห็นประจักษ์ ที่สังคมมุสลิมต้องกลับมาทบทวนว่า “สังคมมุสลิมจะอยู่กันอย่างไรกับความรู้สึกที่เลวร้ายต่อกันเช่นที่เกิดขึ้นนี้…”
นอกจากนั้น ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชีอะห์-ซุนนีย์ ล้วนแต่จะสื่อถึงการทำลายหลักศรัทธา(อีหม่าน)ต่อกัน การทำลายหลักปฏิบัติ(อิสลาม)ของกันและกัน และจากความขัดแย้งกันของสองหลักนี้ มีผลเสียต่อหลักจริยธรรม(เอียะซาน)ในที่สุด
ผลจากความขัดแย้งดังกล่าว มีผลกระทบและสามารถสั่นคลอนถึงโครงสร้างหลัก หรือเสาหลักของหลักอิสลามได้อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง และท้ายสุดผลของความขัดแย้งนี้ได้ย้อนกลับมาสร้างความอ่อนแอ นั่นคือความแตกแยกในสังคมมุสลิมโดยรวมในที่สุด
….ใครได้-ใครเสีย… งานนี้คงต้องขบคิดกันดูต่อไป.
หมายเหตุ: ตีพิพม์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมกราคม 2559