เกร็ดชีวิตประธานาธิบดีซูการ์โน รัฐบุรุษกู้ชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
(ตอนที่ 2 นักต่อสู้กู้ชาติสมัยและการเข้าสู่ประธานาธิบดีสมัย)
โดย สมาน อู่งามสิน
หลังจากสำเร็จการศึกษา ซูการ์โนเดินทางกลับไปอยู่ที่ Surabaya และเริ่มงานโดยเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ The Ksatrian Institute School ซึ่งเป็นโรงเรียนของคนพื้นเมืองหลังจากที่เขาปฏิเสธไม่ยอมทำงานร่วมกับชาว Dutch มาเป็นเวลานานพอสมควร แต่เขาก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องลาออกไปด้วยเหตุที่เนื้อหาการสอนของเขาเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อระบบอาณานิคมของ Dutch เช่นเขามักใช้คำว่า 'นักอาณานิคมสารเลว'
ในทางภูมิรัฐศาสตร์ อินโดนีเซียตกอยู่ในสภาวะขาดเอกภาพ เพราะประเทศมีพื้นที่เป็นเกาะแก่งจำนวนมากและมีภาษาพูดนับร้อยภาษา ซูการ์โนเคยเรียกร้องให้สร้างเอกภาพในระดับหนึ่งด้วยการใช้ภาษาอินโดนีเซีย Bahasa Indonesia แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ เขาเคยประกาศว่า เขาเป็นผู้นิยมลัทธิสังคมนิยมแต่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ มันเป็นสังคมนิยมแบบอินโดนีเซียที่ผสมผสานกันระหว่างความเชื่อในพระเจ้ากับความเสมอภาคในทรรศนะของสำนักคิดสังคมนิยม
วันที่ 4 กรกฎาคม 1927 ซูการ์โนและเพื่อนอีก 6 คน จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ 'ชาตินิยม' (The Indonesian National Party) หรือ PNI (Par-tai National Indonesia) โดยเรียกร้อง 'อิสรภาพทันทีแก่อินโดนีเซีย' Indonesia Merdeka Now
ซูการ์โนทุ่มเทเวลาให้กับการแสดงสุนทรพจน์อันเผ็ดร้อนในที่ต่างๆ จนได้รับฉายาว่า 'ราชสีห์แห่งเวที' The Lion of the Platform เขาจึงกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจหมายเลขหนึ่งของรัฐบาล Dutch ที่ต้องถูกติดตามและเป็นเป้าของการถูกทำลายล้างโดยตำรวจลับ
กองกำลังสำคัญของเขากลุ่มหนึ่งคือ โสเภณีหลายร้อยคนซึ่งทำหน้าที่ล้วงความลับทางราชการและแบ่งปันรายได้บางส่วนให้กับขบวนการกู้ชาติ สถานการณ์พัฒนามาถึงจุดที่ ปี 1928 PNI โดยซูการ์โนสามารถรวบรวมกลุ่มที่มีแนวคิดชาตินิยมต่างๆ มาอยู่ร่วมกันภายใต้ร่มองค์กรใหม่ชื่อ PermufakatanPartai - PartiPlitik Indonesia หรือ PPPKI เขาเรียกร้องต่อประชาชนอินโดนีเซียว่าเราต้องเป็น 'หนึ่งประเทศ, หนึ่งธงชาติ, หนึ่งภาษา' One Nation, One Flag, One Language
ในขณะนั้นมีผู้ถูกจับกุมและถูกเนรเทศไปอยู่ในเขตป่าทึบที่แสนทุรกันดารแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 คน ในที่สุดซูการ์โนก็มิอาจรอดพ้นจากชะตากรรมเดียวกัน
เขาถูกจับกุมครั้งแรกร่วมกับพรรคพวกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 1929 อันเป็นวันรุ่งขึ้นหลังการประชุมลับกับพรรค PNI ที่เมือง Solo เขาและคณะถูกพามาคุมขังที่คุกในเมือง Bandung และถูกตั้งข้อหา 'ยุแหย่ให้เกิดความเกลียดชัง' และ 'มีส่วนร่วมในองค์การที่มีวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดอาชญากรรมและเป็นการโค่นล้มอำนาจของ Netherlands ในหมู่เกาะ Indies' ศาลสูงสั่งจำคุกเขา 4 ปี แต่ติดอยู่เพียง 2 ปีก็ถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1931 ภายใต้แรงกดดันจากนักกฎหมายและสถาบันศาลในยุโรปที่ซูการ์โนแอบเอากระดาษในห้องส้วมเขียนบันทึกเรื่องหนึ่งก่อนที่จะขึ้นศาลชื่อ 'อินโดนีเซียต้องโทษ' Indonesia Accused แล้วลอบส่งออกมาข้างนอก โดยที่เขาบรรยายถึงความโหดร้ายทารุณของ Dutch ที่กระทำต่ออินโดนีเซียมายาวนานกว่า 350 ปี
ต่อมาเรื่องที่เขาเขียนได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในยุโรป โดยเฉพาะในวงการนักกฎหมายและสถาบันศาล ซึ่งก่อให้เกิดความเห็นใจซูการ์โนและตำหนิศาล Dutch ว่าพิพากษาลงโทษอย่างไม่ยุติธรรม จนทำให้ข้าหลวงใหญ่ของ Netherlands ต้องพิจารณาลดโทษให้แก่ซูการ์โนในที่สุด
