Alami Report : ฮัจย์ ธุรกิจศรัทธา
โดย จันทร์เสี้ยว บางนรา
+++++++++++++++++++++++++++
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการพูดถึงภารกิจฮัจย์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการตั้งคำถามว่า ”ปั จจุบันฮุจญาจไทย เดินทางไปทำฮัจย์ในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะจ่ายหรือไม่และการบริการในระหว่างการพำนักในซาอุดิอาระเบีย ได้รับการดูแล เหมาะสมกับราคาที่จ่ายไปหรือไม่ ”
เรื่องกิจการฮัจญ์ มีการกล่าวถึงในลักษณะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวมายาวนาน แต่ดูเหมือนว่า พูดไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ระบบฮัจย์ไทย ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย จนล่าสุดนำไปสู่การรื้อโครงสร้างใหม่ “ พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ฉบับแก้ไข” จะมีการโอนกิจการฮัจย์ จากเดิมที่ สังกัดกรมการศาสนา มาสังกัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ถามว่า หลังจากย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว อนาคตฮัจย์ไทย จะดีขึ้นกว่าในอดีตหรือไม่.....ไม่มีใครการันตีเรื่องนี้
เรื่องนี้เริ่มชัดเจน “ อนุมัติ อาหมัด ” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่า ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจดูถ้อยคำ และดูว่าซ้ำซ้อนกับกฏหมายฉบับไหนหรือไม่ หลังจากนั้นจะส่งกลับไปที่คณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ก็จะส่งต่อมายังสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
อนุมัติ บอกว่า พยายามผลักดันให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ แก้ไข ให้แล้วเสร็จ คาดว่าน่าจะไม่เกินธันวาคมที่จะถึงนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสะท้อนเห็นปรากฎการณ์ คือ แรงกดดัน ในการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ไม่ใช่มาจากคนนอก แต่เป็นแรงกดดันมาจากคนใน หมายถึงคนในสังคมมุสลิมเรานี่เอง ซึ่งก็น่าแปลกใจ
“กฎหมายใหม่จะกำหนดสัดส่วนให้มีมุสลิมเข้าไปเป็นกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์เพิ่มขึ้น จากเดิมไม่มีเลย ซึ่งจะมีตัวแทนจากองค์กรบริหารกิจการศาสนา ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งมีการเพิ่มเติมให้มีตัวแทนผู้ประกอบการเข้าไปอยู่ในบอร์ดด้วย“
นี่คือความใหม่ และจะเป็นกลไกในการทัดทานการใช้อำนาจของ พรบ.ส่งเสริมฮัจย์ ฉบับแก้ไขดังกล่าว
ฮัจย์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งใน 5 หลักปฎิบัติของศาสนาอิสลาม ที่ผ่านมามีการพูดเรื่องนี้กันมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการ หรือ แซะห์ ควรจะได้รับผลประโยชน์ จากการบริการในอัตราสมควรจะได้รับ ไม่ใช่มาหาประโยชน์เกินเลยกับผู้แสวงบุญฮัจย์
อย่างไรก็ตาม การจัดการฮัจย์ไทยตลอดระยะเวลาทีผ่านมา กรมศาสนา ในฐานะต้นสังกัดมักจะถูกพาดพิงถึงมาตรฐานการจัดการ รวมถึงองค์กรที่เรียกว่า “บอร์ดฮัจย์” ก็ถูกวิจารณ์และถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาฮัจย์ได้
ขณะที่ข้อมูลการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ พบว่า จะมีค่าใช้จ่ายหลักๆ ประกอบด้วย ค่าบ้านพัก ค่าโรงแรม ค่าเครื่องบิน และค่าทำเนียมต่างๆ ประมาณการค่าใช้จ่ายไม่น่าจะเกิน 110,000 บาท แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการฮัจย์เรียกเก็บจากฮุจญาจราคาตั้งแต่ 150,000-190,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินควร
สิ่งที่น่าจับตา เรื่องการปรับโครงสร้างฮัจย์ใหม่ จะไปกระทบกับกลุ่มอำนาจเก่า และบุคคลบางกลุ่มที่ฝังตัวในธุรกิจนี้หรือไม่ มีใครเสียประโยชน์จากโครงการนี้หรือไม่ และที่สำคัญ เงินกองทุนฮัจย์ 300 ล้านบาท ที่รัฐบาลจัดสรรให้ จะนำมาใช่ให้เกิดประโยชน์ แค่ไหน
ทั้งหมดต้องจับตา.....กับการเปลี่ยนผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ที่กำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้
ตีพิมพืครั้งแรก: นิตยสารดิอะลามี่ ฉบับพฤศจิกายน 2558