เกร็ดชีวิต “ประธานาธิบดีซูการ์โน” รัฐบุรุษกู้ชาติแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
(ตอนที่ 1 เยาว์วัยสมัยและนักศึกษาสมัย
โดย สมาน อู่งามสิน
วารสารรัฐศาสตร์นิเทศน์ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2510 ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตีพิมพ์สารคดีเรื่อง 'ซูการ์โน (Sukarno หรือ Soekarno)' โดย 'ระดม วงษ์น้อม' ซึ่งเขานำเสนอเกร็ดชีวิตของประธานาธิบดีซูการ์โน ในแง่มุมต่างๆ ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่งในฐานะรัฐบุรุษกู้ชาติคนสำคัญคนหนึ่งของโลกที่นำประชาชนต่อสู้จนอินโดนีเซียได้เอกราชคืนจาก Holland หลังจากตกเป็นอาณานิคมยาวนานถึง 350 ปี
ซูการ์โน ถือกำเนิดในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 6 มิถุนายน 1901 ที่เมือง Surabaya ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีความเชื่อถือหนึ่งในหมู่ชาวเกาะว่า ทารกใดก็ตามที่เกิดยามรุ่งอรุณของวันใหม่ ทารกนั้นเป็นเด็กของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลาม และทารกผู้นั้นในอนาคตจะได้เป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนาเป็นผู้นำของคนทั้งปวง
ความเชื่อนี้ฝังอยู่ในจิตใจของมารดาซูการ์โนและตัวของเขาเองตลอดมา ขณะที่ซูการ์โนยังเยาว์วัย มารดาของเขามักตื่นแต่เช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วเรียกลูกชายเข้าไปหา ผินหน้าเขาไปทางทิศตะวันออกซึ่งพระอาทิตย์กำลังโผล่ขอบฟ้าแล้วพร่ำบอกแก่เขาว่า "ลูกรัก ลูกกำลังมองดูพระอาทิตย์ขึ้น ลูกรักจะได้เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของประชาชน เพราะว่าแม่ให้กำเนิดแก่เจ้าในเวลารุ่งอรุณ เราชาวชวาถือว่าเด็กที่เกิดเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจะมีอนาคตยิ่งใหญ่ ลูกรักจงอย่าลืมว่าลูกเป็นเด็กยามรุ่งอรุณ" มารดาซูการ์โนเชื่ออย่างยิ่งว่าบุตรของนางคนนี้พระเจ้าส่งมาเกิดเป็นผู้นำชาวอินโดนีเซียซึ่งเขาจะเป็นผู้พาประเทศไปสู่เอกราช
ซูการ์โนเคยกล่าวยืนยันว่ามารดาของเขาชื่อ Idaju เป็นชาวบาหลี อยู่ในตระกูลพราหมณ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลสูงของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ Singaradja ซึ่งเป็นลุงของมารดา ส่วนบิดานั้นเป็นชาวชวา ชื่อเต็มคือ RadenSukemi Sosrodihardjo คำว่า Raden (ระเด่น) เป็นคำนำหน้าชื่อผู้มาจากตระกูลสูง มีความหมายเท่ากับคำว่า Lord (ขุนนางผู้สูงศักดิ์) บิดาของเขาสืบเชื้อสายมาจาก Sultan of Kediri สายตระกูลทั้งฝ่ายมารดาและบิดาถูกกดดันจากพวก Dutch อย่างหนักจนแตกกระเจิดกระเจิง กระจัดกระจายและยากจนข้นแค้นอย่างแสนสาหัส จึงมีความเกลียดชังพวก Dutch อย่างเข้ากระดูกดำ จากความต่างกันในเรื่องของศาสนา ซึ่งบิดาพบรักกับมารดาของเขาที่เกาะบาหลีทำให้ในที่สุดมารดาต้องหนีตามบิดามาอยู่ที่เกาะชวา เมือง Surabaya อันเป็นสถานที่ซึ่งซูการ์โนถือกำเนิด บิดาของเขาเป็นคนเข้มงวดเรื่องการศึกษาในขณะที่มารดาของเขาเป็นคนอ่อนโยน คอยให้กำลังใจแก่ลูกตลอดเวลา ทำให้เขาผูกพันกับมารดามากกว่า
ในวัยเยาว์ครอบครัวของซูการ์โนต้องย้ายบ้านสองสามครั้ง และตัวเขาเองก็ป่วยหนักหลายครั้งจนแทบเอาชีวิตไม่รอด เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้บิดาของเขาคิดว่าน่าจะเปลี่ยนชื่อเขาให้เป็นมงคลนาม เดิมเขาชื่อKusno บิดาจึงเปลี่ยนเป็น Sukarno