หลังพ้นโทษออกมาจากคุกไม่ถึงปี ซูการ์โน ก็โดนจับครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1932 หลังการประชุมในกรุง Djakarta ซึ่งเขาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วงภายใต้ธงของพรรคใหม่ Partindo หลังจากที่พรรค PNI ถูกสั่งยุบ ตอนนี้เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Mentjapai Indonesia Merdeka หรีอToward Indonesian Independence ซึ่งถูกทางการสั่งยึด
อย่างไรก็ตาม การจับกุมในครั้งนี้ เขามิได้ถูกส่งเข้าเรือนจำ และไม่มีการสอบสวนใดๆ แต่ครั้งนี้ Dutch สร้างความพิสดารด้วยการขังเขาไว้ในกรงเล็กๆ กลางห้องโถงเป็นเวลา 8 เดือน และที่หนักไปกว่านั้นคือการเนรเทศเขาและครอบครัวไปยังหมู่บ้านชาวประมง Endeh บนเกาะ Flores ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางถึง 8 วันจากเมือง Surabaya
ที่นี่เป็นหมู่บ้านที่ล้าหลัง ขาดแคลนอาหารการกิน การคมนาคมมีทางเดียวคือ ทางเรือ
ในที่สุด ซูการ์โน ล้มป่วยอย่างหนักด้วยโรคมาลาเรีย รัฐบาลอาณานิคมของ Dutch จึงย้ายเขาไปอยู่ที่เมือง Bengkulu ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1938 คือหลังจากที่เขาถูกเนรเทศมาอยู่บนเกาะ Flores ราว 5 ปี
Bengkulu เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่บนเชิงเขา มีการค้าและเกษตรกรรมอยู่บ้าง ซึ่งก็นับว่าดีกว่าเกาะ Flores ที่นี่เขาเป็นครูช่วยสอนหนังสือแก่เด็กๆ และติดตาต้องใจลูกศิษย์สาวสวยคนหนึ่งชื่อ Fatimawati ซึ่งจะได้เป็นภรรยาของเขาในอนาคตหลังจากขึ้นสู่อำนาจ
ระหว่างนี้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป ญี่ปุ่นบุกเกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1942 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาถึงเมือง Bengkulu ทหาร Dutch ได้พาซูการ์โนและครอบครัวหนีไปอยู่ที่เมือง Padang ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา เพราะกลัวว่าญี่ปุ่นจะใช้ซูการ์โนเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ทหาร Dutch ถูกทหารญี่ปุ่นตีกระหน่ำอย่างหนักจนตั้งตัวไม่ติดเลยพากันหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อเอาตัวรอด ทิ้งซูการ์โนและครอบครัวไว้ที่เมือง Padang ซูการ์โน เป็นอิสระอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน เป็นความผิดพลาดครั้งสำคัญของ Dutch ที่ปล่อยจระเข้ผู้ทรงพลังลงน้ำให้กลับมาผงาดอีกครั้งหนึ่ง
ณ เมือง Padang กองบัญชาการทหารญี่ปุุ่นเรียกตัวซูการ์โนไปปรึกษาหารือ เพื่อขอให้เขาช่วยใช้อิทธิพลความเป็นผู้นำทางการเมืองสะกดให้ชาวเมืองอยู่ในความสงบ โดยที่ซูการ์โนเสนอข้อแม้ว่า “เมื่อใดที่เลิกสงครามญี่ปุ่นต้องให้เอกราชแก่อินโดนีเซีย ซึ่งทางญี่ปุ่นตอบตกลง” แต่เป็นที่รู้กันว่าพรรคพวกอีกส่วนหนึ่งของเขาก็ดำเนินการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นกันไป
ปี 1942 การบุกอย่างสายฟ้าแลบ ทำให้ญี่ปุ่นยึดเกาะอินโดนีเซียได้ทั้งหมดและสามารถขับทหาร Dutch ออกไปไม่เหลือหรอ อีกไม่กี่เดือนต่อมา ญี่ปุ่นพาตัว ซูการ์โน มาที่กรุง Djakarta ที่นี่เขาได้พบกับนักการเมืองผู้คร่ำหวอดอย่าง Hatta
ทั้งสองตกลงกันว่าให้ Hatta นำขบวนการต่อสู้ใต้ดิน ส่วนซูการ์โนนำทีมร่วมมือกับญี่ปุ่น เป็นการทำงานสองหน้าโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน จนในที่สุดลางแพ้ก็เกิดแก่ญี่ปุ่นที่ค่อยๆ ถูกยึดเกาะคืนจากพันธมิตรทีละเกาะๆ จนพ่ายแพ้สงครามเอเชีย และแปซิฟิคในที่สุด
