The Alami Report
Home   /   The Alami Report  /   ชุมชนมุสลิมอัต-ตักวา กับ การอยู่ร่วมกัน 5 ศาสนาในย่านวัดเกต เชียงใหม่

ชุมชนมุสลิมอัต-ตักวา กับ การอยู่ร่วมกัน 5 ศาสนาในย่านวัดเกต เชียงใหม่

โดย ชุมพล ศรีสมบัติ

           สำนักข่าวอะลามี่: ชุมชนมุสลิมมัสยิดอัตตักวา (สันป่าข่อย) เป็นการรวมกลุ่มของพี่น้องมุสลิมที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชนย่านวัดเกต ซึ่งเป็นชุมชนที่หลากหลายไปด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และความศรัทธาเชื่อถือในศาสนาที่แตกต่างกันของสมาชิกในชุมชน แต่สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขมาเป็นเวลาช้านาน  

            เป็นที่น่าแปลกว่าชุมชนวัดเกต เป็นสถานที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญของ 4 ศาสนาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อันประกอบด้วย วัดเกตการาม (พุทธ), วัดซิกข์, โบสถ์ของสภาคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่ และมัสยิดอัตตักวา (อิสลาม) ซึ่งแน่นอนว่าบริเวณรอบๆ ของศาสนสถานเหล่านั้น ย่อมมีศาสนิกชนของแต่ละศาสนาพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

            จากการที่ชุมชนบ้านวัดเกตแห่งนี้  เป็นศูนย์รวมของความแตกต่างกันในเรื่องของความศรัทธาเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกัน กลับเป็นตัวอย่างของความหลากหลาย ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน รับรู้รับทราบถึงความแตกต่างของกันและกัน บนพื้นฐานของความศรัทธาเชื่อถือ ทำให้วิถีชีวิตประจำวันของสมาชิกในชุมชนแห่งนี้ดำเนินไปด้วยความสันติสุข บนพื้นฐานของหลักการที่ว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างจากสังคมชุมชนอื่น ที่อยากจะนำมาเสนอต่อท่านก็คือ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมของศาสนาใดจัดขึ้นในศาสนสถานที่ตั้งอยู่ในชุมชนวัดเกต จะได้รับความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ จากพี่น้องร่วมชุมชนต่างศาสนิกเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันเมื่อถึงเวลาที่แต่ละศาสนาจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความศรัทธาเชื่อถือของตน ต่างก็แยกย้ายไปปฏิบัติศาสนกิจของตนอย่างเคร่งครัด

            จากตัวอย่างที่หยิบยกมานี้ แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีความแตกต่างในด้านความศรัทธาเชื่อถือ แต่มิได้มีความแตกแยกหรือขัดแย้ง ในการอยู่ร่วมกันในสังคมแต่อย่างใด

            จุดเด่นของการจัดตั้งชุมชนมุสลิมมัสยิดอัตตักวานั้น อยู่ในมิติเดียวกันกับกลุ่มศาสนิกชนอื่นๆ ในชุมชนเดียวกัน นั่นก็คือ อยู่ใน “มิติแห่งความศรัทธาในศาสนา” โดยมีศาสนสถาน คือ มัสยิดอัตตักวา เป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจและความศรัทธาเชื่อถือ ด้วยความยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นมั่นคงว่า หากมีแต่เพียงชุมชน แต่ไม่มีศาสนสถาน สมาชิกของชุมชนก็จะตกอยู่ในสภาพที่ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ซึ่งเปรียบเสมือนโรคร้ายที่ทำลายสุขภาพจิตของสมาชิกในชุมชนให้อ่อนแอลงไปทีละน้อย อันยากแก่การเยียวยารักษาให้กลับมาเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมและชุมชนได้

            แต่ในขณะเดียวกัน หากในชุมชนมีแต่เพียงศาสนสถาน แต่ไม่มีศาสนิกชนอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น ก็คงจะไม่ต่างอะไรกับการมีสิ่งก่อสร้างที่ถูกปล่อยปละละเลยให้รกร้าง สร้างความเดือดร้อนรำคาญสายตาแก่ผู้พบเห็นเท่านั้น
            จึงเป็นข้อสรุปประการหนึ่งว่า “มิติแห่งความศรัทธาในศาสนา” นั้น จะต้องประกอบด้วย “ศาสนิกชน” และ “ศาสนสถาน” เป็นองค์ประกอบร่วมกันที่สำคัญเป็นประการแรก

            องค์ประกอบที่สำคัญและเป็นจุดเด่นใน “มิติแห่งความศรัทธาในศาสนา” อีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ เป็นการรวมกลุ่มกันโดยปราศจากเงื่อนไขของธุรกิจ อันประกอบไปด้วยกำไร-ขาดทุน, ทรัพย์สิน-เงินทอง หรือแม้กระทั่งเกียรติยศ-ชื่อเสียงใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงพลังแห่งความศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อศาสนาที่ศรัทธาเชื่อถือเท่านั้น จึงทำให้ขจัดปัญหาความขัดแย้งหรือแก่งแย่งชิงดีกัน อันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความบาดหมางในสังคมชุมชนลงไปได้

          ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าการจัดตั้งชุมชนมุสลิมมัสยิดอัตตักวา จะเป็นภาพของการทำงานเพื่อศาสนา แต่ก็มิได้หมายความว่า จะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใดๆ เว้นเสียแต่การเปลี่ยนแปลงนั้น จะนำมาซึ่งความเสื่อมสลายของสังคม ชุมชน และ/หรือทำให้วิถีชีวิตของสมาชิกในชุมชนต้องเปลี่ยนไปจากแนวทางแห่งความศรัทธาในศาสนาและการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

            เราคงต้องยอมรับกันเสียทีว่า ทุกวันนี้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในชุมชน สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่ทุกพื้นที่ของโลกใบนี้นั้น มิได้เกิดขึ้นมาจาก “ศาสนา” แต่เกิดจากศาสนิกชนผู้มีศาสนาประจำตัว แต่ไม่รู้จักที่จะนำหลักการของศาสนาที่ตนเองอ้างว่าศรัทธาและนับถือ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต และนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้ถูกวิธีอย่างจริงจังต่างหาก

            สภาพของสังคมปัจจุบันนี้ จึงไม่แตกต่างอะไรกับภาพที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นก็คือ มีผู้คนจำนวนมากมายขวักไขว่อยู่บนโลกใบนี้ แต่เป็นผู้คนที่มีความสมบูรณ์โดยสภาพร่างกาย แต่ใครจะรู้ได้ว่า สภาพจิตใจหรือสุขภาพจิตของเขาเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในสภาพใด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะรีบเร่งระดมความคิด ในอันที่จะป้องกัน และรักษาสุขภาพจิตของสมาชิกในสังคมชุมชนของเรา ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมที่จะออกไปต่อสู้ รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าเขาอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน จึงเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายควรพิจารณาและไตร่ตรอง….

 

          (บทความนี้ ขอมอบความดีทั้งหลายให้กับคุณ ปกรณ์ กอบหิรัญ อดีตประธานศาสนิกสัมพันธ์ เชียงใหม่ ผู้ล่วงลับได้กรุณาเขียนให้ผมครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ความดีใดที่เกิดจากบทความนี้ ขอ นำสู่ท่านด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮาฯ เทอญ อามีน )

 ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมิถุนายน 2558