ชื่อนี้บิดาของเขาได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีคลาสสิกอินเดียเรื่อง มหาภารตะ (Mahabharata) ซึ่งในเนื้อเรื่องมีวีรบุรุษคนหนึ่งชื่อ กัณฑ์ (Karna) ซึ่งเป็นคนแข็งแรง ซื่อสัตย์ กล้าหาญ จงรักภักดีและเป็นนักต่อสู้เพื่อประเทศ บิดาซูการ์โนจึงอยากให้เขามีลักษณะเช่นนั้นด้วย คำว่า Su แปลว่า ดี คำว่า Karna สามารถแผลงเป็น Karnoรวมเป็น 'Sukarno' หมายความว่า “วีรบุรุษที่ดีเลิศ” สมัย Dutch ปกครอง ชื่อของเขาถูกสะกดว่า Soekarno ตามเสียงของภาษา Dutch แต่หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราช เขาจึงสั่งไปทั่วประเทศให้เขียนชื่อของเขาว่า Sukarno
ซูการ์โนเริ่มเรียนรู้การเมืองตั้งแต่บิดาส่งตัวเขาไปเรียน High School ที่โรงเรียน Surabaya's Hogere Burger School ในชวาตะวันออกโดยที่บิดาจัดให้เขาพักอาศัยอยู่กับเพื่อนและญาติห่างๆ คนหนึ่ง คือนาย H.O.S. Tjokroaminoto ชึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองในยุคนั้นของพรรค Serekat Islam ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1912
การพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ทำให้เขา ซึมซับความคิดชาตินิยมจากบรรยากาศของการประชุมพรรคที่บ้านหลังนี้โดยตลอด ประกอบกับการอ่านตำรับตำราทางการเมืองจำนวนมากและได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะคติทางการเมืองกับผู้นำทางการเมืองหลายท่าน ที่ High School ขณะอายุ 16 ปี เขาก่อตั้งสโมสรทางการเมือง Tri Koro Darmo ซึ่งหมายถึง Three Holy Objectives หรือจุดมุ่งหมายศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ คือ เสรีภาพทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง
ณ จุดนี้เขาเริ่มแสดงบทบาทในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ประทับใจผู้ฟัง ระหว่างการศึกษาที่ High School ขณะอายุ 21 ปี ภรรยาของ H.O.S. Tjokroaminoto ถึงแก่กรรม เขาถูกขอร้องให้แต่งงานกับ Utariบุตรสาวของเจ้าของบ้านในลักษณะ Hanging Marriage คือต้องรอจนกว่าฝ่ายชายสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้จึงจะอยู่กินกันจริงๆ ได้ ซึ่งเขาก็ยินยอมด้วยสำนึกในบุญคุณ เขาจบการศึกษาจาก High School เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1921 ตอนแรกเขาวางแผนไปศึกษาต่อที่ Holland แต่มารดาไม่ยินยอม ด้วยความเคารพและเชื่อฟัง เขาจึงเข้าศึกษาต่อที่ University of Bandung
ซูการ์โนเข้าศึกษาที่ University of Bandung ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์โดย H.O,S. Tjokroaminoto เป็นผู้นำเขาไปฝากให้พักอาศัยกับเพื่อนคนหนึ่งชื่อนาย Hadj Sanusi ซึ่งมีภรรยาชื่อ Inngit Garnasi ในจำนวนนักศึกษารุ่นเดียวกัน 11 คน มีเพียงเขาคนเดียวที่เป็นคนพื้นเมือง เขาเรียนได้เพียง 2 เดือนก็เกิดการนัดหยุดงานของคนงานโรงน้ำตาลที่เมือง Garut โดยการนำของพรรค Sarekat Islam ทำให้ H.O.S. Tjokroaminoto ถูกจับเข้าคุก ด้วยความกตัญญู เขาจึงตัดสินใจพักการเรียนและกลับไป Surabaya เพื่อทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวแทน H.O.S. Tjokroaminoto ชั่วคราว
