The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   “อุยกูร์” ปมความขัดแย้ง บนสิทธิฯกับกฎหมาย

 

“อุยกูร์” ปมความขัดแย้ง บนสิทธิฯกับกฎหมาย

 โดย บันฑิตย์ สะมะอุน

            สำนักข่าวอะลามี่: เป็นภาพคุ้นตาที่เห็นคนจีนมุสลิมเดินมองหาความหวังบางอย่างในเมืองไทย

            ความหวังเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมจีน แต่มุสลิมจากทั่วโลกต่างรับรู้ถึงความใจกว้างของเมืองไทยเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเปิดกว้างในการแสดงออกเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อที่ต้องระมัดระวังปะปนกันไป

            แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันที่ความรู้สึกดีๆ / ความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกำลังแย่ลงไปด้วยนโยบายการควบคุม/ปราบปรามการก่อการร้ายที่ระบาดไปทั่วโลก ภาพของความสัมพันธ์ที่เคยสวยงามระหว่างกลุ่มหรือระหว่างประเทศ ถูกทำลายลงด้วยนโยบายการก่อการร้าย

            ภาพของสันติภาพโลกน่าจะสวยงามขึ้นหลังสงครามเย็นด้วยนโยบายการปราบปรามการก่อการร้าย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ นโยบายดังกล่าวกลับเป็นตัวกระตุ้น/เปิดแผลความขัดแย้งให้ขยายกลายเป็นสงครามที่ใหญ่ขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

            สิ่งที่ยึดเหนี่ยวความเป็นตุรกีกับจีนคืออิสลามที่ได้หล่อหลอมสองวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว เส้นทางอายธรรมด้านต่างๆ อย่างเส้นทางสายไหม ความเจริญรุ่งเรืองของจีนที่เชื่อมต่อสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น กับอาณาจักรอิสลามมาช้านาน เป็นภาพที่ท้าทายอำนาจอื่นที่คอยจ้องมองด้วยความหวาดระแวง และสุดท้ายก็ต้องอ่อนเปลี้ยไปกับรูปแบบของสงครามต่างๆ ตลอดมา

            ทำไมอุยกูร์ที่ส่งกลับไปยังจีนจึงมีปัญหาไม่เหมือนส่งไปตุรกี

            เป็นประเด็นที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่ความบังเอิญ รัฐบาลไทยถูกวิจารณ์ในประเด็นสิทธิมนุษยธรรมมากกว่าประเด็นทางกฎหมาย ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือชาวอุยกูร์ ไม่ใช่รัฐบาลไทย และไม่ใช่กลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาว่ารัฐบาลจีนจะดำเดินการอย่างไรกับอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับ และจะหาทางช่วยเหลืออย่างไร

            ในอดีตชาวอุยกูร์ถูกบีบทั้งจากรัฐบาลจีน และจากนโยบายของมหาอำนาจ จนพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่รวมของปัญหาความมั่นคง กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กลุ่มผู้พลัดถิ่น ชาวอุยกูร์ต้องอพยพออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง  หนึ่งในนั้นคือตุรกี

            ตุรกิสถาน เป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ที่ขวางกั้นระหว่างจีนกับรัสเซียในยุคสงครามเย็น ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือตุรกิสถานตะวันออกและตุรกีสถานตะวันตก ลักษณะการแบ่งแยกและปกครองคล้ายกับอินเดียและปากีสถานในกรณีแคชเมียร์ หรือในหลายพื้นที่ที่ถูกตั้งไว้เหมือนระเบิดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการรบและการค้า

            การแบ่งโดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง กลายเป็นการสร้างความกดดันทางวัฒนธรรมในทางอ้อม ซึ่งถูกทับซ้อนด้วยระบบการปกครองอีกชั้นหนึ่ง เช่น มุสลิมในแคชเมียร์ฝั่งปากีสถานอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบอิสลาม ส่วนมุสลิมในแคชเมียร์ฝั่งอินเดียอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบฮินดู ซึ่งมักจะเกิดปัญหาในพื้นที่อ่อนไหวเหล่านี้ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

            ลักษณะเหล่านี้ เป็นนโยบายที่มหาอำนาจใช้กับประเทศที่มีจุดแข็งทางศาสนาวัฒนธรรมในหลายพื้นที่ เ พื่อหวังผลในการแทรกแซงในอนาคต

            การที่รัฐบาลไทยส่งชาวอุยกูร์กลับไปยังจีน อาจทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วง เพราะอุยกูร์กับจีนนั้นเคยมีความขัดแย้งรุนแรงมาในอดีต

            แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อุยกูร์ทีถูกส่งกลับจีนอาจกลายเป็นประเด็นหรือถูกขยายประเด็น ให้กลายเป็นความขัดแย้งภายในจีนเอง โดยใช้อิสลามหรือมุสลิมเป็นเครื่องมือ เพราะจีนที่กำลังยิ่งใหญ่ และอิสลามที่กำลังขยายแพร่หลายทั่วโลก

            เป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่สร้างความเกรงขามต่อสายตาของมหาอำนาจอีกฝั่งที่คอยจับจ้องอย่างไม่กระพริบตา แม้ทฤษฎีชี้นำการปะทะทางอารยะธรรมของ แซมมวล ฮันติงตัน ก็ดูเหมือนจะเริ่มถูกท้าทายและหมดความหมายไปในที่สุด ............

 

หมายเหตุ : ภาพจากเวปไซด์
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2558