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าในระหว่างนี้ญี่ปุ่นก็ยังดำเนินขั้นตอนต่างๆ ของการให้เอกราชแก่อินโดนีเชียโดยตลอดตามที่สัญญาไว้ แต่ผู้นำทางการเมืองของอินโดนีเซียเสียอีกกลับแตกแยกกันทางความคิดอย่างรุนแรง แบ่งออกเป็นหลายฝ่ายและตกลงกันไม่ได้ จนท้ายสุด ซูการ์โนต้องเสนอหลักการ 'ปัญจศีล' PantjaSila เพื่อความปรองดองและประคับประคองการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชให้รุดหน้าต่อไป
1. ชาตินิยม (Nationalism) มนุษย์ทุกคนต้องหวงแหนแผ่นดินที่พระเจ้ากำหนดให้เป็นถิ่นกำเนิด
2. ประชาชาตินิยม (Internationalism) แม้จะรักชาติของตนเอง แต่ก็ต้องคบค้าผู้อื่นเพื่อแสวงหาความก้าวหน้า
3. ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นการปกครองแบบมีตัวแทน เป็นรัฐที่ทุกคนสำหรับทุกคน แต่ละคนสำหรับทุกคน และทุกคนสำหรับแต่ละคน All for All, One for All, All for One
4. ความยุติธรรมในสังคม (Social Justice) อินโดนีเซียต้องการประชาธิปไตยทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจควบคู่กันไป
5. เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว (Belief in One God) แต่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อ
ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมรับหลักปัญจศีลของซูการ์โน เพื่ิอหลีกเลี่ยงความแตกแยกในหมู่ผู้นำทางการเมืองของอินโดนีเซีย ที่อาจบานปลายออกไป ขณะเดียวกันมีความตื่นตัวในหมู่ปัญญาชนที่เร่งรัดให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากญี่ปุ่นโดยเร็ว และเพื่อให้ทันท่วงทีกับสภาวการณ์ที่ญี่ปุ่นกำลังเพลี่ยงพล้ำในสงคราม และเจ้าอาณานิคมเดิม Netherlands จะต้องกลับมาตะครุบอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น เวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 1945 ซูการ์โน ทั้งๆ ที่ยังป่วยก็อ่านคำประกาศอิสรภาพต่อหน้าฝูงชนที่ล้นหลาม พิธีเสร็จในหนึ่งชั่วโมงต่อมา มันเป็นพิธีที่เรียบง่ายและนับเป็นครั้งแรกที่ “ธงชาติสีแดงขาว” Merah Putih ของชาวอินโดนีเซียถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาและเช่นกัน “ เสียงเพลงชาติอินโดนีเซีย ” Indonesia Raya ดังกังวานขึ้นโดยปราศจากดนตรี
"เราประชาชนอินโดนีเซียขอประกาศอิสรภาพ ณ ที่นี้ สิ่งใดก็ตามที่เป็นการถ่ายโอนอำนาจ และสาระใดๆ ในบริบทเดียวกันนี้จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างมีระเบียบแบบแผนและภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด"
รุ่งขึ้นหลังจากการประกาศอิสรภาพ มีการประชุมผู้แทนกลุ่มศาสนา กลุ่มสังคม ชนเผ่าและผู้แทนจากชนพื้นเมืองต่างๆ รวมทั้งผู้นำทางการเมืองเพื่อเลือกประธานาธิบดีคนแรก ซึ่งก็ไม่เกินความคาดหมาย ที่ประชุมเลือก “ ซูการ์โน ” โดยที่เขาเข้ารับตำแหน่งแบบไม่มีพิธีรีตรองอะไรมากนัก
..นี่คือบทเรียนของการช่วงชิงเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสมด้วยการยึดอำนาจจากญี่ปุ่นผู้กำลังพ่ายแพ้สงครามก่อนที่ Dutch จะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำสถานการณ์ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า “ในขณะนั้น ทั้งญี่ปุ่นและ Dutch ไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของอินโดนีเซีย” แต่เกิดกระแสสูงเรียกร้องเอกราช Merdeka ในหมู่มหาประชาชนอินโดนีเซีย วิศวกรการเมืองจะต้องใช้ความสามารถพิเศษคำนวณโจทก์คณิตศาสตร์ชั้นสูงทางการเมืองว่าจะกำหนด Strategy ยุทธศาสตร์อย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการของมวลมหาประชาชนในประเทศและกระแสการเมืองทางสากล
ซึ่งแน่นอนเป็นภาระอันหนักอึ้งของประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย 'บังซูการ์โน' ที่จะต้องเผชิญและจักสานงานต่อไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558