จนถึงเดือนเมษายน 1922 H.O.S.Tjokroaminoto ได้รับการปล่อยตัว เขาจึงกลับไปศึกษาต่อที่ Bandung ในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ Utari เขาถือว่าเธอเป็นน้องสาวและไม่เคยล่วงเกินเธอ แต่คนที่เขาสนใจคือ Inggit ภรรยาของ Sanus iเจ้าของบ้านที่เขาพักอาศัยซึ่งนางมีการศึกษาน้อยแต่เอาใจเขาทุกอย่าง สุดท้ายด้วยความว้าเหว่ของ Inggit ที่ถูกสามีทิ้งไปเฝ้าโต๊ะบิลเลียด Inggit กับเขาจึงตกลงร่วมหัวจมท้ายแต่งงานเป็นสามีภรรยากันในปี 1923 ขณะนั้น Inggit แก่กว่าเขา 12 ปี ซูการ์โนอายุ 22 ปีและกำลังเรียนอยู่ชั้นปี 2 ขณะเดียวกันเขาได้พา Utari ไปคืนให้กับ H.O.S. Tjokrominoto ผู้เป็นพ่อซึ่งก็ยินยอม
สภาพความยากจนของผู้คนที่ซูการ์โน พบเห็นในขณะที่เขายังเป็นนักศึกษาอายุประมาณ 20 ปีและถีบรถจักรยานท่องเที่ยวไปในชนบทต่างๆ ทำให้เขาใช้ชื่อชายคนหนึ่งที่เขาได้พบปะพูดคุย คือนาย Marhaen เป็นสัญญลักขณ์เรียกชาวอินโดนีเซียทุกคนว่า Marhaenists ซึ่งเขาอธิบายว่าหมายถึง "บุคคลที่มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นเจ้าของที่ดินผืนเล็กๆ มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิตไม่มากนัก ทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อตัวเอง ไม่พึ่งพาผู้อื่น ไม่ค้าขายกับผู้อื่น ผลิตได้เท่าไรก็ใช้บริโภคทั้งหมด" รวมความแล้ว เขาเรียกความคิดนี้ว่า Marhaenism
นอกจากนี้เขายังพูดถึงเรื่องชื่อประเทศ Indonesia ซึ่งขณะนั้นทางการ Dutch ห้ามใช้ว่าควรนำมาใช้เพื่อความเป็นเอกภาพ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า Indonesia มาจากการประดิษฐ์ของนักศึกษาทางชาติวงศ์วิทยาชาวเยอรมันคนหนึ่งที่เรียนอยู่ใน Holland ชื่อ Jordom ซึ่งให้ความสนใจหมู่เกาะอินโดนีเซียเป็นพิเศษและเนื่องจากหมู่เกาะเหล่านี้อยู่ใกล้อินเดีย เขาจึงตั้งชื่อหมู่เกาะเหล่านี้ว่า 'หมู่เกาะแห่ง Indies' (The Island of the Indies) ส่วน Nesos เป็นคำกรีก หมายถึงบรรดาเกาะทั้งหลาย ดังนั้นชื่อเต็มของหมู่เกาะเหล่านี้คือ Indusnesos ซึ่งต่อมาก็คลี่คลายเป็น Indonesia
ปี 1922 ขณะที่ซูการ์โนยังเป็นนักศึกษา มีการประชุมครั้งใหญ่ของประชาชน เรียกว่า Radicale Concentraticในครั้งนี้ เขามีโอกาสขึ้นกล่าวปราศรัยทั้งๆ ที่ตำรวจลับของ Dutch พยายามขัดขวาง เขาวาดลวดลายความเป็นนักการเมืองในอนาคตอย่างเต็มตัว ด้วยการแสดงโวหารอย่างท้าทายและเชือดเฉือน
"ทำไมภูเขาไฟอย่าง Mount Kelud จึงระเบิด มันระเบิดก็เพราะปล่องภูเขาไฟถูกปิด มันไม่มีทางระบายความตรึงเครียดภายในได้ นานเข้าทีละเล็กทีละน้อยพลังภายในจะรวมตัวกันและระเบิดออกมา ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกระเบิดกระจัดกระจายโดยสิ้นเชิง .....ฉันใดฉันนั้น เหมือนกับกระบวนการชาตินิยม ถ้าพวก Dutch เอาแต่ปิดปากพวกเราอยู่ พวกเราก็ถูกบังคับให้ระบายอารมณ์ออก พี่น้องที่รัก ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ วันหนึ่งหรอก การระเบิดอย่างที่ว่าของพวกเราก็จะมาถึง และเมื่อพวกเราระเบิดออกมา กรุง Hague จะถูกระเบิดกระเด็นไปสู่อากาศ ข้าพเจ้าขอท้า ณ ที่นี้ขอให้รัฐบาลอาณานิคมจงมาปิดปากพวกเราซี้ ...."
การปราศรัยครั้งนี้ทำให้เขาเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ขณะเดียวกันเขาก็ถูกอาจารย์ของ University of Bandung เรียกไปตักเตือน เขาจบการศึกษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1926 โดยได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (The Degree of Ingenieur)
ตีพิมพ์ครั้งแรก: คอลัมน์ ภูมิปัญญาจากหนังสือเก่า ฉบับตุลาคม 2558